จีนถวายรางวัลพระเทพฯ 1ใน10 มิตรที่ดีที่สุด

จีนถวายรางวัลพระเทพฯ 1ใน10 มิตรที่ดีที่สุด

จีนถวายรางวัลพระเทพฯ 1ใน10 มิตรที่ดีที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จฯ ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "มิตรที่ดีที่สุดในโลกของชาวจีน" พร้อมรับสั่งเป็นเพราะสมเด็จพระบรมราชินีนาถสนับสนุนให้เรียนภาษาจีน

เมื่อเวลา 05.30 น. วันที่ 8 ธันวาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับเครื่องบินของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด เที่ยวบินที่พีจี 1 เสด็จฯ ออกจากท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "มิตรนานาชาติสิบอันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน" จากการลงคะแนนคัดเลือกของประชาชนชาวจีนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อร่วมฉลองในโอกาสครบ 60 ปี ของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงพระองค์เดียวที่ได้รางวัลดังกล่าว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการคัดเลือกจากประชาชนจีนให้เป็น 1 ใน 10 มิตรที่ดีที่สุดในโลกของชาวจีนด้วยคะแนนสูงมากจากกิจกรรมคัดเลือกมิตรที่ดีที่สุดในโลก 10 อันดับแรกของชาวจีนทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสถานีวิทยุซีอาร์ไอร่วมกับสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน และกรมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแห่งประเทศจีนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมครั้งนี้

เว็บไซต์ thai.cri.cn ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน รายงานว่า เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทราบเรื่องนี้ พระองค์ทรงปลื้มปีติ ทรงแย้มพระสรวล พร้อมมีพระราชดำรัสว่า "การที่ข้าพเจ้าได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในมิตรที่ดีที่สุด 10 อันดับแรกในโลกของชาวจีนนั้น แสดงให้เห็นว่าข้าพเจ้าได้รับการยอมรับจากเยาวชนจีน ขณะเดียวกันข้าพเจ้ารู้สึกดีใจที่ได้รับความนิยมจากมิตรชาวจีนพร้อมกับมิตรที่ดีที่สุดของจีนคนอื่นๆ"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสขณะพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุซีอาร์ไอว่า

"มิตรที่ดีที่สุดของจีนในโลกคนอื่นๆ ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก พวกเขาได้สร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงแก่จีน ข้าพเจ้าต้องศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากจากพวกเขา ถ้ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้สร้างคุณูปการต่อการส่งเสริมการแลกเปลี่ยน และพัฒนามิตรสัมพันธ์กับจีน เราก็ต้องแนะนำบุคคลเหล่านี้ให้ชาวจีนรู้จัก"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนเป็นพิเศษ ขณะพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ ทรงเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังถึงสาเหตุที่เลือกเรียนภาษาจีนว่า เป็นข้อเสนอของสมเด็จแม่ (สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ)

"ตอนนั้น ข้าพเจ้าเพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ตอนแรกข้าพเจ้าคิดว่าจะเลือกเรียนภาษาเยอรมัน แต่สมเด็จแม่ได้รับสั่งว่า เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนเป็นภาษาตะวันตก คิดว่าน่าจะเรียนภาษาจีน ภาษาจีนเป็นภาษาประเทศตะวันออก คิดว่าคงจะเป็นประโยชน์มากกว่า ข้าพเจ้าคิดว่า การเลือกเช่นนี้ถูกต้อง"

นับแต่นั้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนพระราชหฤทัยวัฒนธรรมจีนอย่างมาก ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนด้วยความพากเพียรวิริยะ โดยทรงรับการถวายการสอนจากครูสอนภาษาจีน 9 ท่านตามลำดับ จนไม่เพียงแต่มีพระราชกระแสรับสั่งด้วยภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วเท่านั้น หากยังทรงพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีน และนวนิยายจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง และสมัยราชวงศ์ซ่งของจีนอย่างมากและลึกซึ้ง ทรงพระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีนสมัยราชวงศ์ถังกว่า 100 บท เป็นภาษาไทย

นอกจากทรงศึกษาบทร้อยกรองและบทกวีจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงพระปรีชาด้านวรรณกรรมยุคปัจจุบันของจีนอย่างมากและลึกซึ้ง ทรงพระราชนิพนธ์แปลนวนิยายของนายหวังเหมิง นักเขียนจีนเรื่อง "ผีเสื้อ" และผลงานของนางฟังฟัง นักเขียนจีนเรื่อง "เมฆเหิน น้ำไหล" เป็นภาษาไทย ทรงถ่ายทอดชีวิตสังคมจีนให้คนไทยรู้จัก

หลังจากทรงศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงหวังที่จะสัมผัสสังคมจีนและการใช้ชีวิตในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีนกว่า 20 ครั้ง ทรงทัศนศึกษาทั่วประเทศจีน ทุกครั้งที่ทรงเสร็จสิ้นพระราชกรณียกิจในการเสด็จฯ เยือนจีน พระองค์ทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ทรงพบเห็น ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง "ย่ำแดนมังกร" "ใต้เมฆที่เมฆใต้" "มุ่งไกลในรอยทราย" พระราชนิพนธ์เหล่านี้ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในประเทศไทย และมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประชาชนไทยเข้าใจและเรียนรู้ประเทศจีนได้มากขึ้น

ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เสด็จฯ เยือนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1981 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นสักขีพยานในการเปลี่ยนแปลงของจีนหลังดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชดำรัสว่า

"28 ปีนี้ รู้สึกว่าประเทศจีนเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ว่า คนจีนและสถานที่ต่างๆ ในประเทศจีนก็มีลักษณะเป็นสากลมากขึ้น สิ่งที่ในโลกนี้มี ในเมืองจีนก็มีทั้งนั้น จีนติดต่อด้วยกันง่ายขึ้น รู้สึกว่าในด้านนี้จะเปลี่ยนแปลงมาก"

เนื่องจากพระองค์ทรงสร้างคุณูปการสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนและเสริมสร้างไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ เมื่อปี 2000 กระทรวงศึกษาธิการจีนทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "มิตรภาพด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน" เมื่อปี 2001 กองทุนวรรณคดีจงหวาของสมาคมนักเขียนจีนทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล "วรรณคดีนานาชาติด้านความเข้าใจและมิตรภาพ" ปี 2004 สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์ประชาชนจีนยกย่องให้ทรงเป็น "ทูตสันถวไมตรีมิตรของประชาชน" ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์มอบให้แก่มิตรชาวต่างชาติ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมให้เยาวชนไทยผูกมิตรกับจีน เรียนภาษาและวัฒนธรรมจีน พร้อมมีพระราชดำรัสว่า "ที่จริง เวลาเรียนอยู่ในประเทศไทย ถึงแม้ครูจะเก่ง สอนดี ก็ไม่เหมือนเวลาที่พบคนจีนในสถานการณ์จริง เพราะฉะนั้น เด็กไทยในสมัยนี้ก็สนใจเรียนภาษาจีนกัน เด็กไทยถ้าเรียนในห้องเรียนก็ไม่ค่อยได้ผล ถ้ามีโอกาสที่ว่ามีครูแลกเปลี่ยนที่มาจากจีนมาสอน หรือว่ามีโอกาสได้พบเด็กจีนบ้าง การเรียนน่าจะดีขึ้น"

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพรด้วยสองภาษาทั้งไทยและจีนว่า "ขอให้คนไทยและคนจีนศึกษาจากกันและกัน และให้มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เป็นเพื่อนกัน"

"ข้าพเจ้าหวังว่า คนไทยและคนจีนจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น"

สำหรับ "10 สุดยอดมิตรชาวต่างชาติของจีน" ด้วยการลงคะแนนเสียงของชาวเน็ตและการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสินการประกวดครั้งนี้ 10 อันดับแรกคือ 1.นายฮวน อันโตนิโอ ซามารานซ์ อดีตประธานโอลิมปิกสากล ชาวสเปน ที่เป็นผู้สนับสนุนให้จีนได้จัดกีฬาโอลิมปิกในปี 2008 2.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 3.Norman Bethune นายแพทย์ชาวแคนาดา ผู้เสียชีวิตในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ในปี 1930 โดยการรักษาชีวิตของทหารจีน 4.John Rabe ชาวเยอรมัน ผู้ช่วยชีวิตชาวจีน 2.5 แสนคน ระหว่างการสังหารโหดที่นานกิง โดยการรุกรานของญี่ปุ่น

5.Edgar Snow นักเขียนอเมริกัน ผู้เขียน "Red Star over China" in the 1930 ที่ทำให้กองทัพแดงและประธานเหมา เจ๋อตุง เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 6.Dr.Joseph Needham นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้ใช้เวลาเกือบ 50 ปี ในการประพันธ์ "Science and Civilisation in China" 7.Israel Epstein ชาวโปแลนด์เชื้อชาติจีน 8.นักการศึกษา นิวซีแลนด์ Rewi Alley 9.นายแพทย์ชาวอินเดีย Kwarkanath S. Kotnis และ 10. Morihiko Hiramatsu อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด Oita ประเทศญี่ปุ่น 8 สมัย ซึ่งเป็นผู้นำการพัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Village O?ne Product) ที่เรียกย่อว่า OVOP

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook