รอยยิ้มพลัดถิ่น

รอยยิ้มพลัดถิ่น

รอยยิ้มพลัดถิ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

สำหรับคนทิเบตแล้ว การเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ถือเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต โดยเฉพาะคนชราในทิเบต

ก่อนจะจากโลกนี้ไป เขาอยากมีโอกาสสักครั้ง เพื่อเข้าเฝ้าผู้นำทางจิตวิญญาณของเขา

และใครจะนึกได้ว่า จะมีคนไทยกลุ่มเล็กๆ ในนามมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จัดทำโครงการ พาคนชราทิเบตพลัดถิ่นในค่ายลี้ภัยที่อินเดียเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะเมื่อเดือนมกราคม 2552 โดยระดมทุนจากการจัดกิจกรรมและเงินบริจาคพาคนชราทิเบต 40 คนเดินทางจากเมืองสารนาถไปเมืองธรรมศาลา

การเดินทางในครั้งแรก เงินทุนเหล่านั้นใช้เป็นค่าเดินทางและค่าอาหารสำหรับคนทิเบตพลัดถิ่น โดยมีชาวทิเบตที่ทำงานกับมูลนิธิฯ คอยประสานงานในการเดินทาง และมีช่างภาพชาวไทยร่วมเดินไปด้วย ทั้งๆ ที่ไม่อาจสื่อภาษากับคนทิเบต แต่รอยยิ้มทำให้เขาค้นพบบางอย่างในชีวิต

ภาณุวัฒน์ จิตติวุฒิการ ช่างภาพที่กล่าวถึง เจ้าของภาพชุดรอยยิ้มพลัดถิ่น ภาพเหล่านี้ยังไม่ได้แสดงนิทรรศการอย่างเป็นทางการ มีเพียงโปสการ์ดภาพชุดเรื่องราวบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้ม

"คนทิเบตบาง ส่วนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบนภูเขาที่อินเดีย มีคนชราและเด็กกว่าสี่พันคน พวกเขาสูญเสียมากมาย หลายคนสูญเสียลูก ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิ์อะไรเลย แต่ทำไมชีวิตพวกเขามีความสุข มีรอยยิ้ม"

แม้เขาจะสื่อภาษาทิเบตไม่ได้เลย แต่การเดินทางในครั้งนั้น ทำให้เขาได้สัมผัสใจที่เปี่ยมด้วยความสุขของคนทิเบต จากที่เคยคิดว่า ตัวเองมีความทุกข์มากมาย แต่เมื่อได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนทิเบตที่ไม่มีอะไรเลย ทำให้เขารู้ว่า การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข...มันง่ายนิดเดียว

"ตอนแรกผมคิดว่าจะถ่ายภาพบรรยากาศหรือวิถีชีวิต แต่ภาพถ่ายของคนทิเบตที่ถูกถ่ายทอดโดยคนต่างชาติ ส่วนใหญ่มองเรื่องอารยธรรมเก่าแก่ เน้นถ่ายเครื่องแต่งกายชุดพื้นเมือง หรือไม่ก็ภาพชาวทิเบตในฐานะเหยื่อการเมืองถูกกดขี่โดยรัฐบาลจีน รวมถึงภาพถ่ายทิเบตที่กำลังถูกทำลายวัฒนธรรมในโลกยุคปัจจุบัน" เขาเล่าถึงภาพถ่ายคนทิเบตต่างมุมมอง

สำหรับตัวเขาแล้วมองว่า ความเป็นทิเบตอยู่ที่จิตวิญญาณ ความเชื่อ และความศรัทธา ซึ่งเขาสัมผัสได้ใช้เวลาช่วง 3 สัปดาห์เดินทางร่วมกับคนทิเบต

"ผมอยากถ่ายทอดความรู้สึกตรงนี้ ผมอยู่กับพวกเขาหลายสัปดาห์ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีอะไรเลย แต่สิ่งที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวในชีวิตประจำวันคือเรื่องศาสนา พวกเขาอยู่เพื่อศาสนา ชีวิตของเขาคือการภาวนา พวกเขายอมอยู่ในอินเดียเพื่อสิ่งเดียวคือ เสรีภาพในการภาวนา เพราะแรงศรัทธาท่านทะไล ลามะ"

รอยยิ้มบนใบหน้าที่เหี่ยวย่นของผู้ชราแฝงไว้ด้วยความจริงใจ ทำให้ภาณุวัฒน์หวนคิดถึงตัวเอง ช่วงจังหวะที่เขาก้าวเท้าเดินในอินเดีย เขาเจอหลายเหตุการณ์ที่ไม่อาจจัดการได้ เพราะการเดินทางทางรถไฟ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยตรงเวลา บางครั้งล่าช้าเป็นวัน

"การไปอินเดียคราวนั้น เปลี่ยนแปลงชีวิตผม ผมเคยนึกว่า ทุกข์ของเรายิ่งใหญ่แล้ว พอได้เห็นวิถีชีวิตคนทิเบต ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราดิ้นรนมันจอมปลอม จริงๆ ชีวิตมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น"

หลังจากกลับมาจากทิเบต เขานำภาพถ่ายเหล่านั้นมาใส่กรอบจำหน่ายเพื่อระดมทุนอีก โดยโครงการที่สองเป็นการช่วยเหลือคนชราทิเบตพลัดถิ่นในภูฏานที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชราอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 30 คน เพื่อให้พวกเขามีโอกาสเข้าฟังธรรมจากองค์ทะไล ลามะ และแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน

"คนทิเบตใน ภูฏานมักจะถูกลืม และท่านทะไล ลามะก็ไม่สามารถเดินทางไปภูฏาน พวกเขาก็อยากจะเข้าเฝ้าท่านทะไล ลามะ ซึ่งทางเมืองไทยได้มีการระดมทุนช่วยเหลือ และตั้งใจจะกลับไปทำสารคดีเรื่องวิถีชีวิตชาวทิเบต โดยมีทีมงานลงไปทำด้วย"

เขาเล่าต่อว่า ความเข้าใจเรื่องทิเบตของเขายังไม่มาก และเขายังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เมื่อใดที่เข้าใจมากกว่านี้ ก็อยากจัดแสดงภาพและเขียนหนังสือ

"ในแง่ศิลปะ ผมคิดว่างานชุดนี้เป็นงานที่ดีที่สุดในความรู้สึกของผม ทั้งเรื่องการสื่อความรู้สึกและความงาม ผมอยากทำให้สมบูรณ์กว่านี้ ผมไม่อยากเร่งรีบ"

หากถามว่า ทำไมภานุวัฒน์สนใจเรื่องราวของคนกลุ่มเล็กๆ เช่นทิเบต เขาบอกว่า ตอนเรียนศิลปะที่มหาวิทยาลัย Melbourne ออสเตรเลีย เคยบินกลับมาเมืองไทยเพื่อสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และได้คุยแง่มุมทางการเมือง

"แม้ผมจะรู้ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศมากมาย แต่ผมทำอะไรไม่ได้เลย อาจารย์สุลักษณ์บอกว่า มีอีกหลายเรื่องที่เราทำได้ จนผมได้เดินทางไปลาวกับกลุ่มเสมสิกขาลัย และผมได้เห็นการแก้ไขในระดับรากหญ้า"

จากนั้นเขาจึงเห็นว่า งานศิลปะสามารถสื่อสารเรื่องราวและช่วยเหลือสังคมได้ เพราะสังคมยุคปัจจุบันรับรู้ความจริงและข่าวสารจากภาพถ่าย ทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นเครื่องมือบอกเล่าปัญหาสังคม และความทุกข์ของผู้คนอีกเสี้ยวหนึ่งของโลก

ปีที่แล้วเขาเดินทางไปกับพระไพศาล วิสาโล เพื่อเก็บภาพเด็กยากจนโรงเรียนวัดในพม่า ตอนนั้นเตรียมจัดงานทอดกฐินหารายได้ช่วยเหลือคนพม่า เขานำรูปภาพมาใส่กรอบหารายได้ให้กองกฐิน จนได้มาเจอคนทิเบตที่ประสานงานกับมูลนิธิฯ บอกว่าอยากพาคนทิเบตไปเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะ และอยากให้มีคนไปถ่ายภาพ "นั่นคือจุดเริ่มต้น เขาเล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้น คนส่วนใหญ่จะทำบุญกับพระเท่านั้น เขาอยากทำบุญกับคนชราชาวทิเบตบ้าง พอผมได้ยิน ผมก็ตอบตกลงทันที เพื่อเดินทางไปถ่ายภาพคนทิเบต"
.............................

หมายเหตุ : ทางมูลนิธิมีกำหนดการพาคนชราทิเบตพลัดถิ่นในภูฏานเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะครั้ง ที่ 2 ในอินเดีย วันที่ 3-16 มกราคม 2553 ผู้ใดอยากสนับสนุนกิจกรรมติดต่อได้ที่อาศรมวงศ์สนิท เบอร์ 037-333-182-3 หรือเบอร์ 085-215-4977

กิจกรรมครั้งนี้จะสำเร็จและลุล่วงไปได้ก็ เนื่องจากการสนับสนุนของท่านทั้งหลายที่มีใจกุศล สละทรัพย์เพื่อให้ความฝันของคนอีกกลุ่มหนึ่งบรรลุผล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
อาศรมวงศ์สนิท ตู้ ป.ณ. 1 องครักษ์ จ. นครนายก 26120
โทรศัพท์ (037) 333-182- 3 / (037 ) 332-218 โทรสาร (037) 333-184
อาภาภร คำเจริญ (085) 215 - 4977
อีเมล aoy@semsikkha.org หรือ info@wongsanit-ashram.org 
เว็บไซต์ http:// www.semsikkha.org กำหนดการ พาคนชราทิเบตพลัด ถิ่นในภูฏานเข้าเฝ้าทะไล ลาละ ครั้งที่ 2
ณ เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย วันที่ 3-16 มกราคม 2553

3-4 มกราคม 53 เดินทางจากภูฏาน-พุทธคยา 2 วัน
5-10 มกราคม 53

ทางมูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป ซึ่งมีความสัมพันธ์และทำงานกับชนชาวทิเบตมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ในนามของโครงการศูนย์ไทย-ทิเบต มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสังคมของทิเบต เพื่อเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างประชาชนไทย-ทิเบต และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ

ทางมูลนิธิฯ เคยมีการจัดระดมทุนขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้คนชราชาวทิเบตพลัดถิ่นในอินเดียที่ อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้น จำนวน 32 คนไปได้มีโอกาสเข้าฟังธรรมจากองค์ทะไล ลามะและ แสวงบุญ ณ เมืองสารนาถไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อ วันที่ 7-15 มกราคม 2552

ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่จะมีการจัดระดมทุนขึ้นอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือให้คนชราชาวทิเบตพลัดถิ่นใน ภูฏานที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้น จำนวน 30 คนไปได้มีโอกาสเข้าฟังธรรมจากองค์ทะไล ลามะและแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook