ความรุนแรงต่อผู้หญิง

ความรุนแรงต่อผู้หญิง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ที่คนไทยไม่อยากเห็น

สารพันปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงเป็นประเด็นเปราะบางของสังคมไทย ที่ผู้คนขาดการตื่นตัวในวงกว้าง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมกันรณรงค์ให้ตระหนักในปัญหา ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงประจำปี 25 พ.ย. ที่ผ่านมา รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ผลิตโดยฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 สื่อสำคัญในการร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีมาโดยตลอด จัดโครงการ หยุด เชิญชวนชาวไทยทั่วประเทศเขียนไปรษณียบัตรแสดงความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ ความรุนแรงต่อผู้หญิงไทยที่ไม่อยากเห็น ระหว่างเดือน ก.ย.-20 พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา พร้อมรวบรวมผลการสำรวจความคิดเห็นซึ่งมีจำนวนมากถึง 23,000 ใบ

จากผลสำรวจบ่งชี้ความคิดเห็นของชาวไทยต่อ ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง พบมากที่สุดว่า การทำร้ายร่างกาย ถือเป็นปัญหาความรุนแรงอันดับ 1 ร้อยละ 39.44 ตามด้วยอันดับ 2 การทำร้ายด้านจิตใจ ด้วยการเหยียดหยาม เฉยเมย ใช้วาจาก้าวร้าว ด่าทอสูงถึงร้อยละ 21.70 ขณะที่ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน ตลอดจนการถูกลวนลามทั้งทางกาย สายตา และ วาจา พบมากเป็นอันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ส่วนอันดับ 4 ร้อยละ 10.36 เป็นปัญหา สามีนอกใจ มีภรรยาน้อย มีกิ๊ก หรือถูกทอดทิ้ง

อันดับ 5 ร้อยละ 8 ว่าด้วยปัญหา ความไม่เท่าเทียมและถูกเอารัดเอาเปรียบ เรื่องการยอมรับจากสังคมด้านหน้าที่การงานและบทบาททางการเมือง อันดับ 6 ร้อยละ 2.80 ปัญหาการค้าประเวณี ถูกล่อลวง ใช้ผู้หญิงเป็นสินค้าหรือเชิงเพศพาณิชย์ ปิดท้ายด้วยปัญหาอื่น ๆ ที่ผู้หญิงอาจประสบ อาทิ หลอกให้มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่รับผิดชอบ หรือ การถูกหลอกให้แต่งงานกับเกย์เพื่อปิดบังสถานภาพ เป็นความรุนแรงอันดับ 7 ร้อยละ 1.60

ขณะเดียวกันชาวไทยยังร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ การแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดกับผู้หญิงไทย ไว้อย่างน่าสนใจ ส่วนใหญ่ระบุอยากให้เพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดแก่ผู้กระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ด้วยวิธีประหารชีวิตหรือตัดอวัยวะเพศชายเพื่อให้เป็นตัวอย่างต่อผู้ที่คิดกระทำผิดต่อไปมากที่สุดเป็นอันดับแรก รวมถึงอีกหลายประเด็นความคิดเห็น อาทิ ควรเปลี่ยนคำนำหน้านามของผู้ชายเมื่อสมรส พร้อมระบุสถานภาพโสดหรือสมรสไว้ในใบขับขี่ เพื่อป้องกันการมีกิ๊กหรือภรรยาน้อย, ผู้หญิงหรือภรรยาควรฝึกอาชีพหรือมีอาชีพเสริม รวมถึงมีเงินออมส่วนตัว เพื่อลดการพึ่งพาสามีหรือผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมักไม่กล้าหย่าหรือแยกตัวออกมา เพราะเกรงพึ่งพาตัวเองไม่ได้

นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ว่า ควรปลูกฝังค่านิยมกับเพศชายตั้งแต่เด็กให้เห็นความสำคัญของเพศหญิง ตลอดจนเสนอภาครัฐให้มีการจัด วันเลดี้ ฟรี เดย์ ให้เป็นวันที่ผู้หญิงทุกคนไม่ต้องทำงานใด ๆ และให้สามีหรือผู้ชายเป็นฝ่ายทำงานแทน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงออกมาสนุกสนาน ผ่อนคลายและดูแลความสวยความงามให้ตัวเอง.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook