สุรา : วิกฤตสังคมไทยปัญหาระดับชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไขตอน 1

สุรา : วิกฤตสังคมไทยปัญหาระดับชาติที่ต้องร่วมกันแก้ไขตอน 1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คงเป็นคำพูดไม่ไกลเกินจริง เพราะปัจจุบันนี้ สังคมไทยกำลังถูกน้ำเมาคืบคลาน ซึมเข้าไปในทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่รู้ตัว ขณะที่คนไทยส่วนน้อยที่เริ่มตระหนักถึงพิษภัยร้ายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กำลังทำให้สังคมเข้าขั้นวิกฤต และจัดกิจกรรมรณรงค์ รวมทั้งจัดประชุมสัมมนา เพื่อร่วมกันหาทางออกของปัญหาดังกล่าว เช่น ล่าสุด เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับ เครือข่ายกว่า 10 องค์กร ได้จัดการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 5 ขึ้น ที่โรงแรมเอเชีย ราชเทวี ในหัวข้อ "แผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมอภิปรายและเสนอแนะในหัวข้อต่างๆ เพื่อระดมความคิดให้มีการควบคุมปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นวาระแห่งชาติและวาระท้องถิ่น โดยข้อเสนอที่ได้ในเวทีครั้งนี้ จะกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์เพื่อควบคุมปัญหาสุราระดับชาติ เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่สอง ในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณา ก่อนเห็นชอบและบรรจุเป็นวาระในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต่อไป จากข้อมูลวิชาการของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส)พบว่า คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และตลาดเครื่องดื่มในสไตล์ตะวันตก โดยจากฐานข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา คาดการณ์ได้ว่า ปัญหาสุราจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หากยังไม่มีมาตรการที่ได้ผลมารับมือเพิ่มเติม ใน พ.ศ. 2563 หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า ปริมาณการดื่มเฉลี่ยของคนไทยจะเพิ่มขึ้น 13.9% นักดื่มหน้าใหม่จะเพิ่มขึ้นถึง 30-31% ทั้งในกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่น ส่วนนักดื่มประจำจะเพิ่มขึ้น 20.1 % หรือกล่าวได้ว่า ประมาณ 15% ของนักดื่มนานๆ ครั้งจะกลายเป็นขี้เมาขาประจำ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขนักดื่มหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่เป็นผู้ดูแล พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งประกาศใช้มาตังแต่ต้นปี 2551 ดูแลควบคุมทุกด้าน ทั้งการจำหน่าย การโฆษณา บอกว่า สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดการประชาสัมพันธ์และการให้ความรู้กับประชาชน มีข้อมูลวิจัยที่น่าตกใจ จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผย ว่า เยาวชนไทยดื่มเหล้าเพิ่มขึ้นจนอยู่ในขั้นวิกฤต โดยหากเทียบเป็นเบียร์แล้ว วัยรุ่นชาย อายุ 12-19 ปี ดื่มเฉลี่ยครั้งละ 3.8 ขวดใหญ่หรือ 4 ขวดใหญ่ คิดเป็นปีละ 367 ขวด ขณะที่วัยรุ่นหญิงดื่มเฉลี่ยครั้งละ 2 ขวด ปีละ 92 ขวดใหญ่ เด็กที่เริ่มดื่มแล้วส่วนใหญ่ก็จะดื่มและเมาเป็นประจำ เหตุผลสำคัญคือการโฆษณาสุรา ทั้งทางตรงทางอ้อม และการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อย่างดนตรีและกีฬา ซึ่งล้วนให้ความสำคัญกับเยาวชนคนหนุ่มสาวทั้งสิ้น ดังนั้น นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิชัยปัญหาสุรา (ศวส) จึงอยากเรียกร้องให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวให้มาก เพราะจากผลวิจัย ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงวิกฤตของปัญหาน้ำเมาในสังคมไทย ทั้งที่เป็นปัญหาที่ป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ หากสังคมไทยเอาจริงเอาจังพอ และต้องเร่งผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ "ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องทบทวนถึงกลไกการรับมือกับปัญหาน้ำเมาอย่างจริงจัง เพราะถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีกฎหมายและมาตรการต่างๆ อยู่ไม่น้อย แต่ก็ยังมีช่องว่างในระบบที่สำคัญอีกมากมาย อีกทั้งการขาดยุทธศาสตร์เพื่อกำกับให้มาตรการต่างๆ เหล่านี้ไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและการสนับสนุนให้มีมาตรการระดับท้องถิ่น โดยข้อจำกัดเหล่านี้และแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อยู่ในร่างยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้ดำเนินการโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากสภาพการณปัญหา การประชุมครั้งนี้ จึงนำไปสู่การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 5 ด้านเบื้องต้น ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การควบคุมการเข้าถึงทางเศรษฐศาสตร์และทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกำหนดราคา สถานที่เวลาจำหน่าย และการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเยาวชน 2.ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนค่านิยมและแรงสนับสนุนในการดื่ม เกี่ยวข้องกับการควบคุมการตลาดและโฆษณา การให้ข้อมูลเพื่อลดการดื่ม 3.ยุทธศาสตร์การลดอันตรายจากการบริโภค เกี่ยวข้องกับการควบคุมการดื่มที่เสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยสูง ทั้งการเมาและขับ รวมไปถึงการตรวจคัดกรองผู้ที่มึนเมาขณะขับขี่ 4.ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ มีนโยบายการควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ในแต่ละพื้นที่ชุมชน เช่น ในกองทัพ ตำรวจ โรงงาน หรือหน่วยงานต่าง ๆ และ 5.ยุทธศาสตร์การพัฒนากลไกการจัดการ และสนับสนุนที่เข้มแข็ง ที่มุ่งให้ความรู้ป้องกันผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ในระยะอันใกล้นี้ ประเทศไทยเตรียมทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกับหลายประเทศ ส่งผลให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางรายการมีราคาถูกลง เพราะปลอดภาษี ซึ่งต้องมีการหาทางป้องกันทางอ้อมที่จะมีส่งผลกระทบต่อข้อตกลงทางการค้าโดยตรง ทั้งนี้ ศวส.และเครือข่าย ขอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนร่างยุทธศาสตร์ที่ร่วมร่างนี้ โดยผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนฉบับนี้ด้วย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อปัญหาต่อสุขภาวะทางกาย จิตใจและสังคม และปัญญาของประชากรไทย ซึ่งผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อ ครอบครัว บุคคลรอบข้าง ชุมชน สังคมและประเทศ แต่ผลกระทบเชิงลบเหล่านี้ สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ด้วยนโยบายแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผลและการนำไปปฎิบัติอย่างจริงจังนั่นเอง ในตอนหน้า สำนักข่าวแห่งชาติ จะนำเสนอสถานการณ์และมาตรการควบคุมการจำหน่ายเหล้าปั่นและร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่ภาครัฐและหน่วยงานพยายามหาทางแก้ไข เพราะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเยาวชนไทยอย่างยิ่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook