ไตรมาส 3 เศรษฐกิจลบ 2.8%

ไตรมาส 3 เศรษฐกิจลบ 2.8%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สศช.เตือนรัฐหมดเวลาขัดแย้งแล้วห่วงนโยบายเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 52 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน โดยติดลบน้อยลงที่ลบ 2.8% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 ติดลบ 4.9% และไตรมาสแรกติดลบ 7.1% เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุต สาหกรรมเพิ่มขึ้นถึง 64.7% ในเดือนก.ย. จากที่เคยต่ำสุดในเดือนก.พ.ที่อยู่ที่ 54.8% ขณะที่อัตราการว่างงานดีขึ้นมากอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเท่ากับปี 51 โดยมีผู้ว่างงานเพียง 458,100 คน เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นมากโดยจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน ก.ย. ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.4% ส่วนอัตราห้องพักเพิ่มขึ้นเป็น 48.6% เชื่อว่าจะชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวและส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีมีมากถึง 13.7 ล้านคน ที่สำคัญการส่งออกขยายตัวดีขึ้นมากจนล่าสุดติดลบเพียงแค่ 3% ในเดือนต.ค. และเชื่อว่าในเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้จะเติบโตเป็นบวกได้แน่นอน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันและภาวะขาดแคลนในบางประเทศ

เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสแล้วพบว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องอย่างชัดเจนเห็นได้จาก ไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 2.2% ขณะที่ไตรมาสสามขยายตัวจากไตรมาสสอง 1.3% และมั่นใจว่าในไตรมาสที่สี่จะขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันและเป็นไตรมาสแรกที่ฟื้นตัวกลับมาเป็นบวกที่ 2.7%-3.2% หลังจากติดลบมาตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปี 51 เพราะมั่นใจว่าการส่งออกขยายตัวมากขึ้นจนทำให้ทั้งปี 52 จะติดลบไม่เกิน 3% มีผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 9.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นรายได้ต่อหัวต่อปีที่ 133,591 บาท

ส่วนในปี 53 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่องโดยขยายตัวเป็นบวกที่ 3-4% มีการลงทุนของภาครัฐและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นแรงผลักดันให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น ที่คาดว่าการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคจะขยายตัวที่ 2.5% การลงทุนโดยรวมขยายตัว 3.8% การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 10% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 18.5% ทำให้เกินดุลการค้าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2.5-3.5% และที่สำคัญราคาน้ำมันอยู่ในระดับ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้การคาดการณ์ทั้งหมดต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวาย จนทำลายความเชื่อมั่นและการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวกันต้องมีความต่อเนื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจเพราะไม่มีเวลา มากพอที่จะให้เกิดความขัดแย้งทางนโยบายเศรษฐกิจอีกแล้ว ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียโอกาสจากการที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจนทำให้เศรษฐกิจไทยไม่มีโอกาสขยายตัวอีกต่อไป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook