พิษมาบตาพุดทำป่วนทั้งประเทศ

พิษมาบตาพุดทำป่วนทั้งประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กฎหมายพิการสอนบทเรียนรัฐ

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้คำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้ 8 หน่วยงานสั่งระงับโครงการหรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อุตสาหกรรมมาบตาพุด 65 โครงการ และให้เดินหน้าต่อไปได้ 11 โครงการ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ที่คอยดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ส่งต่อชุมชนและสุขภาพของคน

ท่ามกลางความดีใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ฟ้องร้องและชุมชนที่ชีวิตต้องอยู่กับความเสี่ยงกับมลพิษในทุก ๆ วัน เพราะเรื่องนี้ใครไม่โดนด้วยตัวเองก็ไม่รู้ว่ามันทรมานแค่ไหนอย่างไร

ต่างจากอาการผู้ประกอบการอย่างสิ้นเชิงที่ได้ยินคำตัดสินของศาลแล้วเกิดอาการช็อกไปตาม ๆ กัน เพราะส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของรัฐบาลทุกอย่าง ไม่ได้ลัดขั้นตอนหรือลักไก่แต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าเห็นใจที่หลายรายต่างกู้เงินหลักพันหรือหลักหมื่นล้านบาทในการก่อสร้างไปแล้วแต่ก็ต้องหยุดทุกสิ่งทุกอย่างลงอย่างไม่มีอนาคต

ทันทีที่รับทราบคำสั่งศาลปกครอง สูงสุด ฟากตัวแทนนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย อย่าง นายนันดอร์ วอนเดอร์ลู ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย (เจเอฟซีซีที) ก็ออกตัวทันทีว่า แม้ทุกฝ่ายต้องเคารพการตัดสินของศาลอยู่แล้ว แต่การตัดสินครั้งนี้ก็พูดกันตรง ๆ ว่า ทำให้นักลงทุนมีความกังวล เพราะเป็นการตัดสินที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยเอง เพราะโครงการเหล่านี้ทำตาม ขั้นตอนทุกอย่างแล้ว

การตัดสินครั้งนี้มีผลต่อการลงทุนทั้งประเทศไม่ใช่แค่เฉพาะการลงทุนในมาบตาพุดอย่างเดียว ซึ่งในสถานการณ์นี้มองว่าเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยง ทั้งการจ้างงาน การลงทุน เศรษฐกิจ และภาระดอกเบี้ยจากเงินกู้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นที่ต้องมีกฎระเบียบชัดเจนออกมา แต่คำสั่งศาลครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนเพราะยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี

ขณะที่ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ยืนยันว่า ภาคเอกชนพร้อมจะน้อมรับคำสั่งของศาล เพราะถือว่าเป็นคำตัดสินสูงสุดแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือในส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่เค้าคงไม่เข้าใจประเทศไทยว่าทำไมเป็นถึงขนาดนี้

เหตุผลสั้น ๆ คือข้อกฎหมายมีความขัดแย้งกันเองจึงทำให้นักลงทุนต่างชาติงงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเมืองไทย เพราะก่อนหน้านี้ภาครัฐออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างลงทุนไปแล้วและนักลงทุนก็ไม่ได้ทำผิดอะไร ดังนั้นในปี 53 อาจเป็นวิกฤติของภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างหนัก

ตอนนี้ประเทศที่นั่งยิ้มอยู่แล้ว คือ เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ จีน เพราะมั่นใจว่าอาจจะดึงนักลงทุนต่างประเทศที่ไม่กล้ามาลงทุนในไทยได้บางส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขากลุ่มปิโตรเคมี เหล็ก โรงไฟฟ้า และกำจัดของเสีย เป็นต้น ซึ่งในปีหน้าอาจทำให้ไทยสูญเสียโอกาสจากเม็ดเงินของบริษัทข้ามชาติ 2-3 แสนล้านบาท ที่กำลังพิจารณามาลงทุนในไทยแล้วต้องชะลอแผนหรือไปดูลู่ทางประเทศอื่นแทน

ทั้งนี้สิ่งที่เอกชนต้องการฝากรัฐบาลเป็นการบ้าน เพราะยังไง ๆ เหตุการณ์มันก็ผ่านไปแล้วคงย้อนกลับมาไม่ได้ คือ ต้องจัดทำแผนประเทศไทยใหม่ว่าเอาให้ชัดว่าไทยต้องการที่จะเอาภาคอุตสาหกรรมหรือไม่ แต่หากเน้นเฉพาะภาคการเกษตร ก็ต้องเตรียมแผนชัดเจนไว้สู้กับประเทศเวียดนามด้วย

หรือแม้แต่ นายสมมาต ขุนเศรษฐ รองเลขาธิการ สอท. อีกรายก็กล่าวอย่าง มีอารมณ์ว่า หากเกิดความเสียหายขึ้น เอกชนอาจจะต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อภาครัฐบาลได้ เพราะเอกชนไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบอย่างใด

เวลานี้ไทยสวนกระแสโลกประเทศอื่น ๆ เพราะเค้ามีแต่จะสร้างบรรยากาศลงทุนที่ดีขึ้น แม้กระทั่งลดค่าเงินก็ยังทำ ยิ่งถ้าเกิดต้องฟ้องร้องอีก 181 โครงการทั่วประเทศที่มีลักษณะคล้ายกับ 65 โครงการด้วยอีกรับรองลงทุนใหม่ทำใจไว้เลยว่าลำบากแน่

ส่วน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน สอท. อีกรายหนึ่งก็ออกมาจี้ให้รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐทั้ง 8 ที่ถูกฟ้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งหามาตรการด่วนที่สุดเพื่อให้ทั้งหมดเดินหน้าต่อไปได้

เนื่องจากผลกระทบครั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งออกมาวิเคราะห์ในลักษณะที่ใกล้เคียงกันว่ามีธุรกิจได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวงนับเป็นมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท เพราะโครงการส่วนใหญ่ที่ถูกระงับเป็นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นบริษัทรายใหญ่ระดับหัวแถวของไทย เช่น บริษัทในเครือของปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีซีมากถึง 18 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการใหม่ และโครงการขอขยายกำลังการผลิต เงินลงทุนรวม 5.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มปตท. ก็ไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ มีมูลค่าลงทุน 6 หมื่นล้านบาท

บทวิเคราะห์บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า ในแง่เลวร้ายสุดหากต้องเลื่อนโครงการไป 1 ปีจะกระทบกำไรบริษัทที่เกี่ยวข้องลด 20-30% โดยปตท.เคมิคอล ได้รับผลกระทบหนักสุด กำไรลด 27% ส่วนราคาหุ้นน่าจะเหลือ 72 บาท จากเดิม 95 บาท ขณะที่หุ้นตัวอื่น เช่น ปตท., ปตท.เออาร์, เอสซีจี, ได้รับผลกระทบแน่นอน ขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งก็ได้รับผลกระทบเช่นกันโดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยที่ปล่อยสินเชื่อในโครง การมาบตาพุดมากสุด

ด้าน นายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. มติกส์และการกลั่น (ปตท.เออาร์) ซึ่งอยู่ในเครือของ ปตท. ยอมรับว่าผลกระทบในมาบตาพุดส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่อ่อนไหว โดยภาคเอกชนต้องการเห็นข้อกำหนดของภาครัฐให้มีความชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่ทราบว่าการดำเนินการตามกฎหมายทั้งหมดก่อนหน้านี้จะถูกเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ แต่เชื่อว่าทั้งภาครัฐและส่วนอื่นจะเร่งสร้างความชัดเจนโดยเร็ว

โดยในส่วนของกลุ่มภาคเอกชนจะหารือร่วมกันว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแนวทางใดบ้าง เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าร่วมกันให้ได้มากที่สุด ที่ผ่านมาภาคเอกชนดำเนินการตามกฎหมายและคำนึงถึงผลกระทบ สิ่งแวดล้อมและประชาชนมาตลอด

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นสั่งระงับ 76 โครงการ เป็นของ ปตท. ถึง 25 โครงการ วงเงินลงทุน 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง 76 โครงการนั้นจะก่อให้เกิดการ จ้างงาน การลงทุน และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ รวม 3 แสนล้านบาท หากสะดุดการก่อสร้างจะเดินหน้าไม่ได้ รวมถึงความไม่เชื่อมั่นต่อโครงการเงินกู้ต่าง ๆ ทั้งนักลงทุนและสถาบันการเงินจะเริ่มมองเห็นความไม่แน่นอนเกิดขึ้น

ขณะที่ นายชลธร ดำรงศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมคุณภาพงาน กลุ่มเอสซีจี มองว่าปัจจุบันหลายบริษัทให้ความ สำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างมากเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านในพื้นที่ดังนั้นไม่ควรมองว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ร้าย เบื้องต้นยอมรับว่ากฎหมายการควบคุมมลพิษจากโรงงานของไทยจะมีความเข้มงวดมากกว่าระดับสากลอย่างมาก ซึ่งน่าภูมิใจที่บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากก็ยังเข้มงวดและดูแลสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้อีก

ขณะเดียวกันเอสซีจียังส่งเสริมให้เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมพิเศษเชิงนิเวศหรืออีโคทาวน์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ประกอบด้วย 1. การสร้างเมืองที่มีอุตสาห กรรมดูแลสิ่งแวดล้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดมลพิษเพิ่ม 2. สร้างพื้นที่อุตสาหกรรมกำจัดของเสียม รีไซเคิลใหม่ และ 3. สร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานกับชุมชน

กลับมาดูความเห็นฟากของตัวแทนชาวบ้านอย่าง นายสุทธิ อัชฌาสัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เห็นว่า คำตัดสินของศาลถือว่ามีความเป็นธรรมที่สุดแล้วในการสั่งให้ระงับทั้ง 65 โครงการ เพราะเป็นโครงการที่ไม่ได้ทำตามรัฐธรรมนูญตามมาตรการ 67(2) ส่วนอีก 11 โครงการที่ศาลฯ สั่งให้เดินหน้าต่อไปได้นั้นถือว่ามีความเหมาะสม เพราะเป็นโครงการที่ส่งผลไม่กระทบรุนแรงต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

การตัดสินเช่นนี้เป็นแนวทางที่ดีเพราะแสดงถึงความเข้มข้นของกฎหมายในการปกป้องชุมชน ที่สำคัญประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการปกป้องตนเอง

แม้จะสร้างความเสียหายแก่ภาคธุรกิจและบรรยากาศการลงทุนของประเทศไทยบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดระเบียบและการสร้างจิตสำนึกของทุก ๆ ฝ่ายให้มาสนใจสิ่งแวดล้อม ชุมชน และประชาชนมากขึ้น ซึ่งคำตัดสินของศาลท่านก็มีหน้าที่ดูแลให้ทุกอย่างปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศอย่างเคร่งครัด ในเมื่อจุดเริ่มต้นผิดก็ต้องแก้ไขต้นเหตุใหม่.

รายชื่อ 65 โครงการที่ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับ

1.ขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก บางกอกโพลีเอททีลีน จำกัด

2.ขยายส่วนผลิตเหล็กแผ่นปรับสภาพผิว จี สตีล จำกัด (มหาชน)

3.ผลิตสารเอทานอลเอมีน ไทยเอทานอล เอมีน จำกัด

4.ผลิตอีพ็อกซี่เรซิ่น อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

5.โรงงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อนเหล็กสยามยามาโตะ จำกัด

6.ผลิตแผ่นเหล็กเคลือบผิวส่วนขยาย สยามแผ่นเหล็กวิลาส จำกัด

7.ขยายการผลิตเหล็กแผ่นไร้สนิมรีดเย็นระยะที่ 3 ไทยน๊อคซ์ สแตนเลส จำกัด (มหาชน)

8.ขยายการผลิตเหล็กลวดสลักเกลียวและเหล็กเส้นกลม (มหาชน) ไทยคูน เวิลด์ไวด์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

9.ผลิตเอททีลีนออกไซด์และเอททีลีนไกลคอล ทีโอซี ไกลคอล จำกัด

10.ผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด

11.ผลิตบิสฟีนอลเอ พีทีที ฟีนอล จำกัด

12.ขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนต ไทยโพลีคาร์บอเนต จำกัด

13.ผลิตเมทิลเมตะคริเลต ไทยเอ็มเอ็มเอ จำกัด

14.ขยายกำลังการผลิตโพลีเอททีลีน สยามโพลีเอททีลีน จำกัด

15.ขยายกำลังการผลิตผงพลาสติก โพลีไวนิลคลอไรด์ ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด

16.ขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด

17.ผลิตสารโพรพิลีนออกไซด์และสารโพรพิลีนไกลคอล เอ็มพีที เอชพีพีโอ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด

18.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออกส่วนขยายการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัท อิสเทิร์นอินดัสเตรียล เอสเตท

19.โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ปตท.

20.การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการผลิตสารฟีนอล พีทีที ฟีนอล จำกัด

21.ผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด

22.ผลิตโพลีเอททีลีน สยามโพลีเอททีลีน จำกัด

23.ขยายกำลังการผลิตบิสฟีนอลเอ ไบเออร์ไทย จำกัด

24.นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อิสเทิร์นซีบอร์ด (ส่วนขยาย)การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและบริษัทเหมราช อิสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด

25.ขยายโรงงานคลอร์อัลคาไลน์และปรับปรุงการ ผลิตโรงงานของไวนิล วีนิไทย จำกัด (มหาชน)

26.ขยายกำลังการผลิตโพลีเอททีลีน ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

27.ผลิตบิสฟีนอลเอ พีทีที ฟีนอล จำกัด

28.ผลิตเหล็ก ถลุงหลอมเหลว และผลิตเหล็กแท่ง เอสโค รีซอเซส พีทีอี (จำกัด)

29.ผลิตเอ็นบีอาร์ ลาเท็ก กรุงเทพ ซินอิติกส์ จำกัด

30.เพิ่มกำลังผลิตไนลอน อูเบะ ไนล31.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดวิธีจัดการพีทีเอและซีทีเอ สยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด

32.ผลิตเหล็กเส้น บี อาร์ พี สตีล จำกัด

33.การเปลี่ยนรายละเอียดโครงการติดตั้งไฮโดรคาร์บอน สครับเบอร์ กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด

34.ขยายกำลังการผลิตฟอร์มาลดีไฮด์และยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ ทวนชัย เคมีคอล อินดัสทรี่ส์ จำกัด

35.ติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)

36.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโรงงานผลิตสารโพรพิลีนออกไซด์และสารโพรพิลีนไกลคอล เอ็มทีพี เอชพีพีโอ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด

37.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโรงงานผลิตโพลีเอททีลีนสยามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด

38.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก โพลีเอททีลีน ไทยโพลีเอททีลีน จำกัด

39.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดปรับปรุงโรงผลิตสารโอเลฟินส์ ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

40.ผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต พีทีที เคมิคอล จำกัด

41.ผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด

42.เปลี่ยนแปลงรายละเอียดขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก บางกอกโพลิเอททีลีน จำกัด (มหาชน)

43.เพิ่มกำลังการผลิตพีอีทีไทยเพ็ท เรซิ่น จำกัด

44.ขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนตไบเออร์ไทย จำกัด

45.ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโรงงานโอเลฟินส์ เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด

46.ขยายกำลังการผลิตโพลีเอททีลีน ปตท.เคมีคอล จำกัด (มหาชน)

47.ผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอททีลีน ไทยโพลีเอททีลีน จำกัด

48.นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล (ส่วนขยาย) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ บริษัท อาร์ ไอ แอล 1996 จำกัด

49.เปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบโลหะ และเหล็กเคลือบสังกะสีบูลสโคป สตีล (ประเทศไทย) จำกัด

50.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมการเพิ่มกำลังการผลิตยางสังเคราะห์บี เอส ที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด

51.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนเอ็มทีพี เอสพี เจวี (ประเทศไทย) จำกัด

52.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขยายกำลังผลิตผงพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)

53.เขตอุตสาหกรรม ไอพีพี ไอ.พี.พี. (ไทยแลนด์) จำกัด

54.ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เจเอฟอี สตีลกัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

55.ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีเจเอฟอี สตีลกัลวาไนซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

56.ส่วนอุตสาหกรรมปลวกแดง ส่วนอุตสาหกรรมปลวกแดง จำกัด

57.ศูนย์บริการกำจัดของเสียอุตสาหกรรมสยามเอ็นไวรอนแมนทอลเทคโนโลยี่ จำกัด

58.ศูนย์สาธารณูปโภคกลางแห่งที่สอง พีพีที ยูทิลิตี้ จำกัด

59.เปลี่ยนโครงการท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ ปตท.เคมิคอล

60.ขยายท่าเรือขนถ่ายสารปิโตรเคมีและคลังเก็บวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด

61.ขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายสารปิโตรเคมีมาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด

62.โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมโกลว์ เหมราช พลังงาน จำกัด

63.ท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบริษัทพีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

และบริษัทมาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด

64.ท่อส่งสารปิโตรเคมี สไตรีนโมโนเมอร์ จำกัด, สยามโพลีเอททิลีน จำกัด และ ระยองโอลิฟินส์ จำกัด

65.โรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรมอมตะ สตรีม ซัพพลาย จำกัด

ทีมเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook