ศาลอาเจะห์ลงโทษเฆี่ยนหญิงคบชู้ 100 ที ฝ่ายชายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดนแค่ 15 ที

ศาลอาเจะห์ลงโทษเฆี่ยนหญิงคบชู้ 100 ที ฝ่ายชายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดนแค่ 15 ที

ศาลอาเจะห์ลงโทษเฆี่ยนหญิงคบชู้ 100 ที ฝ่ายชายปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดนแค่ 15 ที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หญิงชาวอินโดนีเซียในจังหวัดอาเจะห์ถูกลงโทษเฆี่ยน 100 ที ฐานคบชู้ ขณะที่ฝ่ายชาย ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดนเฆี่ยนแค่ 15 ที

อีวาน นัจจาร์ อาลาวี หัวหน้าแผนกสอบสวนทั่วไปของสำนักงานอัยการอาเจะห์ตะวันออก กล่าวว่า ศาลได้พิพากษาลงโทษสถานหนักต่อหญิงซึ่งแต่งงานมีสามีแล้ว หลังจากที่เธอรับสารภาพว่าไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น

ผู้พิพากษาพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินลงโทษฝ่ายชาย ซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานประมงของอาเจะห์ตะวันออก และแต่งงานมีลูกเมียแล้วเช่นกัน เพราะเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

"ระหว่างการพิจารณาคดี เขาไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้น และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ดังนั้นผู้พิพากษาจึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาทำผิดจริงหรือไม่" อาลาวี กล่าว หลังจากที่บุคคลทั้งสองถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนตามกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ไปเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเอาผิดฐานคบชู้ไม่ได้ แต่คณะผู้พิพากษาเห็นว่าชายคนนี้ยังมีความผิดฐาน "แสดงความรักใคร่ต่อหญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตน" หลังมีพยานยืนยันว่าเห็นคนทั้งสองอยู่ด้วยกันในสวนปาล์มเมื่อปี 2561

เบื้องต้น ศาลได้พิพากษาลงโทษฝ่ายชายด้วยการเฆี่ยน 30 ที แต่เขาได้ยื่นอุทธรณ์ จนกระทั่งศาลสูงสุดอาเจะห์ยอมลดโทษให้เหลือเพียง 15 ที

ผู้สื่อข่าวภาคสนามของ AFP รายงานว่า เจ้าหน้าที่ต้องสั่งหยุดพักการลงโทษชั่วคราว เนื่องจากฝ่ายหญิงนั้นไม่สามารถทนความเจ็บปวดจากการถูกเฆี่ยนพร้อมกันถึง 100 ทีได้

โดยในวันเดียวกัน ยังมีชายอีกคนที่ถูกศาลอาเจะห์สั่งเฆี่ยน 100 ที ฐานมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ และยังต้องรับโทษจำคุกอีก 75 เดือนด้วย

ทั้งนี้ อาเจะห์เป็นจังหวัดเดียวในอินโดนีเซียที่มีการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์ ซึ่งกำหนดโทษเฆี่ยนสำหรับผู้ที่กระทำผิดฐานเล่นการพนัน คบชู้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ

การนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้อย่างเข้มงวดนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสันติภาพระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์กับรัฐบาลกลางอินโดนีเซียเมื่อปี 2548 ซึ่งช่วยปิดฉากการก่อความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนวิจารณ์การเฆี่ยนประจานเช่นนี้ว่าเป็นบทลงโทษที่ป่าเถื่อน และแม้แต่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด เองก็ยังเรียกร้องให้เลิกธรรมเนียมนี้เสีย อย่างไรก็ตาม ประชากรมุสลิมในอาเจะห์ส่วนใหญ่ยังคงเห็นด้วยกับบทลงโทษดังกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook