"พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์" ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

"พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์" ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

"พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์" ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์" บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้ ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

22 มกราคม 2565 แฟนเพจ Thich Nhat Hanh รายงานว่า พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ พระภิกษุชาวเวียดนาม และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก และยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 0.00 นาฬิกา ของวันที่ 22 มกราคม 2565 สิริอายุ 95 ปี

พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ มีผลงานเขียนเกี่ยวกับสันติภาพ และหลักคำสอนการฝึกสมาธิภาวนาเจริญสติ เผยแผ่ ตีพิมพ์เป็นภาษาต่างๆ มากมาย และกลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักปฏิบัติธรรมชาวตะวันตก และทั่วโลก จนได้รับการขนานนามให้เป็น "บิดาแห่งการมีสติตื่นรู้" (the father of mindfulness)

ข้อมูลจากมูลนิธิหมู่บ้านพลัมระบุประวัติโดยย่อของท่านไว่ว่า

ปี พ.ศ.2485 (ค.ศ.1938) บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu Temple (Tu Hieu)) เมืองเว้ ท่านได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช

ปี พ.ศ.2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น

ปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปศึกษายังประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม โดยก่อตั้งโรงเรียนยุวชนรับใช้สังคม เยียวยาความเสียหายจากสงคราม และพัฒนาวงการสงฆ์ด้วยการสอน และนำเสนอข้อเขียนต่อสถาบันพุทธศาสนาชั้นสูงด้วยคติว่า การกระทำและปัญญา ต้องไปด้วยกัน (Tiep Hien) หรือ คณะดั่งกันและกัน (The Order of Interbeing) โดยปฏิบัติตามสิกขาบท 14 ประการ ซึ่งเลือกเฟ้นมาจากแก่นคำสอนในพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ยังรณรงค์เพื่อสันติภาพ เนื่องจากในช่วงนั้น เป็นช่วงที่คุกรุ่นด้วยไฟสงคราม และท่านตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อสันติภาพโดยรณรงค์ให้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือ รณรงค์ให้หยุดการสนับสนุนสงความโดยเฉพาะการแทรกแซงของสหรัฐฯ มุ่งเน้นสันติภาพ โดยปลูกจิตสำนึกผู้คนทั่วโลก จนมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King , Jr) เสนอชื่อ ติช นัท ฮันห์ เข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเวียดนามจึงปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน แม้ว่าภายหลังจะมีการรวมประเทศก็ตาม

เมื่อเวียดนามปฏิเสธการกลับเข้าประเทศ ท่านจึงต้องลี้ภัยอย่างเป็นทางการไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมนอกเมืองปารีสเพื่อเขียนหนังสือและปลูกพืชสมุนไพร ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงานเพื่อสันติภาพ และเพื่อผู้ลี้ภัยอย่างสม่ำเสมอ การได้ร่วมทุกข์กับเพื่อนผู้ลี้ภัย ทำให้ท่านพบเห็นชะตากรรมของผู้ตกทุกข์ได้ยากมากมาย และมีวิธีการช่วยเหลือได้หลายช่องทาง หลายวิธีการ

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง "สังฆะ" ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2518 ชื่อว่า อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้

ปัจจุบัน มีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook