เจาะป้ายหาเสียง 5 ดาวเด่นศึกผู้ว่าฯ กทม.

เจาะป้ายหาเสียง 5 ดาวเด่นศึกผู้ว่าฯ กทม.

เจาะป้ายหาเสียง 5 ดาวเด่นศึกผู้ว่าฯ กทม.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนเรื่องป้ายหาเสียงที่กีดขวางทางสัญจร ส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งพยายามเปลี่ยนแปลงรูปแบบป้ายเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน
  • ป้ายหาเสียงไม่ได้ทำหน้าที่บอกข้อมูลของผู้สมัครเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงตัวตนและเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่อประชาชน
  • การเปลี่ยนแปลงรูปแบบป้ายหาเสียงสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการที่ผู้สมัครรับฟังเสียงของประชาชนเพื่อปรับปรุงการทำงานของตัวเอง

หลังจากที่ว่างเว้นจากบรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองมานานถึง 7 ปี ขณะนี้ กรุงเทพมหานครกลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ในทุกวันนี้ เราได้เห็นสีสันมากมายในการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ อย่าง “ป้ายหาเสียง” ที่สะท้อนถึงความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน ในการเรียกร้องการสัญจรที่สะดวกสบาย ไม่มีป้ายหาเสียงมาบดบังทัศนวิสัย และนำไปสู่การปรับปรุงขนาดและรูปแบบของป้ายหาเสียงขนานใหญ่ ราวกับว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกำลังสื่อสารถึงประชาชนว่า พวกเขาพร้อมที่จะทำสิ่งต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

นอกจากความพยายามในการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อประชาชนของเหล่าผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว ป้ายหาเสียงยังสะท้อนให้เราเห็นอะไรในตัวผู้สมัครในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดนี้บ้าง Sanook จึงชวน “วีร์ วีรพร” นักออกแบบกราฟิกและอาจารย์พิเศษ มาร่วมรีวิวป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนสมรภูมิหย่อนบัตรจะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานนี้

AFP

วิวัฒนาการของป้ายหาเสียง

ในฐานะนักออกแบบกราฟิกชาวกรุงเทพฯ ที่มีโอกาสเห็นการหาเสียงเลือกตั้งมาตั้งแต่สมัยที่พลเอกจำลอง ศรีเมือง ใช้เสื้อม่อฮ่อมแขวนคู่กับป้ายและหมายเลขผู้สมัคร ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 30 กว่าปีก่อน จนถึงปัจจุบัน วีร์มองเห็นวิวัฒนาการของป้ายหาเสียง จากป้ายที่ทำหน้าที่ง่ายๆ คือบอกหมายเลขและรูปหน้าตรงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เรื่อยมาจนถึงภาพผู้สมัครบนป้ายหาเสียง ที่มีการออกท่าทางมากขึ้น เพื่อสะท้อนตัวตนของผู้สมัคร

“เราอาจจะเคยเห็นคุณทักษิณที่ชี้นิ้ว เราอาจจะเคยเห็นคุณพิจิตต หรือคุณสุขุมพันธุ์ ที่แทนที่จะใช้รูปหน้าตรง แต่เป็นรูปตอนลงพื้นที่ แล้วก็คุณชูวิทย์ ก็จะมาแนวแข็งกร้าว หน้าตาขึงขัง มีการชี้หน้า มองตาผู้ชม เพื่อสื่อสารมากไปกว่าว่าคนนี้ชื่ออะไร เบอร์อะไร แต่ว่าเขาเป็นคนแบบไหน”

AFP

ถัดจากการแสดงตัวตนของผู้สมัคร ก็เริ่มมีการ “สร้างแบรนด์” ของพรรคการเมืองขึ้นมา คล้ายกับการโฆษณา มีการเลือกใช้สีให้เป็นที่จดจำ ซึ่งพรรคการเมืองสมัยก่อนมักจะเน้นสีแดงและน้ำเงิน เพื่อสื่อถึงธงชาติไทย ทว่าในระยะหลังนี้ พรรคการเมืองจำนวนมากเลือกใช้สีอื่นๆ ทั้งสีส้มของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล หรือสีฟ้าอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น รวมไปถึงการเลือกใช้ตัวอักษรที่ผ่านการคิดและเลือกสรรมากขึ้น ให้สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องการสื่อสารด้วย

“ผมคิดว่าประชาชนเราคุ้นเคยกับการสื่อสารด้วยภาษาภาพที่ซับซ้อนขึ้นและลึกขึ้น เพราะเราถูกฝึกอยู่ในโลกทุนนิยมที่แบรนด์พยายามจะพูดกับเราอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การนำเสนอผู้สมัครรับเลือกตั้ง มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน ก็คือมันก็ต้องมีแบรนดิ้งของพรรค หรือว่าแบรนดิ้งของตัวบุคคลเข้ามาด้วย แล้วแต่ละคนที่เป็นผู้สมัครก็จะมีเครื่องมือที่คล้ายๆ กันที่หยิบมาใช้ได้ อย่างที่สี ฟอนต์ สไตล์ของรูปถ่าย แล้วก็มีเลย์เอาต์ที่ต้องพลิกแพลงอยู่ในพื้นที่ที่มักจะเท่ากัน แต่ว่าจะพลิกแพลงอย่างไรให้การสื่อสารถึงแบรนดิ้งของพรรคหรือตัวบุคคลออกมาชัดเจนที่สุด แล้วก็ตรงใจกลุ่มเป้าหมายที่สุด” วีร์กล่าว

สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2565 นี้ ไม่เพียงแต่จะแข่งขันกันสื่อสารแบรนด์เท่านั้น แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นั่นคือขนาดและรูปแบบของป้ายหาเสียงที่เล็กลง และติดตั้งในจุดที่รบกวนการสัญจรของประชาชนน้อยลงด้วย ซึ่งวีร์เริ่มอธิบายย้อนไปถึงต้นทาง คือป้ายหาเสียงขนาดมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด คือราว 120 x 240 ซม. ซึ่งเป็นขนาดทั่วไปของวัสดุต่างๆ เช่น ไม้อัดหรือแผ่นลามิเนต และผู้สมัครก็จะใช้พื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะของกรุงเทพฯ ที่ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงรถยนต์เป็นหลัก ทำให้ป้ายหาเสียงขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องติดตั้งบนทางเท้าเพื่อให้ผู้ใช้รถมองเห็นได้ง่าย ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เชิงพาณิชย์ กว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร แต่ในความเป็นจริง จากการสำรวจของโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี พบว่าค่าเฉลี่ยความกว้างของทางเท้าในกรุงเทพฯ นั้นไม่ถึง 1.50 เมตร และเมื่อบวกกับรถเข็นขายอาหารและแผงลอยต่างๆ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนที่เดินเท้าลำบากมากยิ่งขึ้น

ทว่าบรรยากาศการตื่นตัวทางการเมือง และความตระหนักในสิทธิของประชาชนเอง ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ป้ายหาเสียงที่บดบังและกีดขวางเส้นทางสัญจร นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขรูปแบบป้ายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ขนานใหญ่ ที่เห็นได้ชัดคือป้ายหาเสียงของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่เป็นป้ายขนาดสั้นและติดอยู่บนที่สูง เพื่อไม่ให้ชนศีรษะคนเดินเท้า และป้ายหาเสียงที่ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม คือป้ายหาเสียงของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ผ่าครึ่งป้ายตามแนวตั้ง กลายเป็นป้ายผอมสูง วางอยู่บนพื้นทางเท้า

“พอเรามาดูขนาดของป้ายคุณชัชชาติ มันคือการเอาขนาดมาตรฐานมาหั่นครึ่งทางแนวตั้ง ดังนั้น เมื่อมันหั่นครึ่งทางแนวตั้งแล้วมันหารสองลงตัว ในการผลิตมันคือการไม่เหลือเศษ มันกลายเป็นว่าราคาค่าผลิตต่อป้ายน้อยลงครึ่งหนึ่ง อาจจะมีบวกลบนิดหน่อยจากโครง แต่ว่ามันแสดงให้เห็นถึงการเห็นอกเห็นใจประชาชนมากขึ้น” วีร์อธิบาย

เจาะป้ายหาเสียง 5 ดาวเด่นศึกผู้ว่าฯ กทม.

สกลธี ภัททิยกุล

ผู้สมัครคนแรก คือสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครในนามอิสระ เบอร์ 3 ที่ผ่านการทำงานในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาก่อน มาพร้อมกับป้ายหาเสียงสีเขียวฟ้าสดใส โดดเด่น และสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ ที่เขียนด้วยตัวอักษรลายมือ ซึ่งวีร์ให้ความเห็นว่า ตัวอักษรลักษณะนี้สื่อถึงความเป็นกันเอง ความเป็นคนรุ่นใหม่ รวมทั้งการเล่นกับตัวอักษร ที่ กทม. รวมกับคำว่า more และต่อด้วยเครื่องหมายลูกศร ก็เป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนรุ่นใหม่เช่นกัน

การที่เขาคิดกราฟิกตัว ‘กทม more’ มันเป็นการสร้างแบรนด์ที่น่าสนใจตรงที่ว่า คนไทยชอบลูกเล่นกิมมิกอะไรแบบนี้อยู่แล้ว การผสมคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มันก็เป็นสิ่งที่ใช้ได้” วีร์กล่าว

นอกจากนี้ ภาพของสกลธีที่ปรากฏบนป้ายหาเสียง ในเสื้อเชิ้ตสีฟ้า ทับด้วยเสื้อนอกสีดำและกำหมัดแบบหลวมๆ สื่อถึงความมุ่งมั่นในการทำงาน ทว่าสำหรับวีร์ ท่าทางดังกล่าวไม่ได้ดูจริงจัง ดุดัน หรือพร้อมลุยแต่อย่างใด แต่กลับนำเสนอภาพของคนรุ่นใหม่ ความเป็นกันเอง และเข้าถึงได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของป้ายหาเสียงของสกลธี คือการเลือกใช้สีเขียวกับสีฟ้า

“สีเขียวกับสีฟ้าที่เลือกใช้ คอนทราสต์มันไม่ค่อยเยอะพอ พอคอนทราสต์มันไม่เยอะพอ ทำให้ตรง ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ หรือว่าตรงชื่อเขาเอง เขาต้องตีสีดำรอบ คือตัวอักษรที่ถูกล้อมเส้น ถ้าเราใช้นิดๆ หน่อยๆ มันไม่เป็นไร แต่อันนี้คือเขาล้อมทั้งชื่อ นามสกุล แล้วก็สโลแกนเขา มันเลยทำให้ดูวุ่นวายไปหมด แล้วสีเสื้อเขาที่มันเป็นสีเดียวกับแบ็กกราวด์อีก แล้วตัวแจ็กเก็ตที่เป็นสีดำ มันก็เลยดูหนักไปหมด เหมือนทุกอย่างมันต้องถูกขับให้มันเด้งขึ้นมาด้วยสีดำ มันก็เลยตีกัน” วีร์สรุป

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ผู้สมัครคนต่อมาคือ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “พี่เอ้” ผู้สมัครเบอร์ 4 ที่ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งป้ายหาเสียงของเขาก็วางโลโก้พรรคไว้ด้านบนสุดของป้าย

“ถ้าเราพูดกันจากสถิติที่ผ่านมาของคนกรุงเทพฯ เราต้องยอมรับว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนกรุงเทพฯ ก็รักประชาธิปัตย์ แล้วก็คุณสุชัชวีร์ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่มีประวัติอะไรมาก่อน ในทางการเมือง เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่าคุณเอ้ก็ได้ประโยชน์จากการลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเขาเชื่อว่ายังไงคนกรุงเทพฯ ก็รักพรรคประชาธิปัตย์ ทีนี้การที่ตัวคุณเอ้ไม่ขึ้นไปอยู่เหนือโลโก้พรรคก็คิดว่าส่วนหนึ่งเขาก็ขายความเป็นพรรค” วีร์แสดงความเห็น

สุชัชวีร์เป็นผู้สมัครที่โดดเด่นมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. อย่างเป็นทางการ ด้วยการปรากฏตัวบนป้ายโฆษณาต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งชูเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นจุดขายของตัวเองมาตลอด ซึ่งวีร์มองว่า การที่เขาลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก็เหมือนการนำเอาความใหม่ ความเร็วของคนรุ่นใหม่มาลงในนามพรรคเก่าแก่ ซึ่งความใหม่และความเร็วก็ถูกสะท้อนอยู่ในป้ายหาเสียงของเขา

“เราจะคุ้นกับแบ็กกราวด์ที่ดูเฟี้ยวๆ เป็นเส้นแสง ซึ่งเข้าใจว่าสื่อถึงความใหม่ สื่อถึงความเร็ว สื่อถึงการพุ่ง แล้วทีนี้ไอ้การพุ่งมันก็ลามมาว่าเอฟเฟกต์นี้มันไปอยู่บนตัวอักษรคำว่าเปลี่ยนกรุงเทพฯ นี้ด้วย ในมุมของการออกแบบ ผมไม่แน่ใจว่ามันขี้เล่นไปหรือเปล่า”

“แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจคือการที่ตัวอักษรบางตัวมันโดนยืดในแนวนอน อย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ป.ปลา 2 ตัว อ้วนเป็นพิเศษ แล้วดูเหมือนไม้หันอากาศที่อยู่เหนือ ป.ปลา ตัวที่สอง มันมีความไม่แน่ใจว่ามันควรจะอยู่ตรงไหนดี มันควรจะอยู่ตรงกลางของ ป.ปลา ก็ไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้ ป.ปลา กว้างจนหลวมแล้ว เพราะฉะนั้น ขอผูกติดกับหางของ ป.ปลา หน่อยแล้วกัน มันก็เลยดูแล้วงงๆ ผมคิดว่าอันนี้มันมีความไม่มืออาชีพ ซึ่งมันน่าจะขัดกับภาพลักษณ์ของพี่เอ้ ที่เขาพยายามจะนำเสนอ”

วีร์มองว่า ลักษณะที่ดู “เล่น” ของตัวอักษรบนป้าย ขัดกับภาพลักษณ์ของสุชัชวีร์ ที่สวมเสื้อยืดคอกลม ทับด้วยเสื้อนอก เหมือนผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยังกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่มักจะขายความน่าเชื่อถือในความเก่าแก่ของตัวเอง ซึ่งวีร์คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของป้ายหาเสียงของสุชัชวีร์ คือการใช้พื้นหลังสีน้ำเงินเข้ม ที่เมื่อวางตัวอักษรสีขาวลงไปแล้วทำให้ตัวอักษรโดดเด่นขึ้นทันที โดยเพิ่มเงาเฉพาะชื่อผู้สมัครเท่านั้น ทำให้สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอนทราสต์ของสีได้ดีกว่าป้ายของสกลธี

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นภาพของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระหมายเลข 8 ในฐานะ “มีม” มนุษย์จอมพลังผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ทว่าบนป้ายหาเสียง ภาพของชัชชาติกลับเป็นใบหน้าที่มีแสงสาดเข้ามาโดยตรง แววตากึ่งสบายๆ และชุดกีฬา ซึ่งวีร์มองว่าภาพดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการหลุดพ้นจากภาพลักษณ์นักการเมือง ประกอบกับการลงพื้นที่โดยสวมเสื้อยืดที่สกรีนคำว่า “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ที่แสดงถึงความเข้าถึงได้ ความลุย และความตรงไปตรงมา จึงทำให้ภาพหลักที่ชัชชาติใช้บนป้ายหาเสียง “ตอบโจทย์” โดยที่ไม่ต้องผูกติดกับภาพจำเรื่องความแข็งแกร่งอีกต่อไป

“ส่วนหนึ่งที่เรามองว่าคุณชัชชาติโจทย์ค่อนข้างง่ายก็คือว่าเขาไม่ได้มีอัตลักษณ์ของพรรคมารบกวน ไม่มีข้อแม้ที่ผูกพันกับพรรคการเมืองหรือว่าดาวเด่นของพรรคที่ต้องมาพ่วงเลย ไม่มี ส.ก. มาด้วย ดังนั้นก็เลยตรงไปตรงมา ง่ายๆ เห็นหน้าชัชชาติชัดๆ เห็นนโยบายว่าจะทำอะไรชัดๆ แล้วก็เบอร์ แล้วก็ที่เหลือไปดูในเว็บไซต์หรือ QR Code ก็ว่าไป ก็เลยง่าย”

สำหรับคู่สีและตัวอักษร วีร์มองว่า การใช้สีเขียว ขาว ดำ ที่มีคอนทราสต์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ก็ทำให้ตัวอักษรต่างๆ ชัดเจนได้โดยไม่ต้องเพิ่มเงา ถือเป็นผลงานที่เรียบง่ายและมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวอักษรที่มีหัว ก็แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มักจะใช้ตัวอักษรไม่มีหัวเป็นส่วนใหญ่

“ในประเทศเรา มันมีความเชื่อว่าตัวอักษรไม่มีหัวคือความใหม่ แล้วก็ตัวอักษรมีหัวกลมมันค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่ว่าคุณชัชชาติเลือกตัวอักษรมีหัว ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคือเขาเป็นคนที่พยายามคุยกับคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ถ้าเห็นในการหาเสียงหรือการพบปะชาวบ้าน ดังนั้นมันมีความเป็นกลาง”

จุดเด่นของป้ายหาเสียงของชัชชาติที่ไม่ควรมองข้าม คือชื่อของชัชชาติที่เขียนด้วยลายมือ ซึ่งวีร์ระบุว่ามีข้อได้เปรียบที่น่าสนใจมาก

“ด้วยความบังเอิญคือ ชื่อเขามี ช.ช้าง 3 ตัว แล้วทิศทางของสโตรก ชื่อไม่มีสระล่างหรือสระบน 2 ชั้น และอะไรให้ยุ่งยาก พอมาเป็นลายมืออย่างนี้ที่มันตรงข้ามกับความพูดเสียงดังฟังชัด ผมรู้สึกว่ามันดูอิมแพคได้โดยไม่ต้องพยายามทำกราฟิกให้ตะโกน”

อย่างไรก็ตาม ป้ายหาเสียงของชัชชาติยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงอีกเล็กน้อย ในสายตาของนักออกแบบกราฟิกเนิร์ดๆ อย่างวีร์ คือ เลข 8 บนป้ายหาเสียงของชัชชาติหลายป้ายติดเลข 8 กลับหัว!

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

ขณะที่สุชัชวีร์ยกโลโก้พรรคประชาธิปัตย์ไว้เหนือสุดของป้ายหาเสียง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครเบอร์ 1 จากพรรคก้าวไกล กลับวางโลโก้พรรคไว้ที่มุมเล็กๆ ทางด้านล่างของป้ายเท่านั้น ซึ่งวีร์แสดงความเห็นว่า อาจเป็นเพราะคนส่วนใหญ่จดจำสีส้มได้แล้วว่าเป็นสัญลักษณ์ของพรรคอนาคตใหม่ และพัฒนามาเป็นพรรคก้าวไกล หรืออาจเป็นไปได้ว่า ด้วยความที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคใหม่ จึงไม่ได้ยึดติดกับขนบธรรมเนียมในการชูความเป็นพรรคเหนือผู้สมัครก็เป็นได้

นอกจากนี้ วีร์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบด้านภาพของป้ายหาเสียงของวิโรจน์ว่า

สโลแกน ‘พร้อมชนทุกปัญหา เพื่อคนกรุงเทพฯ’ แสดงออกถึงความกระตือรือร้น ความหนักแน่น จากการเลือกตัวอักษรที่เป็นตัวหนา แล้วก็มีความเฉียงนิดหนึ่ง แล้วก็แบ็กกราวด์ที่ดูมีความเป็นฝีแปรงหน่อย ให้มันดูลุยขึ้น”

สิ่งที่เป็นจุดเด่นของป้ายหาเสียงของวิโรจน์ ซึ่งวีร์ชื่นชม คือการหั่นป้ายตามแนวนอนให้สั้นลงครึ่งหนึ่ง และติดตั้งป้ายในที่สูง เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพ และไม่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ทางเท้า แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการติดตั้งป้ายแบบนี้ก็มีจุดอ่อนเช่นกัน

“การติดตั้งป้ายสูงมันมีผลกับการมองเห็นของคนตรงที่ว่า เราต้องมองจากจุดที่ไกลขึ้นถึงจะเห็น แต่ที่ทางพรรคสื่อสารมาว่าเจตนาจะไม่ให้รบกวนคนเดินถนน ไม่มีทางที่ป้ายจะฟาดหัว ผมคิดว่ามันก็โอเค สำหรับรถยนต์ไม่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่สำหรับคนเดินถนนมันกลายเป็นว่าคุณจะเห็นป้ายนี้จากระยะไกล แต่พอมาระยะใกล้ คุณก็เดินผ่านไปแบบไม่รู้สึกว่าเขาประจันหน้าอยู่ด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่าอันนี้มันดูห่างเหินกับป้ายคุณชัชชาติที่เป็นแนวตั้งและแคบหรือเปล่า” วีร์แสดงความเห็น

อัศวิน ขวัญเมือง

สำหรับผู้สมัครรายสุดท้าย คืออัศวิน ขวัญเมือง เบอร์ 6 อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ตัดสินใจลงสมัครในนามอิสระ ในป้ายหาเสียง เขามาในลุคที่เป็นมิตรมากขึ้น ด้วยเสื้อสีขาวสะอาด พับแขนเสื้อให้ดูผ่อนคลายและดูพร้อมที่จะทำงานมากขึ้น รวมทั้งมีสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ’ บนพื้นหลังสีน้ำเงิน - เหลือง วีร์กล่าวว่า

สโลแกน ‘กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ’ ก็มีการใช้ตัวเอียง บวกกับกราฟิกตัดสีน้ำเงิน – เหลือง เป็นเส้นเฉียง คือเพิ่มไดนามิกให้ตัวคุณอัศวิน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นตัวแทนของแนวคิดอนุรักษ์นิยม ถ้ามองในแง่การออกแบบ ผมว่าเขาทำได้ค่อนข้างดี แล้วก็คอนทราสต์ของสีเหลืองกับสีน้ำเงินมันขับกันมาได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งการตัดเส้นอะไรมาก”

แม้ว่าในทางกราฟิก ป้ายหาเสียงของอัศวินจะไม่มีจุดที่เป็นปัญหา แต่วีร์ก็ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้สีน้ำเงินและสีเหลืองในป้ายว่ามีลักษณะที่เชื่อมโยงกับป้ายแสดงผลงานที่ผ่านมาของ กทม. ในแคมเปญ #กรุงเทพฯเปลี่ยนไปแล้ว

“ถ้าเราจำได้ว่าก่อนที่เขาจะลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ซึ่งได้มาด้วยอำนาจพิเศษเนี่ย มันมีการทำป้ายโชว์ผลงานเก่าๆ ของ กทม. และถ้าสังเกตดีๆ จะใช้สีเหลือง - น้ำเงิน เหมือนกัน ดังนั้น แม้ว่าคุณอัศวินจะลงสมัครในนามอิสระ แต่ว่าด้วยสไตล์กราฟิกที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งอยู่ และใช้งบของ กทม. มาโปรโมตผลงานของ กทม. ผมก็คิดว่าเป็นวิธีที่เราเข้าใจได้ว่าทำไมเขาทำแบบนั้น แต่ว่าคิดว่าก็ไม่ค่อยสวยงามเท่าไร” วีร์กล่าว

เสียงประชาชนในดราม่าป้ายหาเสียง

ท่ามกลางบรรยากาศที่คึกคักก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นอกจากการเปลี่ยนแปลงของวิธีการสื่อสารด้วยภาพในพื้นที่ป้ายหาเสียงแล้ว สิ่งหนึ่งที่วีร์สังเกตเห็น คือการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนตั้งคำถามว่า รูปแบบของป้ายหาเสียงที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

“ผมคิดว่าอันนี้คือการตื่นตัวที่น่าสนใจ ทั้งจากตัวผู้สมัครที่เขาเริ่มคิดว่าจะทำป้ายขนาดที่ไม่ธรรมดานี้อย่างไร แล้วก็จากประชาชนที่ตอบสนองอย่างดีกับป้ายที่ถูกเปลี่ยนขนาด มันเป็นบรรยากาศที่ดีที่ประชาชนพร้อมจะฟีดแบ็ก แล้วตัวผู้สมัครก็พร้อมจะตอบสนอง เราอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเรามีผู้ว่าฯ หรือนักการเมืองคนไหนก็ตามที่เขาพร้อมจะตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ของประชาชนให้รวดเร็วเหมือนกับการที่เขาแห่มาเปลี่ยนหน้าตาป้าย ชีวิตเราจะดีขึ้นขนาดไหน” วีร์สรุปพร้อมหัวเราะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook