“นักรบผ้าถุง” เมื่อเหล่า “มะ” ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องทะเล “จะนะ”

“นักรบผ้าถุง” เมื่อเหล่า “มะ” ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องทะเล “จะนะ”

“นักรบผ้าถุง” เมื่อเหล่า “มะ” ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องทะเล “จะนะ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • นักรบผ้าถุง คือ เหล่า “มะ” หรือ “แม่” จากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง โดยการต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
  • นักรบผ้าถุงเหล่านี้เคยเดินทางมาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงถามสัญญาที่รัฐเคยให้ไว้กับพวกเขา และถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 โดยมีผู้ถูกจับกุมตัว ทั้งหมด 37 คน ในจำนวนนี้ 31 คนเป็นผู้หญิง
  • สิ่งที่นักรบผ้าถุงต้องการ คือการอนุรักษ์ท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์และธรรมชาติที่สวยงามไว้ให้ลูกหลาน เพราะวิถีชีวิตที่แสนเรียบง่ายของชาวบ้านจะนะล้วนสอดคล้องกับทะเลและผืนดินแห่งนี้ 

“มะ” ในภาษาของชาวมุสลิมแปลว่า “แม่” ซึ่งโดยทั่วไปก็ทำหน้าที่ดูแลบ้านและสมาชิกในครอบครัว ทว่าเหล่ามะในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กลับมีหน้าที่ที่ต้องทำมากกว่านั้น เพราะพวกเธอได้ทิ้งบ้านและครอบครัว เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานคร เพื่อแสดงพลังต่อสู้ปกป้องผืนดินบ้านเกิดของตัวเอง ทำให้พวกเธอได้รับการขนานขนามว่า “นักรบผ้าถุง” แต่วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ผู้ชุมนุมจากจะนะกลับถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง และมีผู้ถูกจับกุมตัวทั้งหมด 37 คน และในจำนวนนี้ 31 คน เป็นผู้หญิง

เมื่อชาวบ้าน “จะนะ” มาทวงสัญญา 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562 คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเห็นชอบให้เพิ่มพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตแห่งที่ 4 ของ “โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งก่อนหน้านี้มีแผนที่จะพัฒนา 3 เมืองหลัก ได้แก่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา, อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส, และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี การประกาศพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งที่ 4 ที่อำเภอจะนะ ส่งผลให้เกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก 

วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ชาวบ้านจะนะตัดสินใจเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และให้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนเดินหน้าโครงการ กระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้เป็นตัวแทนรัฐบาล เดินทางมาพูดคุยเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน ก่อนจะทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าจะชะลอโครงการนี้ไปก่อน รวมถึงศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทันทีและจัดทำ SEA ซึ่งต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย 

ทว่าเวลาล่วงเลยมา 1 ปีก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากภาครัฐ ชาวบ้านเครือข่าย “จะนะรักษ์ถิ่น” จึงเดินทางมาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เพื่อทวงถามความคืบหน้าและสัญญาที่รัฐบาลเคยให้ไว้ โดยประกาศค้างคืนหลายวันจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่พอใจจากการเรียกร้องในครั้งนี้ 

ความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชนที่ไร้ทางสู้ 

“เราออกไปปกป้องบ้านของเรา แต่เขาบอกว่าเราเป็นคนก้าวร้าว เราไปนั่งเรียบร้อย เราแค่ไปทวงคำสัญญาปีที่แล้วก็เท่านั้น แต่ไม่มีใครออกมาถามเราว่าไปนั่งทำอะไรกันตรงนั้น จนกระทั่งเราโดนสลายรอเยาะห์ หวะหลำ เริ่มต้นเล่าพร้อมน้ำตาคลอเบ้า  

เวลา 19.30 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม หลังจากชาวบ้านจะนะปักหลักชุมนุมได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง ตำรวจในพื้นที่เริ่มปิดการจราจรและเจรจากับตัวแทนเพื่อขอให้ย้ายพื้นที่ชุมนุม มะคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “ตำรวจบอกให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วจะชุมนุมเป็นเดือนเลยก็ได้” แต่ชาวบ้านก็ยืนยันจะไม่ย้าย จนกระทั่งเวลา 21.00 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ประมาณ 100 นาย ได้บุกเข้าจับชาวจะนะ และสามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้ทั้งหมด 37 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงถึง 31 คน 

“ตอนที่รู้ว่าเขาจะมาสลาย มะก็รีบโทรหาหลาน หลานน้ำตาคลอเลย ตอนนั้นมะนึกถึงหน้าหลานอย่างเดียว มะทิ้งหลานไว้ที่บ้านคนเดียว ใจของมะไม่รู้จะตายหรือจะอยู่ ไม่รู้จะได้เจอหลานอีกไหม ถูกสลายก็ไม่รู้เขาจะเอาเราไปไว้ที่ไหน มะก็ร้องไห้โฮเลย แล้วตอนนั้นมะก็อยู่กับเมาะ (แม่) ที่มาจากเทพา กอดเมาะเอาไว้ จนเมาะคนนั้นเป็นลมเลย ตำรวจผู้หญิงก็บอกให้มะปล่อย แต่มะก็ดึงมือเอาไว้ จนสุดท้ายก็ต้องปล่อยไป เพราะคนอื่นเขาไปหมดเลย รองเท้าก็ไม่ได้ใส่ เขาลากไปเลย” วรรณี หลำยะสิทธิ เล่าเหตุการณ์ตอนโดนสลายการชุมนุมให้ฟัง พร้อมเช็ดน้ำตา

“เราไปนั่งอยู่หน้าทำเนียบ ไปเรียกร้องสิทธิ์ของเรา แต่แป๊บเดียวเขาก็มาสลายเราแล้ว บางคนยังไม่ได้ละหมาดเลย ตอนนั้นเราก็ตกใจเหมือนกัน ทำไมเขาถึงมาทำกับเราแบบนี้” สำส๊ะ หลีกันช๊ะ อีกหนึ่งคนที่โดนจับกุม เล่าเสริม

มะทุกคนเล่าถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันนั้นด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ บางคนน้ำตาไหลแค่คิดถึงวินาทีที่โดนตำรวจหญิง 4 นายอุ้มขึ้นรถ มะวัย 70 คนหนึ่งเล่าว่า “มะลุกขึ้นจะไปเอารองเท้า ก็ไม่คิดว่าเขาจะมาจับ แต่มะโดนจับไปคนแรกเลย” เธอเล่าได้เพียงเท่านี้ ก่อนจะยกมือขึ้นปิดหน้าพร้อมเสียงสะอื้น เธอไม่สามารถเล่าเหตุการณ์ในค่ำคืนนั้นต่อได้ 

การบุกเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้กลายเป็นข้อถกเถียงว่าว่ารัฐทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ เนื่องจากผู้ชุมนุมดำเนินการอย่างสันติ ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ยังกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ พร้อมฉายไฟใส่จนสื่อมวลชนไม่สามารถถ่ายภาพเหตุการณ์เอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้ชี้แจงในวันต่อมา ว่านายกฯ ไม่ได้สั่งสลายการชุมนุมในครั้งนี้ 

ยืนหยัดสู้แม้โดนคดี 

“เราเข้าไปทำอาหารอยู่ในครัว ก็ได้ยินคนมาบอกว่าเขาจะสลายการชุมนุม เขาไม่ให้เราอยู่ตรงนี้ แต่ก็เงียบไป เขาก็คงรอให้ถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อะไรนั่นแหละมั้ง แต่หลังจากที่เขามาสลาย กี่โมงก็ไม่แน่ใจเพราะกำลังกลัว เราก็อุ่นใจที่ได้ใส่กางเกงไว้ข้างในแล้ว นุ่งผ้าถุงแล้ว เพราะมีผ้าถุงเอาไว้ห่มแล้วมาดิย๊ะ มะเสาะ มะผู้ทำหน้าที่แม่ครัวในพื้นที่ชุมนุมเล่าย้อนไป พร้อมอธิบายว่าเหตุผลที่เหล่ามะถูกเรียกว่า “นักรบผ้าถุง” เพราะเหล่ามะชอบนุ่งผ้าถุง ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือขึ้นไปชุมนุมที่กรุงเทพ 

หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ชาวบ้านทั้งหมดก็ถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และถูกควบคุมตัวอยู่ตรงนั้นจนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ในช่วงบ่ายของวันที่ 7 ธันวาคม 2564 ผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) กีดขวางการจราจรและแขวนป้ายกีดขวาง โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ปฏิบัติตตามคำสั่งเจ้าพนักงาน 

แม้จะต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐและยังมีบางส่วนที่รู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่นักรบผ้าถุงทุกคนก็ดีใจที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง คดีความที่เกิดขึ้นคือหลักฐานว่าพวกเธอได้ลุกขึ้นต่อสู้กับภาครัฐ ที่ต้องการจะช่วงชิงที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านแห่งจะนะ 

เราก็คิดแหละว่าเราขึ้นไปครั้งนี้ เราอาจจะโดนคดี แต่เราก็เต็มใจที่จะไป ถึงแม้เราจะโดนคดี แต่ก็เป็นไงเป็นกัน ครั้งนี้บ้านของเราต้องอยู่รอด ลูกหลานของเราต้องได้ใช้ทรัพยากรที่เราใช้อยู่ มันเป็นคดีที่น่าภูมิใจเพราะมันเป็นการปกป้องบ้านเกิด ปกป้องทรัพยากรให้ลูกหลาน เราทุกคนไม่มีใครรู้สึกกลัวหรือกังวล แม้ข้างหลังของแต่ละคนจะไม่ได้สะดวกสบายหรือพร้อมที่จะให้เราไปนั่งหน้าทำเนียบได้เป็นเดือน ๆ แต่เราจำเป็นต้องไป เพราะจุดหมายของเรามันยิ่งใหญ่กว่า” มูดี โต๊ะกาวี อีกหนึ่งนักรบผ้าถุง จับไมค์เล่าให้ทุกคนฟังอย่างภาคภูมิใจ 

ปกป้องเอาไว้ให้ลูกให้หลาน 

“มะไม่อยากให้อำเภอจะนะเป็นเหมือนอำเภอมาบตาพุด เพราะมะไปดูมาแล้ว มันก็รับไม่ได้ถ้าบ้านเราจะกลายเป็นแบบนั้น ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้ ใครจะมาสู้กับเราล่ะ เราไม่อยากไปจากบ้านเราหรอกค่ะ เพราะที่นี่อากาศก็ดี สะดวกสบาย แล้วเราก็อยากให้อากาศบริสุทธิ์อยู่กับลูกหลานของเรา” มาดิย๊ะกล่าว 

มะทุกคนมุ่งมั่นที่จะปกป้องทะเลจะนะซึ่งมีความสมบูรณ์เอาไว้ให้ลูกหลาน แม้รู้ว่าการขึ้นไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ ต้องอยู่อย่างยากลำบาก ต้องนอนกลางดิน กินกลางทราย แต่มะเหล่านี้ก็ไม่เคยหวั่น “พวกเราอดทนแค่ 10 วัน แต่ถ้าเราไม่ลุกขึ้นไปสู้ ลูกหลานของเราจะอดอยากไปเป็นร้อย ๆ ปีหลังจากที่เราได้สิ้นไปแล้ว” มาดีพูด 

“เราจะคัดค้านจนถึงที่สุด” วรรณีระบุด้วยน้ำเสียงสั่นเครืออีกครั้ง “เราจะเก็บเอาไว้ให้ลูกหลาน เราอยู่ได้ไม่นานแล้วล่ะ แต่ลูกหลานเราอยู่นาน เพราะทะเลเขาสร้างทุกสิ่งทุกอย่างให้เราแล้ว”  

ขณะที่มัยมูเนาะ ชัยบุตรดี เล่าว่า ทะเลจะนะมีความอุดมสมบูรณ์ สร้างวิถีชีวิตที่เรียบง่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ และเป็นรายได้ของชาวบ้านทุกช่วงวัย อย่างไรก็ตาม มัยมูเนาะก็สะท้อนว่า ไม่ใช่ชาวบ้านจะไม่ต้องการการพัฒนา แต่คงจะดีกว่าหากภาครัฐลงมาดูแลและร่วมมือกับชาวบ้านในการพัฒนาพื้นที่ 

“การพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ ชาวบ้านอยากได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าพัฒนาแล้วมันทำให้ชีวิตเขาล้มเหลว ชีวิตครอบครัวต้องล่มสลาย เขาไม่รู้ว่าต้องไปอยู่ไหน รัฐบาลบอกว่าถ้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจะให้เราไปอยู่ “บ้านเปี่ยมสุข” เราก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน แล้วหมู่บ้านเปี่ยมสุขมีอะไรให้พี่น้องทำ” เธอระบุ “เราถึงยอมโดนคดีเพื่อแลกกับทะเลของเรา สู้แล้วก็จะสู้อยู่แบบนี้แหละ เพราะว่าเราจะเก็บความสมบูรณ์และอากาศไปให้ถึงชั่วลูกชั่วหลานของเรา” 

ผู้หญิงคือผู้กล้าหาญ 

ข่าวการจับกุมผู้ชุมนุมชาวจะนะทั้งหมด 37 คน และเป็นผู้หญิงถึง 31 คน ทำให้ “บางคน” วิพากษ์วิจารณ์ว่าการชุมนุมในครั้งนี้ใช้ “ผู้หญิง” มาบังหน้าเพื่อเรียกร้อง “ดราม่า” และความสนใจ การตั้งข้อสังเกตดังกล่าวเรียกเสียงหัวเราะครึกครื้นจากเหล่ามะ ก่อนที่มะจะตอบว่าไม่มีอะไรซับซ้อน “ผู้ชายไปหาเงิน แล้วให้ผู้หญิงไปปกป้องบ้านเมือง” ก็เท่านั้น

เขาถามว่าทำไมไปเฉพาะผู้หญิง เพราะว่าผู้ชายต้องออกเรือ ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัว คนที่บ้านเลยคุยกันว่าเอาผู้หญิงไปดีไหม เพราะเราก็เป็นแม่บ้านอยู่แล้ว ไม่ได้ทำงานอะไรมัยมูเนาะอธิบาย 

ทางด้านบ่าวยะ ระหมันยะ ซึ่งลูกชายและภรรยาต่างโดนคดีจากการชุมนุมในครั้งนี้ ก็เล่าให้ฟังว่า นอกจากรายได้ที่มาจากท้องทะเลแล้ว ทะเลจะนะยังทำให้ “บ้านกลับมาเป็นบ้าน” ผู้ชายที่ต้องออกไปทำงานต่างพื้นที่ สามารถกลับมาทำงานที่บ้านและอยู่กันพร้อมหน้ากับครอบครัว แต่ด้วยหน้าที่ “หาเงิน” ทำให้เขาไม่สามารถขึ้นไปชุมนุมกับพี่น้องได้ เขาจึงออกทะเลหาปลาและส่งเงินไปให้กับ “นักรบผ้าถุง” ที่ไปสู้ที่กรุงเทพฯ แทน

“เรามาดูไลฟ์กันทุกคน ตอนแฟนอยู่กรุงเทพฯ ผู้ชายก็ชวนกันมารวมตัวที่นี่ เพื่อมาดูเหตุการณ์ เรามาดูกันทุกคืน มาให้กำลังใจ มาบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนเรารู้ว่าเขาโดนจับ เราไม่โกรธหรอก เพราะทุกคนรู้และเตรียมตัวเอาไว้แล้วว่าต้องโดน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ครั้งนี้หรือครั้งหน้า” บ่าวยะเล่า 

“คนที่ขึ้นไปเขาเป็นหน่วยกล้าตายทั้งนั้น เขาพร้อม เพราะถ้าไม่สู้ ก็คงไม่เหลืออะไร แต่ผมเสียใจอยู่อย่างเดียว คือเราแค่ไปทวงสัญญาแต่ก็ยังโดนจับ” เขาเล่าต่อ ก่อนจะเงียบไปนาน 

ความละเอียดอ่อนที่รัฐต้องรับฟัง 

นอกจากปัจจัยเรื่องธรรมชาติที่สมบูรณ์ของอำเภอจะนะแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องศาสนาที่รัฐอาจต้องคำนึงถึงด้วย โดยบาบอ (ผู้นำศาสนา) ของชาวบ้านจะนะ ชี้ว่า เหตุผลที่คนจะนะลุกขึ้นมาคัดค้าน เพราะในชุมชนของพวกเขามีมัสยิดซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในการทำละหมาด และมี “กุโบร์” หรือสุสาน ซึ่งตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว สถานที่เหล่านี้ “ห้ามโยกย้าย ห้ามทำลาย” 

“เราจะย้ายไม่ได้ เราจะทำลายไม่ได้ แต่เราไปเห็นที่ระยองมา วัดถูกย้าย โรงเรียนถูกย้าย โรงพยาบาลยังถูกย้าย เราก็กังวลว่าพื้นที่เขตที่เขาขีดเส้นให้เรา มันใกล้กับมัสยิดของเราเหลือเกิน มันใกล้กับกุโบร์สุสานของเรา ถ้าวันหนึ่งเราต้องย้าย มันก็เป็นหน้าที่ของเราว่าต้องตอบพระเจ้าอย่างไร มันอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่เรามีบทเรียน ในเมื่อคุณย้ายโรงพยาบาล ย้ายโรงเรียน ย้ายวัดได้ สักวันคุณก็ต้องย้ายมัสยิดได้” บาบออธิบาย

แม้การต่อสู้กับภาครัฐเพื่อปกป้องบ้านของชาวบ้านจะยังคงดำเนินต่อไป แต่เหล่ามะก็ยืนยันว่า “พร้อมมาก” และไม่กลัวที่จะถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะอีกกี่ครั้งก็ตาม เพื่อรักษาท้องทะเลและอากาศบริสุทธิ์ไว้ให้ลูกหลานของพวกเธอ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจะนะก็หวังว่าภาครัฐจะลงมาที่พื้นที่และทำการศึกษาเพื่อนำการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงมาให้พวกเขา 

“ถ้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้นกับบ้านของเรา พวกเราจะหากินยังไง หาดสวยที่ยาวไปจะยังอยู่ไหมถ้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แล้วอากาศหายใจ อากาศบริสุทธิ์แบบนี้อีกไหม แล้วนกเขาชวาราคาเป็นล้าน ๆ ของเราจะเป็นอะไรไหม เรามาศึกษากันก่อนดีไหม เราไม่ได้คัดค้านหัวชนฝา” มัยมูเนาะกล่าวปิดท้าย

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ “นักรบผ้าถุง” เมื่อเหล่า “มะ” ลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องท้องทะเล “จะนะ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook