นายวิชญะ วิถีธรรม

นายวิชญะ วิถีธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นายวิชญะ วิถีธรรม โฆษกธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ในปี 53 ธพว. จะใช้นโยบายเชิงรุก โดยวางเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกประเภท 60,000 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะทำได้ หลังจากปรับโครงสร้างการทำงาน ใหม่ และให้ความมั่นใจกับพนักงานว่าจะเดินหน้าต่อไปด้วยกัน ไม่ปิดธนาคารแน่นอน ดังนั้นให้ร่วมใจกันทำงานเป็นทีม อย่ามัวแต่วิตกว่าทำอะไรแล้วจะโดนสอบสวน ขอให้ยึดความถูกต้องเป็นหลัก พร้อมทั้งกระจายอำนาจทำงานให้สาขามากขึ้นในการหาลูกค้ารายใหญ่เข้ามา เพื่อให้ทั้งพอร์ตลูก โดยไม่จำกัดวงเงินของลูกค้า ส่งผลให้แต่ละสาขามีลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมที่สาขาไม่ได้เน้นหาลูกค้ารายใหญ่เลย

ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ธพว.ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 39,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากปี 51 ที่ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 8,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในรอบ 7 ปี ส่งผลให้ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ธพว.เริ่มมีกำไรเฉลี่ยเดือนละ 30-40 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีนี้จะปล่อยสินเชื่อได้ทะลุเป้าหมาย 43,000 ล้านบาท และปีหน้าจะทำให้ธนาคารล้างขาดทุนสะสมและเริ่มมีผลกำไรด้วย

การทำแบงก์ ต้องไปเป็นพอร์ต ไม่ใช่แค่ลูกค้าไม่กี่ราย เมื่อทั้งสาขาและสำนักงานใหญ่เดินไปด้วยกัน ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลงด้วยโดยเหลือเพียง 1,000 ล้านบาทต่อปี ทั้ง ๆ ที่เรามีพอร์ตสินเชื่อใหญ่ขึ้น จึงสะท้อนให้เห็นว่าผลการดำเนินงานในปี 52 นี้ ถือว่าดีที่สุดในรอบ 7 ปีที่ก่อตั้งธนาคารขึ้นมา แม้ว่าจะยังล้างขาดทุนสะสมไม่หมด แต่เชื่อว่าในปี 53 จะสามารถกลบขาดทุนสะสมจากการดำเนินงานช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาได้ ซึ่งรายการหนักมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากการตกลงทำสัญญาออกตราสารบัตรเงินฝากอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (เอฟอาร์ซีดี) กว่า 2,000 ล้านบาท

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ปรับลดลง คาดว่าสิ้นปีนี้จะเหลือ 22,000 ล้านบาท ลดลงจากต้นปีที่ผ่านมาจาก 50% เหลือ 40% ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดย ธพว. มีแผนแก้ปัญหาเอ็นพีแอลอย่างจริงจังและให้เป็นงานหลักในปี 53 ด้วย ซึ่งกำลังแยกเอ็นพีแอลตามคุณภาพออกเป็น 3 กอง คือ หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งมีกว่า 4,000 รายการ รวมมูลหนี้ 1,000 ล้านบาทเศษ ที่จะว่าจ้างบริษัทบริหารหนี้มืออาชีพรับไปจัดการโดยใช้วิธีแบ่งผลกำไร (โฟร์ฟิตแชร์ริ่ง) คาดว่าเริ่มดำเนินการได้ในสิ้นปีนี้

ส่วนอีก 2 กองที่เหลือจะเริ่มดำเนินการในปีหน้าคือ หนี้ที่มีหลักประกัน แต่สภาพค่อนข้างแย่ ซึ่งยังคัดแยกไม่เสร็จ สุดท้ายคือ หนี้ที่มีสภาพดี คาดว่ามี 50% ของเอ็นพีแอล.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook