77ปีรัฐธรรมนูญไทย : ก้าวต่อไปเป็นอย่างไร?

77ปีรัฐธรรมนูญไทย : ก้าวต่อไปเป็นอย่างไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ นำโดยพระยาพหลพลหยุหเสนา ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นประชาธิปไตย โดยเข้ายึดอำนาจขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยยอมรับเหตุการณ์ทั้งหมดโดยสงบ จากนั้น ได้พระราชทานกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 10 ธ.ค. 2475

รัฐธรรมนูญนั้น ตามแนวคิดประชาธิปไตยตะวันตก ตั้งอยู่บนหลักการสามประการ คือ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการเสริมสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้กับรัฐบาล รัฐธรรมนูญไทยหลาย ๆ ฉบับได้นำมาเป็นเจตนารมณ์ในการตราบทบัญญัติ

หากนับจากปี พ.ศ. 2475 จนถึงวันนี้ ใน พ.ศ. 2552 ร่วม 77 ปี เส้นทางกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีต่าง ๆ จนกระทั่งเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ ซึ่งดูเหมือนจะขัดกับหลักสากลที่ว่า รัฐธรรมนูญควรเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ ควรมีความคงทนและถาวร ซึ่งได้มีการมองกันว่า รัฐธรรมนูญยังไม่สอดคล้องกับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งไม่ได้อยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการประจำ หรือคณะนายทหารระดับสูง รัฐธรรมนูญที่มุ่งจะใช้บังคับเป็นการถาวรมักถูกทำ รัฐประหารยกเลิก แล้วร่างใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรการเมืองของไทยมาเป็นเวลานานนับหลายสิบปี

จนไม่มีใครรับประกันได้อีก..ว่า แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ก็จะไม่ถูกรัฐประหาร

หากผลจากการเจริญเติบโตของสื่อ ประชาชนมีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ละครั้ง จะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ ว่าจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนไทยหรือไม่

โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกมองว่า เป็นผลพวงมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร แม้ว่ากระบวนการก่อนการบังคับใช้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หาก เหตุผล ที่ว่ามา ไม่เพียงพอที่จะยุติความขัดแย้งในสังคมไทย

จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ภายในกรอบการศึกษา 60 วัน จนได้ข้อสรุปว่า ส่วนที่ต้องแก้ไขคือ

1. มาตรา 237 ยกเลิกการยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิเฉพาะตัวผู้สมัครที่กระทำความผิด

2. ที่มาของ ส.ส.ให้ใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 40 โดยไม่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

3. ที่มาของ ส.ว.ให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 40 โดยต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

4. การทำหนังสือสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา มาตรา 190 ให้คงหลักการเดิม แต่เพิ่มเติมประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบ จากสภา

5. มาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เช่น เลขานุการรัฐมนตรี

6. มาตรา 266 ส.ส. และ ส.ว.ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส. และ ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ตัวเอง ผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ทั้งทางตรง ทางอ้อมในเรื่องต่อไปนี้ โดย (1) ระบุว่า การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โดยให้ตัดข้อความใน (1) ออก เพื่อให้ ส.ส. ส.ว. ช่วยแก้ปัญหาประชาชนผ่านส่วนราชการได้

ทั้งนี้ นายดิเรก เปิดเผยถึงเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เหลือเพียงขั้นตอนที่รัฐบาลจะต้องคิดว่า จะทำประชามติก่อน หรือเอาเข้าสภาก่อน และก็ยังมีปัญหาอีกว่า ฝ่ายค้านประท้วงเรื่องการทำประชามติ ว่า ควรจะทำครั้งเดียวทั้ง 6 ข้อ ไม่ใช่แยกทำทีละเรื่อง เพราะรัฐบาลจะเลือกรับเฉพาะเรื่องที่ตัวได้ประโยชน์ ดังนั้น สองฝ่ายต้องเปิดใจคุยกันได้แล้ว เพื่อบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่ตอนนี้ไม่ทราบจะเป็นอย่างไรต่อไป เราหยิบเฉพาะ 6 ข้อที่มีความเร่งด่วนมาก่อน ที่ทราบว่า เป็นความเร่งด่วน เพราะได้รับการร้องเรียนมามาก ถ้ามีใครมองว่ามันเป็นเฉพาะเรื่องของการเมือง แต่การเมือง ถ้าไม่มีเสถียรภาพมันก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมืองดี ภาพรวมประเทศก็ดี แต่ถ้าให้ประเมินรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ได้ช้า

นายดิเรก ได้พูดถึงวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญทิ้งท้ายไว้ว่า ผมยังยืนยันว่า ประเทศไทยเหมาะกับประชาธิปไตย วันที่ 10 ธันวาคมนี้ ความฝันของผม อยากเห็นรัฐธรรมนูญได้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ แต่ตอนนี้ก็ยังต้องยอมรับว่า มันมีความขัดแย้งอยู่ จะรอให้เห็นรัฐธรรมนูญแบบสวย ๆ คงยาก.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook