นักวิจัย แนะ ไทยควรแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์

นักวิจัย แนะ ไทยควรแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักวิจัย แนะ ไทยควรแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ เนื่องจากสนธิสัญญาดังกล่าวห้ามเปิดเผยแหล่งที่มาในการจดสิทธิบัตรจุลชีพ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี และหัวหน้าโครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ และระบอบระหว่างประเทศว่าด้วยการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพว่า ขณะนี้ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปมีความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ผ่านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ และเอฟทีเอ อียู-อาเซียน โดยสนธิสัญญาบูดาเปสต์ เป็นสนธิสัญญาที่อำนวยสะดวกให้กับผู้วิจัยได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรจุลชีพได้ง่ายขึ้น ซึ่งได้สร้างระบบรับฝากระหว่างประเทศที่เรียกว่าองค์กรรับฝากสารชีวภาพระหว่างประเทศ หรือ IDA หากประเทศใดต้องการจดสิทธิบัตรจุลชีพสามารถนำตัวอย่างมาฝากองค์กรรับฝากใดก็ได้เพียงแห่งเดียว ก็จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรในทุกประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 77 ประเทศ แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้คือสนธิสัญญาดังกล่าวห้ามเปิดเผยแหล่งที่มาในการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าการจดสิทธิบัตรจุลชีพมีการลักลอบนำของประเทศไทยไปพัฒนาหรือไม่ ดังนั้น เห็นว่าประเทศไทยไม่ควรเข้าร่วมเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ เพราะจะส่งผลกระทบอย่างมาก เช่น ไม่สามารถออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรชีวภาพต่างๆ ทั้งนี้ หากประเทศไทยต้องการเข้าร่วมต้องอนุญาตให้ประเทศไทยสามารถปรับปรุงเนื้อหา โดยต้องมีการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากร เพื่อรองรับการแบ่งปันผลประโยชน์ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook