อดีตอธิบดีดีเอสไอ ยันมีหลักฐานระบุ บ.วินมาร์ค นอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน

อดีตอธิบดีดีเอสไอ ยันมีหลักฐานระบุ บ.วินมาร์ค นอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน

อดีตอธิบดีดีเอสไอ ยันมีหลักฐานระบุ บ.วินมาร์ค นอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อดีตอธิบดีดีเอสไอ ระบุผลสอบร่วมดีเอสไอ-ก.ล.ต. มีหลักฐานระบุ บ.วินมาร์ค เป็นนอมินีถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน 1 ธ.ค. เบิกความ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย คาดไต่สวนคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน นัดสุดท้าย 8 ธ.ค.นี้

ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันนี้ นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ไต่สวนพยานคดีที่อัยการสูงสุดร้องขอให้ทรัพย์สินจำนวน 76,000 ล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งบุคคลในครอบครัวและผู้ร้องค้าน ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ขณะดำรงตำแหน่งใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

นายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ ในช่วงบ่าย ว่า ในขณะที่เป็นอธิบดีดีเอสไอเมื่อปี 2550 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยื่นเรื่องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบ หลังพบว่าบริษัท เอสซี แอสเสท มีการโครงสร้างผู้ถือหุ้นผิดปกติ อาจมีการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นผ่านบริษัท วินมาร์ค

นายสุนัย กล่าวว่า หลังจากดีเอสไอรับเรื่องไว้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีพยานหลักฐานที่ได้จากสถาบันการเงินในต่างประเทศ ระบุว่าเจ้าของบริษัท วินมาร์ค คือ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่ได้ใช้ชื่อผู้อื่นเป็นนอมินี ในการถือหุ้นบริษัทดังกล่าว ดีเอสไอจึงได้มีคำสั่งให้ดำเนินการฟ้องร้อง

"บริษัท วินมาร์ค เป็นบริษัทที่อุปโลกน์ขึ้นมา ไม่มีตัวบริษัท มีแต่เงินในบัญชี แม้ชื่อบัญชีจะเป็นของบริษัท วินมาร์ค แต่สถาบันการเงินที่ได้ตรวจสอบบอกว่า เจ้าของเงินเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน" นายสุนัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า ได้เบิกความพยานฝ่ายโจทก์อีก 3 คน คือ นางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข อดีตผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (แทค) ที่เบิกพยานค้าง มาตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน และนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแทค ซึ่งทั้ง 2 ได้เบิกความถึงการเปรียบเทียบสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทแทค และเอไอเอส ในเรื่องความเป็นธรรมการจ่ายค่าเชื่อมต่อสัญญาระหว่างโครงข่าย

ส่วนนายวิบูลย์ สิทธาพร อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) เบิกความกรณีการปล่อยกู้ตามนโยบายของรัฐ โดยสรุปว่าการปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาท ซึ่งเป็นราคาดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุนธนาคาร แต่เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่า ส่วนที่ขาดทุน รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณชดเชยให้ จึงอนุมัติปล่อยกู้ตามมติคณะรัฐมนตรี และที่ผ่านมามีการปล่อยกู้ในลักษณะนี้ให้ประเทศเพื่อนบ้านหลายโครงการ

ทั้งนี้ ภายหลังการเบิกความ ศาลได้นัดไต่สวนครั้งต่อไปวันที่ 26 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. โดยเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ประมาณ 6 ปาก วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 เป็นการเบิกความของนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ธันวาคม 2552 เป็นการเบิกความของอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ประกอบด้วย นายสัก กอแสงเรือง นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายกล้านรงค์ จันทิก หากเบิกความไม่แล้วเสร็จ ศาลได้อนุญาตให้เบิกความเพิ่มอีก 1 นัด ในวันที่ 8 ธันวาคม 2552

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook