Rocket Media Lab เปิดข้อมูลเปรียบเทียบการนำเข้า "เครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์" และค่าฝุ่น PM2.5

Rocket Media Lab เปิดข้อมูลเปรียบเทียบการนำเข้า "เครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์" และค่าฝุ่น PM2.5

Rocket Media Lab เปิดข้อมูลเปรียบเทียบการนำเข้า "เครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์" และค่าฝุ่น PM2.5
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight:

  • ประเทศไทยเริ่มตื่นตัวในประเด็นฝุ่นพิษ PM2.5 ในช่วงปี 2018 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงขึ้นจนกรมควบคุมมลพิษที่มีเอกสารให้ความรู้ออกมา และต้นปี 2019 ก็มีมติของครม.ประกาศให้ฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ
  • จากการตื่นตัวเรื่องฝุ่น PM2.5 ในปี 2018 ส่งผลให้ยอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ในปี 2019 เติบโตสูงขึ้นถึง 490%
  • ก่อนปี 2018 ประเทศไทยนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากประเทศจีนสูงที่สุด แต่หลังจากนั้นประเทศไทยนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากประเทศอิตาลีสูงที่สุด

ปัจจุบันเครื่องฟอกอากาศน่าจะกลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นประจำบ้านพอๆ กับเครื่องปรับอากาศ เนื่องด้วยปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ซึ่งเครื่องฟอกอากาศนั้นก็มีตั้งแต่ขนาดใหญ่สำหรับอาคาร บ้านเรือน หรือธุรกิจ ขนาดเล็กสำหรับเพียงห้องๆ หนึ่งในบ้านหรือในคอนโด ขนาดเล็กลงไปอีกในแบบการใช้งานเฉพาะที่ในพื้นที่จำกัด เช่น โต๊ะทำงาน หรือแม้กระทั่งเครื่องฟอกอากาศในรถยนต์ จนถึงปัจจุบันที่มีเทรนด์เครื่องฟอกอากาศแบบพกพาสำหรับห้อยคอ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีคำถามถึงประสิทธิภาพในการใช้งานว่าสามารถช่วยฟอกอากาศได้จริงหรือไม่

บางคนอาจจะมีแค่หนึ่ง แต่บางคนก็อาจจะมีทุกรายการที่กล่าวมา เพียงเพื่อต้องการอากาศที่สะอาดในการหายใจ ซึ่งต้องแลกมาในราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อยเลยทีเดียว

PM2.5 กับการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์

หากย้อนดูค่าฝุ่น PM2.5 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากข้อมูลฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งประเทศรายปี ตั้งแต่ปี 2016-2020 จากกรมควบคุมมลพิษ ก็จะพบว่าสูงที่สุดในปี 2016 ที่ 27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและลดลงมาเรื่อยๆ คือ 22, 24, 25, 23 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จากค่าเฉลี่ยนี้ไม่อาจสรุปได้ว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ในไทยต่ำ เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ยจากทั้งประเทศ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูง เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพื้นที่ที่ค่าฝุ่นต่ำมาก เช่น ภูเก็ต สตูล

จากการทำงานของ Rocket Media Lab องค์กรที่ทำงานด้านข้อมูลเพื่อสื่อสารมวลชน พบว่าประเด็นเรื่องฝุ่นพิษมีการกล่าวถึงมาตั้งแต่ปี 2007 ผลกระทบรุนแรงจากฝุ่น PM10 ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือทำให้รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประกาศให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ จากนั้นประเทศไทยก็เริ่มตื่นตัวในประเด็นฝุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 โดยเฉพาะในช่วงปี 2018 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วงปี 2017 โดยปรากฏเอกสารจากกรมควบคุมมลพิษออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นบทความเรื่อง “ฝุ่น PM 2.5 แก้อย่างไรให้ตรงจุด” หรือ “การพิทักษ์สุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM 2.5 : ความร่วมมือของเครือข่าย”และเริ่มปรากฏการรายงานข่าวในประเด็นเรื่อง PM 2.5 ในสื่อสารมวลชนตามมาหลังจากนั้น เช่น บทความเรื่อง “ฝุ่นละอองกรุงเทพฯ : คุณควรกังวลแค่ไหน ?” โดยสำนักข่าวบีบีซี ประเทศไทยซึ่งตรงกับผลการสำรวจของ Wisesight โดยวิธีการ Social Listening ที่พบว่ามีการกล่าวถึงประเด็นเรื่อง PM2.5 ในโซเซียลมีเดียสูงมากอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายปี 2018 ไปจนถึงต้นปี 2019

และหากดูข้อมูลการนำเข้า เครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์* จากกรมศุลกากร จะพบว่าแม้ค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั้งประเทศรายปีจะไม่สัมพันธ์กับยอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์โดยตรง แต่มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า จากปัจจัยข้างต้นที่ทำให้คนตื่นตัวเรื่อง PM2.5 มากขึ้น อาจส่งผลถึงยอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์อย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2018 มียอดนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์สูงถึง 883,482 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 611,551,409 บาท หรือเติบโตสูงขึ้นถึง 269% และในปี 2019 มียอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์สูงถึง 5,221,286 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 2,78,4221,707 บาท เติบโตขึ้นจากปี 2018 ถึง 490% เลยทีเดียว

จากนั้นยอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ก็เริ่มคงที่ โดยในปี 2020 ยอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ 6,258,280 ชิ้น และในปีที่ผ่านมา 2021 มียอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ 5,097,054 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 1,780,682,954 บาท

*หมายเหตุ: เครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ เรียกชื่อตามเลขพิกัดศุลกากร เลขที่ 84213920 โดยที่ไม่สามารถจำแนกประเภทการใช้งานและขนาดของเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ได้

เรานำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากที่ไหนบ้าง

จากข้อมูลการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ของกรมศุลกากร จะพบว่า ก่อนประเด็นเรื่องฝุ่น PM2.5 จะแพร่หลายในเมืองไทยจนทำให้เกิดการตื่นตัว (ก่อนปี 2018) ข้อมูลย้อนหลังไปไกลที่สุดเท่าที่พบคือในปี 2012 ไทยนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากมาเลเซียสูงที่สุด แต่จากนั้นเป็นต้นมา ไทยนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากประเทศจีนสูงเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอดจนถึงปี 2017 นอกจากนั้นรองลงมาก็จะเป็นมาเลเซีย เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น

จุดเปลี่ยนอยู่ที่ปี 2018 ซึ่งมีการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากประเทศอิตาลีสูงถึง 700,206 ชิ้น หรือคิดเป็น 79.25% ในขณะที่การนำเข้าจากประเทศจีนมีเพียงแค่ 121,784 เป็นอันดับสอง คิดเป็น 13.78% และจากปี 2018 เป็นต้นมา ไทยก็นำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากอิตาลีจำนวนชิ้นสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในทุกๆ ปี

เช่นในปี 2021 ที่ผ่านมา มียอดการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากอิตาลี 3,700,486 ชิ้น คิดเป็น 72.60% รองลงมาคือประเทศจีน 1,226,391 ชิ้น คิดเป็น 24.06% อันดับสามคือญี่ปุ่น 102,540 ชิ้น คิดเป็น 2.01 อันดับสี่คือไต้หวัน 25,510 ชิ้น คิดเป็น 0.5% และอันดับห้าคือ มาเลเซีย 17,090 ชิ้น คิดเป็น 0.34% และอื่นๆ อีกกว่า 20 ประเทศ รวม 21,849 ชิ้น คิดเป็น 0.44%

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการนำเข้าจะพบว่าประเทศจีนเริ่มขึ้นมามีมูลค่าการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์สูงสุดในปี 2017 จนถึงปัจจุบัน โดยก่อนหน้านั้นในปี 2015 เป็นประเทศเยอรมนี และในปี 2016 เป็นประเทศมาเลเซีย โดยประเทศในลำดับต้นๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์ คือจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ นอกจากนั้นยังมีสหรัฐอเมริกา อินเดีย สวิตเซอร์แลนด์

โดยในปี 2021 จะพบว่าการนำเข้าจากประเทศจีนมีมูลค่าสูงสุด 1,346,232,197 บาท คิดเป็น 75.6% ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมาก็คือมาเลเซีย 146,875,191 บาท อันดับสามคือสาม ญี่ปุ่น 82,867,792 บาท อันดับสี่คือเกาหลีใต้ 44,041,902 บาท อันดับห้าคือสวิตเซอร์แลนด์ 40,518,733 บาท ซึ่งมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่ามีการนำเข้าเครื่องทำให้อากาศบริสุทธิ์จากสวิตเซอร์แลนด์เพียง 1,055 ชิ้น แต่มีมูลค่าสูงจนทำให้สามารถอยู่ในอันดับห้า ในขณะที่อิตาลีแม้จะนำเข้าจำนวนสูงสุด แต่มูลค่าอยู่ในอันดับสิบที่ 8,662,568 บาท

สูญเสียกันไปเท่าไรกับอากาศสะอาดที่ควรได้ฟรีๆ

ไม่เพียงแค่การต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศ แต่การที่ PM2.5 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครสูงกว่าเกณฑ์ที่ WHO กำหนดไว้หลายเท่าตัว ยังทำให้เกิดความสูญเสียอื่นๆ อีกมากมาย ผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir พบว่าในปี 2020 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยกว่า 14,000 รายใน 6 จังหวัด โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 149,367,000,000 บาท กรุงเทพมหานครมีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 กว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 104,557,000,000 บาท

นอกจากนี้จากรายงานของ State of Global Air พบว่าในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ PM2.5 ในประเทศไทยสูงถึง 32,200 ราย และในรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2021 พบจำนวนผู้ป่วย (รายโรค) ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในประเทศไทย สูงถึง 7,795,677 ราย

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร จากรายงานของ Rocket Media Lab พบว่าในปี 2021 ที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ สูดฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบได้กับการสูบบุหรี่ถึง 1,261 มวนเลยทีเดียว และจากรายงาน “สถานการณ์การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศฝุ่นละอองไม่เกินขนาด 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” ของกลุ่มพัฒนาระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาโรคไม่ติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังพบว่า ในภาพรวม ในช่วงเวลาที่ทำการศึกษาวันที่ 1 มกราคม 2020 – 26 ตุลาคม 2021 การเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (Asthma,COPD,ACS) เทียบกับค่าเฉลี่ยของปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน และการรายงานผู้ป่วยจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่มีวิกฤตมลพิษ ทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ระหว่างปลายเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมปีถัดไป

จะเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะมีอากาศสะอาด

นอกจากแผนงานของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2019 แล้วนั้น ยังพบว่าในการเคลื่อนไหวภาคประชาชน โดยเฉพาะประเด็นร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหามลพิษและเกี่ยวข้องกับอากาศสะอาด ซึ่งมีถึง 5 ฉบับ และถูกตีตกไปแล้ว 3 ฉบับ เหลือเพียง 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ .... ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ทางเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

และร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .... ซึ่งทางเครือข่ายอากาศสะอาดเพิ่งจะนำรายชื่อ 26,500 ยื่นต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา โดยขั้นตอนต่อไปนั้นจะต้องรอรัฐสภาพิจารณาว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินหรือไม่ หลังจากนั้นจึงส่งให้นายกฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งร่างที่ถูกปัดตกที่ผ่านมานั้น ถูกปัดตกด้วยเหตุที่ว่าถือเป็นร่างกฎหมายการเงิน

สถานการณ์ความเลวร้ายของฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยมีมากว่าสิบปีแล้ว แต่ปัจจุบันคนไทยยังต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศเพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นพิษด้วยตัวเอง และยังไม่มีทีว่ากฎหมายที่จะออกมาช่วยปกป้องให้คนไทยมีอากาศที่สะอาดฟรีๆ นั้น จะสำเร็จเมื่อไร ในวันที่เรามีค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook