สสจ.ยะลา เร่งรัดมาตรการป้องกัน และควบคุมรับมือการระบาดโรคฉี่หนู

สสจ.ยะลา เร่งรัดมาตรการป้องกัน และควบคุมรับมือการระบาดโรคฉี่หนู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สาธารณสุขจังหวัดยะลา เร่งรัดมาตรการป้องกัน และควบคุมรับมือการระบาดโรคฉี่หนูหลังพบผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 2 ราย นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคฉี่หนูในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 พบผู้ป่วย 8 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย สาเหตุของโรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำที่ขังเฉอะแฉะ ตามพื้นดินที่เปียกชื้นหรือปนเปื้อนพืชผักที่ขึ้นตามทุ่งนา โดยเชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางรอยแผลตามผิวหนัง รอยขีดข่วน และเข้าทางเยื่อบุของปาก ตา จมูก หรือไชผ่านผิวหนังปกติที่แช่น้ำอยู่นาน ๆ ก็ได้ โดยคนมักติดเชื้อขณะเดินย่ำดินโคลน เดินลุยน้ำท่วม หรือจากการรับประทานที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อโรคฉี่หนูนี้มีชีวิตอยู่ ในน้ำได้นานหลายเดือน ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพทำไร่ ทำนา โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่อง และโคนขา บางรายมีอาการตาแดงร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบไปพบแพทย์เป็นการด่วน พร้อมแจ้งประวัติให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อการวินิจฉัยรักษาที่รวดเร็ว ซึ่งโรคดังกล่าวมียารักษาหายขาด แต่อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง เนื่องจากจะเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง คือ ไตวาย ตับวาย ทำให้เสียชีวิตได้ ในการป้องกันโรคฉี่หนูประชาชนควรสวมรองเท้าบูททุกครั้ง ที่ต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือทำไร่ ทำนา และกำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่ และแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหาร ปิดโอ่งน้ำ หรือขันน้ำให้มิดชิด และอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ เดินลุยน้ำนาน ๆ ไม่ลงว่ายน้ำขณะที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะผู้ที่บาดแผลหรือรอยถลอก รอยขีดข่วน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปิดพลาสเตอร์ที่แผลก่อนลงน้ำ และรีบล้างเท้าให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวอีกว่า ในด้านการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคนั้น ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดมาตรการการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน รวมทั้ง อสม. เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในการปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ความรู้ทางสื่อสาธารณะ และสื่อในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับให้ อสม.ออกเคาะประตูบ้านให้ความรู้ และคัดกรองผู้มีอาการน่าสงสัย นำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน ช่วยให้ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างรวดเร็ว ลดอัตราการป่วย และตายให้มากที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook