ชี้เลิก 5 มาตรการคุมเงินเฟ้ออยู่

ชี้เลิก 5 มาตรการคุมเงินเฟ้ออยู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หากรัฐบาลยกเลิกการดำเนินนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน จากที่จะหมดอายุมาตรการในสิ้นปี 52 จะไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงมากเมื่อปี 2551 แต่ขณะนี้ ถือว่าอัตราเงินเฟ้อไม่ได้เป็นข้อกังวลว่าจะปรับตัวขึ้นสูงมากนัก

นอกจากนี้ ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายอย่างปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และคาดว่าปี 53 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องมีการติดตามปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะมีความต่อเนื่องและยั่งยืนหรือไม่ รวมถึงปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามการเบิกจ่ายภาครัฐตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่

ด้านนายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลควรทบทวนการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน ให้เหมาะสมเพราะบางมาตรการไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากนัก โดยเฉพาะการใช้น้ำใช้ไฟฟรี เพราะมีประชาชนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือไม่มากนักทำให้การใช้มาตรการขาดประสิทธิภาพที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรยกเลิกหรือลดจำนวนมาตรการลง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ใช่จ่ายเงินออกไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อบุคคลที่เดือดร้อนจริง

มาตรการช่วยเหลือประชาชนหลายมาตรการ ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องทบทวนว่ามาตรการไหนไม่ได้เกิดผลแท้จริง ก็ต้องยกเลิก เพื่อไม่ให้เป็นภาระ เช่นมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟ ขณะที่มาตรการไหนมีประสิทธิภาพก็เพิ่มการใช้จ่ายในมาตรการเหล่านั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญ นายนิพนธ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนนโยบาย 5 มาตรการ 6 เดือน เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งความเห็นของ สศช.แล้วเห็นว่ารัฐบาลควรเลือกต่ออายุให้กับบางมาตรการที่ให้ประโยชน์กับประชาชน เช่น การรับภาระค่าโดยสารรถเมล์ฟรีและค่าโดยสารรถไฟชั้น 3 ฟรี เท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นและให้ประโยชน์กับประชาชนครอบคลุมมากกว่าการให้ใช้น้ำใช้ไฟฟรีตามปริมาณที่รัฐกำหนด เพราะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไปที่สำคัญยังไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการประหยัดเกิดขึ้นแต่อย่างใด.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook