เผยแนวคิด5แบบสุดท้ายรัฐสภาใหม่2ธ.ค.รู้ผล

เผยแนวคิด5แบบสุดท้ายรัฐสภาใหม่2ธ.ค.รู้ผล

เผยแนวคิด5แบบสุดท้ายรัฐสภาใหม่2ธ.ค.รู้ผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

5 บริษัท สรุปโชว์แบบสร้างรัฐสภาใหม่ รอบสุดท้ายคาดลงมติสองทุ่มคืนนี้ เผยผล2 ธ.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 พ.ย. นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการพิจารณาการประกวดโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โดยมีกลุ่ม 5 บริษัท ที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายเข้ามาเสนองานออกแบบในครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการตัดสินผลผู้ชนะเลิศ

คณะกรรมการตัดสินฯ ได้กำหนดเวลาให้แต่ละกลุ่มบริษัท ใช้เวลาการเสนองาน 1 ชั่วโมง และที่เหลืออีก 1 ชั่วโมง เป็นการซักถามของคณะกรรมการฯ จากนั้น จะมีการลงมติอีกครั้ง ในเวลาประมาณ 20.00 น.ของวันนี้ ทั้งนี้จะมีการประกาศผลการประกาศออกแบบอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 2 ธ.ค.นี้

สำหรับการประกวดแบบอาคารรัฐสภา 5 แบบสุดท้าย ที่จะมีการคัดเลือกให้เหลือ 1 แบบเพื่อดำเนินการก่อสร้าง ได้แก่ แบบที่ 1 ของนายธีรพล นิยม ชื่อ "สัปปายะสภาสถาน" โดยคำว่า สัปปายะ แปลว่า สบาย ในทางธรรม หมายถึงสถานที่ประกอบกรรมดี ซึ่งเมื่อก่อนประเทศวิกฤต กษัตริย์จะสร้างสถานที่เพื่อปลุกขวัญกำลังใจ โดยการดำเนินชีวิตทางโลกียะ จะมีโลกุตระคือธรรมะกำกับ ซึ่งวันนี้บ้านเมืองเกิดวิกฤตความเสื่อมศีลธรรม จึงต้องฟื้นจิตใจของคนในชาติ จึงนำหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบแผนไตรภูมิตามพุทธคติมาเป็นแรงบันดาลใจออกแบบ โดยมีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมไทย อยู่ตรงกลางอาคาร และเป็นโอกาสที่จะเป็นรัฐสภาระดับโลก ฟื้นสันติภาพ พลิกฟื้นจิตวิญญาณของมนุษย์โลก โดยการสถาปนาเขาพระสุเมรุครั้งใหม่ในยุครัตนโกสินทร์

แบบที่ 2 ของบริษัทสถาปนิก 49 จำกัด ออกแบบจากแนวคิดระบบการปกครองไทย ที่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ลักษณะอาคารจะเป็นอาคารสูงสองตึกด้านซ้ายและขวา ตึกแรกเป็นที่ทำงานส.ส. ตึกที่สองเป็นที่ทำงานของส.ว. โดยมีห้องประชุมตรงกลางสองห้องระหว่างอาคารทั้งสองคือ ห้องประชุมรัฐสภา และห้องประชุมวุฒิสภา

แบบที่ 3 ของนายธรรมศักดิ์ อังศุสิงห์ ภายใต้แนวคิด รัฐสภาเป็นสถาบันการปกครองที่สำคัญของไทย รัฐสภาจึงควรเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ จึงนำดอกบัวที่เป็นดอกไม้ที่คนไทยใช้ไหว้พระ มาเป็นสัญลักษณ์ โดยตัวอาคารหลักมีลักษณะเป็นดอกบัว

แบบที่ 4 ของบริษัทดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แนวคิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเมื่อปีพ.ศ. 2475 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก จึงนำเอาพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นพานที่รองรับรัฐธรรมนูญมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ซึ่งอาคารหลักก็จะมีลักษณะเป็นพานแว่นฟ้า

แบบที่ 5 ของผศ.วิเชษฐ์ สุวิสิทฐ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลักษณะอาคารหลักเป็นอาคารสามเหลี่ยมหน้าจั่ว มีลานด้านหน้า มีอาคารบริวาร 2 อาคาร สำหรับเป็นที่ทำงานของส.ส.และส.ว. มีศิลปินแห่งชาติร่วมออกแบบด้วย นอกจากนี้ยังนำแนวคิดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งวัด บ้านเรือน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมาผสมผสาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook