สมหวังชงปลุกชีพสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ

สมหวังชงปลุกชีพสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ยกเป็นองค์การมหาชนงดรับงานปั้นแม่พิมพ์

ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (สกศ.) มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับพัฒนาครู แทนที่จะเป็นสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ ว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวด้วย และเมื่อที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติขึ้นมาในรูปแบบสถาบันอุดมศึกษา และไม่ควรทำหน้าที่ผลิตครู เพราะเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับสถาบันที่มีอยู่แล้ว แต่ควรทำหน้าที่พัฒนาวิชาชีพครูแทน ตนก็ไม่ได้ติดใจอะไร แต่เห็นว่าหากจะดำเนินงานให้ครบถ้วนตามวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาตินั้น การทำงานในรูปแบบคณะกรรมการคงไม่เพียงพอที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้ เพราะหลักการของการจะจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติขึ้น ก็เพื่อทำหน้าที่พัฒนาครู วิจัยระบ บริหารกองทุนตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ส่งเสริมและประสานการผลิตครูของครู และสร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ

ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กำลังศึกษาว่าคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติที่จะตั้งขึ้น ควรจะประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าคณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติที่จะตั้งขึ้นนี้ ควรจะทำหน้าที่เหมือนคณะกรรมการบริหารสถาบัน เพียงแต่ไม่จัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตครู และไม่ประเมินคณะคุรุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ตามที่มีเสียงคัดค้านก่อนหน้านี้ และหากจะทำให้งานบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จำเป็นต้องมีเจ้าภาพหลักในการดูแลภาพรวม เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยในเร็ว ๆ นี้ผมจะเสนอต่อ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ ให้จัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติขึ้น ในรูปแบบองค์การมหาชน หรือองค์กรอิสระ เพื่อทำให้การทำงานมีความคล่องตัวและต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ทันที และหาก ครม.ให้ความเห็นชอบก็สามารถตั้งได้ทันทีเนื่องจากไม่ต้องมีการออก พ.ร.บ.มารองรับ แต่หากรัฐบาลอยากให้การดำเนินงานเรื่องนี้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นก็จะต้องมี พ.ร.บ.ออกมารองรับ แต่คงต้องใช้ระยะเวลานาน เนื่องจากการมี พ.ร.บ.จะต้องเชื่อมโยงกับงบประมาณด้วย ศ.ดร.สมหวัง กล่าว

ด้าน ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยทั้งในส่วนของการจัดตั้งสถาบันคุรุศึกษาแห่งชาติ และ คณะกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ เพราะเท่าที่ดูเบื้องต้นหน้าที่ไม่แตกต่างจากหน่วยงานผลิตครูที่มีอยู่ถึง 104 คณะ และในจำนวนนี้ก็มีสถาบันถึง 20 แห่ง ที่มีศักยภาพผลิตครูในระดับปริญญาเอก และยังมีคุรุสภาที่ทำหน้าที่ดูแลคุณภาพการผลิตครูอยู่แล้ว ซึ่งการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาแทนที่จะช่วยแก้ปัญหา ตนเกรงว่าจะยิ่งสร้างความสับสนมากขึ้นอีก.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook