ในนามของนักเขียนหนุ่ม

ในนามของนักเขียนหนุ่ม

ในนามของนักเขียนหนุ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : วิทยากร โสวัตร

ว่ากันว่า พื้นที่ของบรรณพิภพในประเทศนี้ไม่ค่อยกว้างเท่าไร แต่ถ้าหากว่าคนในบรรณพิภพเองไม่เหลียวแลกัน มันก็ยิ่งทำให้พื้นที่ยิ่งหดแคบลง

และคงเป็นความจริงนี้เองที่เป็นพื้นฐานของถ้อยคำอันแสดงถึงขนาดของหัวใจที่ว่า "ญาติน้ำหมึก" หรืออีกมากถ้อยคำในทำนองเดียวกันนี้...

ผ่านมาแล้วมากอาทิตย์แต่ความฉงนก็ยังไม่คลายจากใจ อะไรทำให้ "พวกเขา" เดินทางมาจากทุกสารทิศ-หลายคนเดินทางข้ามคืนบนระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรหรือ อย่างนักศึกษาหนุ่มสาวคู่หนึ่งรีบรุดเดินลงจากภูกระดึงทั้งที่อยู่บนนั้นยัง ไม่ทันหายเหนื่อยและอิ่มเต็มความรู้สึกของคู่รัก--เพราะชื่อชั้นของนักเขียน หรือ? ก็คงไม่ใช่ เพราะขนาดของงานเปิดตัวหนังสือที่ทุกคนที่มาจะได้รู้สึกอู้ฟู่หรือ? ก็คงไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะสถานที่จัดงานเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่ผู้ใฝ่หาความแตกต่างจะต้องมาพิชิต หรือก็ยิ่งไม่ใช

นั่นทำให้ผมหวนคิดไปถึงหลายเดือนก่อนหน้านั้นเมื่อนักเขียนหนุ่มผู้ขยัน จากหุบเขาแห่งดอยวาวี จังหวัดเชียงราย เปรยกับผมในบ่ายวันหนึ่งที่เราไปพบกันที่ทุ่งดอกกระเจียว จังหวัดชัยภูมิ บ้านเกิดของเพื่อนนักเขียน-นักเดินทางผู้มากน้ำใจอีกคนหนึ่งว่าเขากำลังปลุก ปั่นหนังสือรวมเรื่องสั้นตลอดการทำงานอย่างไม่ลดละมาสิบปีให้ออกมาในฤดูหนาว ปีนี้ และก็ด้วยขนาดของหัวใจของเขานั่นเองที่เอ่ยปากต่อจากนั้นว่า

"ผมขอมาเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่ร้านของคุณจะได้ไหม"

อย่าทำเป็นเล่นไป เมื่อนักเขียนหนุ่มผู้มีกระแสแห่งวรรณกรรมอยู่ในชีวิตทั้งยามตื่นและยามหลับ จะหอบหิ้ว "ลูกทางปัญญาและจินตนาการ" ของเขาลงดอยจากจังหวัดที่สูงสุดของประเทศมาเยือนถิ่นที่ราบสูงชะรอยจะทำให้ ร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีอายุไม่เต็มขวบปีของผมจะได้รับอานิสงส์จากกระแสคลื่นแห่งการเคลื่อนไหว เดินทางนี้ไปด้วย

แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่ากับการที่ "นักเขียนหนุ่มควรเฝ้ามองดูนักเขียนหนุ่มด้วยกัน" เหมือนอย่างที่นักเขียนรุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้และการ "เฝ้ามองดูกัน" คงไม่ได้หมายเพียงว่ารอคอยเชิดชูกันในยามมีชื่อหรือต้องเป็น "พวกพ้องของข้าฯ เท่านั้น" หากแต่น่าจะหมายถึงการดูแลกันตั้งแต่ก้าวเท้าแรกๆ เพราะจะว่าไปแล้วไม่ว่าจะก้าวที่เท่าไหร่แต่ถ้าเป็นก้าวของคนที่ทุ่มเทกับ วรรณกรรมแล้ว สำหรับผมมันก็มีค่าเท่ากัน ยิ่งถ้าเจ้าของก้าวเท้านั้นไม่เคยลดละเลยตลอดสิบปีซ้ำยังไม่เคยมีชื่อเสียง โด่งดังหรือรางวัลใดๆ แล้ว ยิ่งต้องให้ค่าหัวใจของเขา

และเป็นข้อดีที่ในการเดินทางครั้งนั้น ผมมีน้องๆ นักศึกษากลุ่มหิ่งห้อย ม.อุบลฯ ไปด้วยหลายคนและมีบางคนที่เป็นลูกค้าประจำ และพวกเขาก็ได้มีโอกาสได้เห็น "น้ำใจ" ของพี่ๆ นักเขียนหนุ่มยิ่งทำให้ความรักที่พวกเขามีต่อการอ่านการเขียนก็ยิ่งเพิ่มพูน ดังนั้นเมื่อลงจากทุ่งดอกกระเจียวแล้วนอกจากการตามอ่านผลงานในบล็อก OK Nation ของพี่ๆ นักเขียนแล้ว พวกเขายังเฝ้ารอวันที่ "อาฉ่า ผู้เคราะห์ร้าย" รวมเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตนักเขียนหนุ่มนาม "แก้มหอม" จะเปิดตัวและโดนชำแหละที่ร้านฟิลาเดลเฟีย (books and bar) วารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

รูปของนักเขียนหนุ่มและภาพปกหนังสือถูกพรินท์สีออกมาอย่างสวยงามประณีต ติดเป็นธงทิวทั่วร้านและกระจายทั่วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีตั้งแต่หนึ่ง อาทิตย์ก่อนวันงาน เพื่อนนักเขียนบางคนและนักอ่านหลายคนก็เดินทางไกล (ทั้งจากกรุงเทพฯ-มหาสารคาม-สุรินทร์-เชียงใหม่-สกลนคร) มานอนรอก่อนวันนัดหมายตั้งสอง-สามวัน และก่อนวันงานหนึ่งวันจุลสาร "กล่องไปรษณีย์" ฉบับปฐมฤกษ์เล่มสวยน่ารักของนักศึกษาที่รักการอ่านเขียนและมาฝังตัวอยู่ใน ร้านก็ถือเป็น "สูจิบัตร" ในงานเพราะไฮไลต์ในเล่มคือบทสัมภาษณ์นักเขียนหนุ่มผู้นี้ และนั่นทำให้เราได้รู้ว่าแม้แต่ความฝันเขาก็ตั้งใจเอามาเขียนเป็นเรื่อง สั้น บางความฝันมันเป็นเรื่องสั้นชั้นดี แต่หลายครั้งมันเป็นฝันเศร้าที่เขามักได้พบลูกชายที่ตายจากไป และนั่นเป็นความฝันที่ทำให้เขาไม่อยากตื่นทั้งยังปรารถนาที่จะฝันแบบนี้ทุก คืนไปจนชั่วชีวิต

คืนนั้น...นอกจากเจ้าของผลงานและผมแล้วพบว่ามีนักเขียนมาร่วมอีกสี่ท่านคือ มาโนช พรหมสิงห์, มัคคุเทศก์ทางวิญญาณ, รัตน์ ใบขวาน, ลุ่มน้ำ ณ เทือกเขาพนมดงรัก ที่เหลือร่วมสามสิบชีวิตล้วนเป็นนักอ่านและคนรักของนักเขียน

อ.สรพจน์ เสวนคุณากร แห่งภาควิชาการละคร คณะศิลปศาสตร์ เปิดงานด้วยการอ่านบทกวีประกอบลีลาที่เปี่ยมไปด้วยศาสตร์และศิลป์ของการ ละครอย่างแท้จริง ตรึงคนดูให้ตกอยู่ในอาการเกร็งและนิ่งงัน

มาโนช พรหมสิงห์ ให้เกียรติพูดคุยในวงสนทนาเป็นหลักและเกริ่นนำอย่างน่าคิดว่าการที่นักเขียน คนหนึ่งได้มีผลงานตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารถือว่าแจ้งเกิด "ชื่อ" แต่ถ้าเมื่อไหร่มีหนังสือของตัวเองออกมาก็ถือได้ว่านักเขียนคนนั้นมี "นามสกุล" เป็นของตัวเอง--ตามมาด้วยคำวิจารณ์ว่างานส่วนใหญ่ในเล่มพูดถึงเรื่องใกล้ตัว ของนักเขียนนั่นคือเด็กนักเรียนกับครูซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนทำมาแล้ว เช่น นิมิตร ภูมิถาวร เป็นต้น แต่โดยรายละเอียดของยุคสมัยก็ทำให้เรื่องราวแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีบางเรื่องที่แสดงให้เห็นความลึกซึ้งของเนื้อหา กระบวนคิด และวิธีนำเสนอ โดยภาพรวมแล้วก็ถือว่าสอบผ่านและถือเป็นโอกาสที่จะเป็นแรงใจให้สร้างสรรค์ผล งานที่ลึกซึ้งต่อไป

ส่วน ขวัญเรือน ทัพโพธิ์ นักศึกษาสาวจากคณะศิลปศาสตร์ (วิชาเอกภาษาไทย) ได้ให้ความเห็นว่างานของ "แก้มหอม" เป็นบันเทิงคดีอย่างแท้จริง และยังมีลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์สังคมด้วยและตรงนี้น่าจะเป็นคุณค่าหลักของผลงานเล่มนี้

วิทยากร โสวัตร ขอพูดแทรก มัคคุเทศก์ทางวิญญาณ ผู้ดำเนินรายการที่กำลังสรุปเนื้อหาของแต่ละท่านว่า โดยส่วนตัวผมเห็นว่างานในเล่มนี้อ่านง่าย แต่จุดเด่นคือรายละเอียดต่างๆ ที่ทำให้เรารู้ได้ว่านี่เป็นเรื่องที่นักเขียนประสบจริงหรือไม่อย่างนั้นก็ ต้องผ่านการค้นคว้ามาอย่างดีเยี่ยมที่สำคัญมันทำให้คนอ่านที่ไม่มี ประสบการณ์หรือความรู้ตรงนั้นสามารถอ่านเข้าใจได้ง่าย จากนั้นคลื่นคำถามก็ทยอยเข้ามาจากนักอ่านที่ทั้งนั่งพื้นและนั่งเก้าอี้หรือ แม้แต่ยืน ไม่ว่าจะเป็น...


"ทำไมเรื่องในบล็อกของพี่ถึงมีท่วงทำนองเศร้าๆ"
"เห็นมีแต่เรื่องสั้นๆ ไม่อยากเขียนเรื่องสั้นที่ยาวบ้างหรือ"
"รู้สึกอย่างไรกับผลงานเล่มแรก"
" ผมมาจากภาคเหนือเหมือนกัน เห็นรูปต้นไม้หน้าปกผมก็รู้ว่าคือต้นก่อ ผมรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้เห็นหนังสือเล่มนี้ และได้อ่านมันในช่วงที่ชีวิตอยู่ต่างถิ่นอย่างนี้ แต่ก็อยากรู้ความรู้สึกว่ามีความกดดันบ้างไหม ในฐานะนักเขียนภาคเหนือที่มีภูเขาอย่าง มาลา คำจันทร์, พิบูลศักดิ์ ละครพล ฯลฯ"

เวลาแห่งการพูดคุยที่เป็นทางการนั้นไม่ยาวนานมากนัก แต่การพูดคุยใกล้ชิดในวงเล็กๆ ที่คลอเสียงไวโอลินของอาจารย์สาวสวยจากคณะศิลปศาสตร์และเสียงกีตาร์จากนัก ดนตรีสมัครเล่นหลายคนนั้นยาวนานมากกว่า ถึงกระนั้นเวลาที่รื่นรมย์และงดงามมักจะสั้นเสมอ แม้โควตาการดื่มกินของเจ้าภาพจะหมดลงตั้งแต่ยังไม่ถึงเที่ยงคืน แต่เครื่องดื่มและอาหารก็ทยอยมาอย่างเพียบพร้อมจากน้ำใจของทุกๆ คนเพื่อจะดึงเวลาให้ยาวนานที่สุด-ที่สุดจนย่ำสาง

แต่งานเลี้ยงนั้นเลิกรากันจริงๆ เมื่อพวกเราโบกรถโดยสารให้เพื่อนบางคนในตอนเช้า แล้วไปกราบพระที่วัดหนองป่าพงในตอนบ่าย ส่งนักเขียนหนุ่มเจ้าของผลงานและเพื่อนสาวกลับเชียงรายในตอนเย็น และจบลงที่รถไฟเที่ยวสุดท้ายของวันเมื่อราตรีกาลมาเยือนอีกครา

ระหว่างทางกลับบ้านผมเหมือนได้ยินเสียงของเพื่อนนักเขียนหนุ่ม- "แก้มหอม" พูดประโยคเดิมทุกครั้งที่เราได้พบกันว่า
"เขียน(อ่าน)เป็นเพื่อนกัน...นักเขียนหนุ่ม!"

 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ในนามของนักเขียนหนุ่ม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook