The Old Coffee in The River กาแฟถ้วยเก่าบนสายน้ำนนท์

The Old Coffee in The River กาแฟถ้วยเก่าบนสายน้ำนนท์

The Old Coffee in The River กาแฟถ้วยเก่าบนสายน้ำนนท์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

ใครๆ ก็ชอบ กาแฟโบราณ ค่าที่มันหอม อวลด้วยกลิ่นเก่า แต่กับเรือกาแฟลำคร่ำคร่าของโกเต็ง..โอเลี้ยง โอยั๊วของเขายังร่วมสมัยและขายได้จนทุกวันนี้

วัฒนธรรม การบริโภคกาแฟที่หลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยในช่วงไม่เกินสิบปีที่ผ่านมา อย่างมากมาย ไม่เพียงแต่จะทำให้ธุรกิจเฟื่องฟูเท่านั้น

แต่ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นกาแฟสารพัดชื่อ สารพัดประเภท,ร้านขายกาแฟน้อยใหญ่ที่ผุดขึ้นเหมือนต้นหญ้าผลิใบในฤดูฝน รวมทั้งธุรกิจกาแฟที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นด้วยกลยุทธ์ต่างๆ นานา

ขณะเดียวกันวัฒนธรรมกาแฟยังก่อให้เกิดความฝันแก่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ น่ารัก

บางคนได้พบกับฝันที่เป็นจริง ขณะเดียวกันก็เป็นฝันที่ล่มสลายของอีกหลายคน

ถึงอย่างนั้น ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ เรายังสามารถหาร้านกาแฟได้ทุกแห่งหน เช่น ห้างสรรพสินค้า ,ริมถนนบนฟุตบาท,ปั๊มน้ำมันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด, หรือแม้แต่ริมถนนหลวงสายต่างๆ

ในอีกด้านหนึ่งนั้น ได้เกิดปรากฏการณ์อันเนื่องจากกาแฟขึ้นในสังคมไทยเราอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะร้านกาแฟข้ามชาติ และกระแสสังคมใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งยี่ห้อกาแฟ ,ชนิดของกาแฟ,ราคากาแฟต่อถ้วย และสถานที่นั่งจิบกาแฟ สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงรสนิยมและระดับชั้นทางสังคมไป โดยปริยาย

นอกจากนี้แล้ว ร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง ก็ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่นั่งดื่มด่ำกับรสกาแฟเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงแหล่งพบปะ ,สถานที่นั่งทำงาน ...หรือบางทีก็เป็นห้องประชุมไปในตัวด้วย

ดังนั้น จะเห็นว่าวัฒนธรรมกาแฟที่กำลังเติบโตในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกาแฟเย็นหรือกาแฟร้อน ได้ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างหลากหลาย และปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนทั่วประเทศ

ขณะที่ธุรกิจและการบริโภคกาแฟยุคใหม่กำลังไหลหลากกรากเชี่ยว ราวกับสายน้ำที่ถั่งโถม....แต่อีกด้านหนึ่งของคนที่ทำมาค้าขายกาแฟเก่าแก่ อันเปรียบเสมือนการวิ่งสวนทางกับยุคสมัย อย่างกรณีของ โกเต็ง หรือ สมชัย เกิดศิริบุตร วัย 70 ปีเศษคนนี้ ที่พายเรือขายกาแฟอยู่ลำคลองหน้าวัดตะเคียน บางกรวย ก็มีหลายสิ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึง

ผู้ชายพายเรือ


บนสายน้ำที่ทอดผ่านบริเวณหน้าวัด ตะเคียน เขตบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แห่งนี้ ไม่ใช่สายน้ำที่ไหลผ่านไปอย่างไม่หวนกลับเท่านั้น แต่มันเป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่ยิ่งใหญ่สำหรับโกเต็ง เพราะมันเป็นสถานที่ที่โกเต็งพายเรือขายกาแฟ โอเลี้ยง โอยั๊วะ หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวมาตลอดชีวิต จนถึงวันนี้

โกเต็ง หรือ สมชัย เกิดศิริบุตร เป็นคนบางคูเวียง บางกรวย มาแต่กำเนิด พ่อแม่ซึ่งเป็นชาวจีนมีอาชีพพายเรือขายของมาก่อน และนี่อาจจะเป็นมรดกตกทอดทางอาชีพที่เขาได้ซึมซับรับมาตั้งแต่เยาว์วัย

"ผมเริ่มพายเรือขายกาแฟ โอเลี้ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 ตอนนั้นอายุได้ 16 ปี ถ้านับรวมเวลามาถึงตอนนี้แล้ว ก็ร่วม 55 ปีแล้ว ในยุคเตี่ยของผมก็ค้าขายตามคลอง โดยเฉพาะย่านนทบุรี มีสวนและมีลำคลองมากกว่าถนน เพราะฉะนั้น ชีวิตชาวบ้านดั้งเดิมจึงอาศัยคลองเดินทางไปไหนมาไหนเป็นหลัก และการค้าขายก็อาศัยลำคลองด้วย....จนทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็น เพียงแต่มันไม่เหมือนเดิมเท่านั้น"

ด้วยวัย 16 ปีกับการเป็นพ่อค้าขายกาแฟบนเรือ ก็มีบางอย่างที่คาดไม่ถึง

"คุณรู้หรือเปล่าว่าในแต่ละวันผมนั่งอยู่บนเรือโดยไม่ลุกไปไหนวันละ หลายๆ ชั่วโมง ยกเว้นขึ้นจากเรือไปเข้าห้องน้ำห้องท่าบ้างเท่านั้น....แต่เวลาที่เหลือทั้ง หมดอยู่บนเรือ ถ้านับตั้งแต่อายุ 16 ปีจนมาถึงทุกวันนี้แล้ว คิดดูก็แล้วกันว่ากี่ชั่วโมง.... "

โกเต็งตั้งคำถามที่น่าคิด แต่ก็ยากที่จะบอกได้ว่าแกอยู่บนเรือกี่ชั่วโมง เพราะชีวิตของโกเต็งฝากไว้กับเรือขายกาแฟและสายน้ำนั่นเอง

เอสเปรสโซ่ไม่ได้เต้นรำกับลาเต้บนเรือโกเต็ง


ย้อนเวลาไปเมื่อ 55 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมกาแฟยังไม่ได้ไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทยอย่างในปัจจุบันนี้ กาแฟก็คือกาแฟ ยังไม่มีการแยกแยะยี่ห้อและประเภท เพราะฉะนั้นบนเรือขายกาแฟของโกเต็งจึงไม่มีคำว่า คาปูชิโน,ลาเต้,เอสเปรสโซ่,บลูเมาท์เทน หรือ มอคคา... และอีกหลายๆ ชื่อแต่อย่างใด

"ไม่มีร้อก...ไอ้กาแฟอย่างที่ว่า..."โกเต็งขึ้นเสียงสูง พลายส่ายหัวไปมา"สมัยก่อนไม่มีเลย...ไอ้กาแฟยี่ห้อต่างๆ"

โกเต็งเล่าว่า ในยุคที่สังคมไทยยังไม่มีกาแฟซองขายนั้น คนไทยจะเข้าร้านกาแฟตอนเช้า แต่ถ้าเป็นคนที่อาศัยใกล้ลำคลองก็จะซื้อกาแฟบ้าง โอยัวะบ้างจากเรือที่ขาย โดยจอดแต่ละที่สักพักใหญ่ เพราะคนกินกาแฟจะถือโอกาสช่วงนี้พูดคุยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำมาหากิน หรือเรื่องการบ้านการเมือง จะนั่งคุยกันที่ริมตลิ่งใกล้เรือจอด พอคุยกันเสร็จแล้ว ผมก็จะพายเรือไปจอดแวะขายที่อื่นต่อ

สำหรับคนไทยที่ชงกาแฟกินเองในบ้านนั้น ยังมีน้อย ถ้าจะซื้อก็ซื้อกาแฟปี๊บหรือไม่กาแฟกระป๋องใหญ่ๆ เอาไว้ชง....ส่วนศูนย์กลางการซื้อขายกาแฟสมัยก่อนโน้นก็ต้องเยาวราช

"ทุกวันนี้ผมก็ยังซื้อที่เยาวราช รับรองได้เลยว่าชากาแฟที่ขายไม่มีย้อมสีอย่างเด็ดขาด...คุณรู้มั้ย...ชากาแฟมันมีการปนสีด้วยนะ"

นั่นคือคำยืนยันของโกเต็ง และจนถึงวันนี้ เมนูบนเรือของโกเต็ง ก็ยังไม่มีกาแฟเอสเปรสโซ่รสเข้ม หรือ คาปูชิโน ให้ละเลียดฟองครีม

อดีต-ปัจจุบันและสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง


ในดวงตาทั้ง สองข้างของโกเต็งเก็บซ่อนอดีตเอาไว้มากมาย และเมื่อถูกถามถึงความแตกต่างถึงยุคสมัยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โกเต็งก็หยุดครุ่นคิดชั่วขณะเหมือนหวนรำลึกถึงความทรงจำเก่าๆ และเมื่อภาพต่างๆ ผุดพรายแจ่มชัดขึ้นในดวงตา โกเต็งจึงบอกเล่าทันที

"สมัยก่อนขายดีมาก...50 ปี 40 ปีก่อนโน้นแถวเมืองนนท์มีสวนทุเรียนมีสวนส้มเต็มไปหมด บ้านเรือนผู้คนก็อาศัยอยู่ริมคลอง จะไปไหนมาไหนก็ใช้เรือใช้ลำคลอง เรียกว่าถนนมีน้อยมาก...จึงทำให้เรือขายกาแฟของผมขายดี มีลูกค้าขาประจำมากมาย มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย....แต่ที่สำคัญก็คือการลงทุนยุคก่อน โน้นมันถูก ไม่แพงเหมือนกับทุกวันนี้"

การค้าขายย่อมมีการลงทุน....โกเต็งเล่าว่า ตอนขายยุคแรกๆ เมื่อ 50 กว่าปีที่ผ่านมานั้น น้ำตาลกิโลละ 10 สลึง ส่วนน้ำแข็งลูกละ 7-8 บาทเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับวันนี้ราวฟ้ากับดิน

"เดี๋ยวนี้หรือ....น้ำตาลกิโลละ 20 บาท กระสอบหนึ่งมี 50 กิโล คิดแล้วก็ตกร่วม 1,000 กว่าบาท.....ส่วนน้ำแข็งลูกละ 70 บาท วันหนึ่งๆ ผมต้องซื้อน้ำแข็งร่วม 700 บาทเลยทีเดียว รวมทั้งน้ำที่ใช้ต้มด้วย วันหนึ่งก็ตก 5-6 แกลลอน เพราะฉะนั้นวันปกติขายได้วันละ 2,000 บาท เมื่อหักลบคูณหารแล้ว ก็ได้กำไรไม่มากเหมือนเมื่อก่อน"

แม้ว่าทุกวันนี้ตัวเลขจากการขายกาแฟ โอเลี้ยง ตลอดจนชาเย็น นมเย็น จะตกวันละ 2,000 บาทในวันปกติ แต่โกเต็งก็บอกว่าได้ไม่มากนักเมื่อหักเงินลงทุนในแต่ละวัน

"ส่วนวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ก็จะได้มากหน่อย โดยลูกค้าที่ซื้อนั้นนอกจากจะเป็นลูกค้าขาประจำแล้ว ก็มีลูกค้าขาจรที่เดินทางมาทำบุญที่วัดตะเคียน บางครั้งก็ขายได้ร่วม 3,000 บาท...แต่ถ้าเทียบกับสมัยก่อนแล้ว สู้ยุคก่อนไม่ได้เลย"


เมื่อพูดถึงยุคก่อน โกเต็งหยุดครุ่นคิดอีกชั่วขณะ ก่อนจะรำลึกถึงภาพแห่งความหลังให้ฟังว่า

"สมัยก่อนมีลูกค้าตามริมคลองมาก เพราะมีสวนมีบ้านผู้คนอยู่เป็นกลุ่ม และเป็นครอบครัวที่เกิดแก่เจ็บตายอยู่ที่นี่มาตั้งแต่คนรุ่นปู่ย่าตายายทั้ง นั้น แต่ละคนจึงรู้จักกันหมด มีลูกค้าที่แน่นอน และคึกคักกว่าทุกวันนี้มาก....ไม่เหมือนกับปัจจุบันนี้ เพราะคนดั้งเดิมแถวนี้ขายที่สวนที่ดินแล้วโยกย้ายไปอยู่ที่อื่นๆ กันเกือบหมด สวนทุเรียนสวนส้มก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร คนที่เข้ามาอยู่ก็ไม่ใช่คนพื้นเพที่นี่ ในความรู้สึกของผมแล้ว คนทุกวันนี้ต่างคนต่างอยู่ รั้วบ้านติดกันแต่ไม่รู้จักกัน ไม่เหมือนคนเมื่อก่อนที่รู้จักมักคุ้นกันอย่างดี"

แต่เมื่อถามว่าคนเก่าแก่ของที่นี่ยังเหลืออยู่หรือไม่ โกเต็งตอบอย่างไม่รีรอว่า...ยังพอเหลืออยู่ แต่ก็หายไปเยอะเลย ไม่เหมือนสมัยก่อน ส่วนลูกค้าเก่าแก่ก็ยังพอมี โดยเฉพาะคนรุ่นลูกรุ่นหลานยังซื้ออยู่ เพราะพวกเขาติดใจรสชาติที่กลมกล่อม

กาแฟและเรือชีวิต


ปัจจุบันนี้ในแต่ละวันชีวิตของโก เต็งจะเริ่มต้นตอน ตี 4 โดยขับเรือออกไปซื้อน้ำแข็งมาใส่บนเรือก่อน โดยจะซื้อวันละ 700 บาท เพื่อให้เพียงพอกับการขายในแต่ละวัน

"หลังจากรับน้ำแข็ง ต้มน้ำ และจัดของเสร็จสรรพแล้ว ก็เริ่มต้นขายไปตามลำคลอง ช่วงเช้าลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคอกาแฟร้อน จะเรียกให้เรือจอดแวะ ซดกาแฟไปคุยกันไป ส่วนมากจะเป็นลูกค้าขาประจำ เป็นคนดั้งเดิมที่ยังใช้ชีวิตอยู่ที่นี่.....แต่น้อยกว่าเมื่อก่อนนะ เพราะคนเดี๋ยวนี้เขากินกาแฟซองสำเร็จรูป ชงเองได้ในบ้าน"

โกเต็งจะขับเรือขายกาแฟเพื่อทำธุรกิจแบบพอเพียงออกจากบ้านตั้งแต่ตี 4 ขายไปจนกว่านาฬิกาจะไปถึง 2 ทุ่มจึงจะกลับบ้าน รวมๆ แล้วแกใช้เวลาอยู่บนเรือร่วม 16 ชั่วโมงในแต่ละวัน

"จะขาดหายไปบ้างก็ช่วงเข้าห้องน้ำ หรือไม่ก็ไปช่วยงานบุญงานศพเพื่อนบ้าน" โกเต็งยืนยันในความจริง ขณะเดียวกันก็บอกว่า ร้านของตัวเองขายถูกที่สุด และถูกชนิดที่ใครก็ไม่กล้าขาย เพราะมากทั้งจำนวนปริมาณ และถุงที่ใส่ก็ใหญ่กว่าที่คนอื่นขายกัน

จริงอย่างที่โกเต็งบอก เพราะขายถูกแต่ให้มากนี่เอง จึงทำให้ใช้น้ำตาลสำหรับชงกาแฟโอเลี้ยงมากถึง 30 กิโลกรัมต่อวัน โดยเมนูกับราคาขายของโกเต็ง มีดังนี้

โอเลี้ยง 8 บาท
กาแฟร้อน 7 บาท
กาแฟเย็น 10 บาท
ชาดำเย็น 10 บาท
นมเย็น 10 บาท


(ใน กรณีที่ซื้อเป็นกระติก กระติกขนาดเล็ก 10 บาท กระติกขนาดกลาง 20 บาท ถ้ากระติกขนาดใหญ่สุดก็ 30 บาท.....โกเต็งยืนยันว่า ซื้อ 30 บาทกินได้ทั้งวัน)

สำหรับดัชนีชี้วัดด้านต่างๆ ของผู้บริโภคในแต่ละวันที่โกเต็งสัมผัสและรู้เห็นมานานร่วม 55 ปีนั้น โกเต็งบอกว่ายอดคนซื้อลดลง ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพอย่างนี้เพราะรูปแบบกาแฟยุคนี้มีให้เลือกมากกว่า สะดวกกว่า โดยเฉพาะกาแฟสำเร็จรูปหรือกาแฟซอง ที่กลายมาส่วนแบ่งสำคัญ ทำให้คนซื้อกาแฟที่ขายบนเรือตามลำคลองลดลงมาก

แต่เมนูที่คนนิยมซื้อมากที่สุดในแต่ละวันก็คือชาดำเย็น โดยโกเต็งให้เหตุผลว่า เป็นเพราะชาที่นำมาชงนั้น เป็นชาแท้ที่รับมาจากร้านที่เยาวราชโดยตรง ไม่มีการใส่สีหรือย้อมสี และที่สำคัญเป็นชาที่ชงแล้วมีกลิ่นหอม เหมือนกลิ่นชาผสมกลิ่นน้ำผึ้ง และให้รสกลมกล่อมนั่นเอง

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการขายก็คือ ฤดูกาล

"ถ้าเป็นฤดูฝนยอดขายจะลดลงมาก เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้าน....ยิ่งเป็นย่านเมืองนนท์ด้วย มันมีต้นไม้ และบางแห่งยังมีสภาพเป็นสวนเหลืออยู่ ฝนตกทีไรก็เงียบเลย....ผิดกับฤดูร้อนอย่างลิบลับ เพราะหน้าร้อนจะขายดีมาก พวกชาดำเย็น โอเลี้ยง กาแฟเย็น โดยเฉพาะช่วงบ่ายจะขายดีจนบางวันต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่ม"

เวลาและบทสรุปแห่งการเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าในวันนี้ ร้านกาแฟและการดื่มกาแฟจะกลายเป็นวัฒนธรรมการบริโภคอย่างหนึ่งของผู้คนใน สังคมไทย และบ่งบอกอะไรหลายๆ อย่างทั้งรสนิยมกาแฟและฐานะทางสังคม

และแม้ว่าธุรกิจกาแฟจะมีการแข่งขันกันอย่างร้อนแรง ทั้งระดับกาแฟในประเทศ และกาแฟระดับข้ามชาติ....แต่ถึงกระนั้นอีกด้านหนึ่งก็ยังมีคนขายกาแฟอย่าง โกเต็ง หรือสมชัย เกิดศิริบุตร ชายชราผู้ผูกติดชีวิตกับการขายกาแฟบนเรือมาเนิ่นนานเหลืออยู่ ซึ่งเป็นคนขายกาแฟเล็กๆ ที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร หรือบางทีอาจถูกมองเป็นเพียงสิ่งเก่าแก่บางอย่างล่องลอยอยู่บนสายน้ำด้วยซ้ำ

แต่บางที ภาพชีวิตและเรือขายกาแฟของโกเต็งที่แล่นทวนกระแสสังคมยุคใหม่อย่างเหนื่อย ล้า อาจจะเป็นบทบันทึกการเปลี่ยนแปลงอีกด้านหนึ่งของสังคมไทยก็ได้..

โดยเฉพาะเรื่องราวของยุคสมัยคนขายกาแฟ

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ The Old Coffee in The River กาแฟถ้วยเก่าบนสายน้ำนนท์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook