สนช.นำร่องใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพคัดแยกขยะอินทรีย์ใน จ.สมุทรสงคราม

สนช.นำร่องใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพคัดแยกขยะอินทรีย์ใน จ.สมุทรสงคราม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย นำร่องใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพคัดแยกขยะอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม หวังจัดระบบการจัดการขยะอินทรีย์ให้มีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงขยะพลาสติกชีวภาพเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้ใส่คัดแยกขยะอินทรีย์ครั้งแรกในประเทศไทย โดยถุงพลาสติกชีวภาพจะช่วยลดเวลาคัดแยกขยะ อีกทั้งยังช่วยเปลี่ยนขยะอินทรีย์ให้กับประเทศได้ปีละ 9 ล้านตันเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรืออินทรียวัตถุได้ปีละประมาณ 6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 60,000 ล้านบาท ส่วนขยะแห้งจะถูกคัดแยกไปสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เบื้องต้นได้นำร่องนำไปใช้ในพื้นที่เทศบาลกระดังงา จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งหมด 730 ครัวเรือน เนื่องจากเป็นชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นชุมชนสีเขียว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังคัดแยกขยะด้วยถุงขยะพลาสติกชีวภาพเรียบร้อยแล้วจะนำไปกำจัดในเทคโนโลยีที่ สนช.ให้การสนับสนุนภาคเอกชน ซึ่งจะมีตั้งอยู่ในชุมชนดังกล่าว 1 เครื่อง ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ไปพร้อมๆ กับย่อยสลายถุงพลาสติกชีวภาพไปพร้อมกันด้วยภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ โครงการนี้จะช่วยให้เกิดระบบจัดการขยะอินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และถูกสุขอนามัย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกถุงพลาสติกชีวภาพออกในขั้นตอนการแปรรูปให้เป็นอินทรียวัตถุ รวมทั้ง ยังลดปริมาณก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเน่าสลายตัวของขยะอินทรีย์ในบ่อฝังกลบขยะระบบเปิดในปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook