"สินสอด" ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคปัจจุบัน?

"สินสอด" ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคปัจจุบัน?

"สินสอด" ยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคปัจจุบัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight 

  • สินสอดไม่ใช่เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมี สินสอดเป็นทรัพย์สินที่เจ้าบ่าวมอบให้กับบิดามารดาหรือคนที่เลี้ยงดูเจ้าสาว ไม่ใช่มอบให้กับเจ้าสาว
  • ค่านิยมที่มาพร้อมกับระบบทุน ทำให้คนในสังคมต้องคำนึงถึงเรื่อง “หน้าตาทางสังคม” ของครอบครัว ที่หลายครั้งก็แสดงออกผ่านประเพณีการวางสินสอด
  • เนื่องจากต้องรักษาหน้าตาของครอบครัว จึงเกิดธุรกิจเช่าสินสอดขึ้น แต่ก็มีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ควรรู้ก่อนทำการเช่าสินสอดด้วยเช่นกัน
  • การยกเลิกสินสอดขึ้นอยู่กับการเติบโตกับสภาพแวดล้อมทางสังคมของคนคนนั้น และไม่มีใครสามารถใช้บรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสินการตัดสินใจของคนอื่นได้ 

ในยุคที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น “สินสอด” เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันถึง“ความจำเป็น” ของประเพณีดั้งเดิมนี้ที่เจ้าบ่าวต้องมีทรัพย์สินมามอบให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเจ้าสาว เพราะในยุคที่สินทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ใช่ของหาง่ายและต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อแรงกายนานหลายปี ทำให้หลายคนเลือกที่จะใช้ “ทางลัด” หลายรูปแบบ ทั้งการหยิบยืมเงินทองหรือแม้แต่การเช่าทรัพย์สินมาวางโชว์ในงานแต่งงาน เพื่อ “รักษาหน้าตา” ของทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่วายโดนติฉินนินทาว่าเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ หรือแม้กระทั่งเกิดกรณีดราม่าสินสอดที่เช่ามาหายไป กลายเป็นปัญหาคาใจที่หลายคนมองว่าควรต้องยกเลิกประเพณีเหล่านี้หรือไม่   

สินสอดกับสังคมไทย 

ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าที่มาที่ไปของสินสอดให้ฟังว่า สินสอดในสมัยโบราณไม่ได้เป็นการตอบแทนในรูปแบบของเงิน แต่อาจจะมาเป็นรูปแบบของแรงงาน สัตว์ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ หรือแม้แต่เปลือกหอย ซึ่งเปรียบเสมือนของขวัญหรือของตอบแทนที่ครอบครัวหนึ่งจะมอบให้กับครอบครัวหนึ่ง

“ยกตัวอย่างเช่นในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นสังคมมาตาธิปไตยหรือแม่เป็นใหญ่ ที่ดินก็จะยกจากผู้หญิงไปสู่ลูกสาว ดังนั้น การแต่งงานหรือสินสอด ก็คือฝ่ายผู้ชายเข้ามาใช้แรงงาน หรืออยู่ในฐานะแรงงานของบ้านนั้น เพราะต้องแต่งเข้ามาในบ้านของผู้หญิง แล้วก็รับมรดกจากฝั่งผู้หญิง เขาก็จะมีข้อตกลงกัน” ดร.จิราพรเริ่มอธิบาย 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง เรื่องสินสอดในแต่ละสังคมก็ถูกเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยอาจจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือพิธีกรรม เช่น การแลกเปลี่ยนแรงงานในฐานะสินสอดในอดีตกลับกลายมาเป็นการแลกเปลี่ยนเงินทอง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดร.จิราพร ก็ชี้ว่า แม้สังคมสมัยใหม่จะไม่คิดเรื่องการแลกเปลี่ยนแรงงาน ไม่อยากได้วัวควาย เพราะมันไม่มีค่าในยุคปัจจุบัน แต่คนในสังคมก็ยังต้องการ “ของมีค่า” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแต่งงานหรือการเริ่มต้นชีวิตคู่ เช่น แหวนเพชร เงิน ทอง เป็นต้น ดังนั้น แม้สังคมจะเปลี่ยนไปแต่รูปแบบความคิดเรื่องสินสอดก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก 

ค่าสินสอดที่จะให้กับเจ้าสาวมันเปลี่ยนไปด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ทั้งเรื่องการศึกษา สถานะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน รวมไปจนถึงเรื่องการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง หรือการที่ประเทศนั้น ๆ มีระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ดังนั้น เมื่อคนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น หรือชนชั้นถูกขยับขึ้นโดยอัตโนมัติ มันก็เพิ่มขนาดของสินสอดไปเองโดยอัตโนมัติ” ดร.จิราพรกล่าว 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลางผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง

ทางด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้อธิบายแง่มุมทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินสอดไว้ว่า “ในทางกฎหมาย ถ้าคนที่สมรสกันอยากจะให้มีสินสอดก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน สินสอดไม่ใช่เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมี สินสอดเป็นทรัพย์สินที่เจ้าบ่าวมอบให้กับบิดามารดาหรือคนที่เลี้ยงดูเจ้าสาว ไม่ใช่มอบให้กับเจ้าสาว และถือว่าบิดามารดาหรือคนที่เลี้ยงดูเจ้าสาวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นสินสอด”

“ในทางกฎหมายต้องมีการจดทะเบียนสมรสกัน แล้วส่งมอบทรัพย์สินให้กัน ถึงจะเป็นสินสอด เพราะฉะนั้น ถ้าแค่จัดงานแต่งเฉย ๆ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แม้มีการส่งมอบทรัพย์ให้กันและเรียกว่าสินสอด แต่ในทางกฎหมายย่อมไม่ใช่สินสอด แต่เป็นการให้ทรัพย์สินที่เรียกว่าสัญญาให้โดยเสน่หา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ระบุ

สิ่งสำคัญคือ “หน้าตาทางสังคม” 

แม้กฎหมายจะระบุว่า ไม่ได้กำหนดให้มีสินสอด แต่ขึ้นอยู่กับการตกลงของคนที่สมรสกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนมากมายที่ต้องการให้มีส่งมอบสินสอดในพิธีแต่งงาน แม้ในอดีตอาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือของขวัญ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ประเพณีการวางสินสอดก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปให้กลายเป็นการวางทรัพย์สินเพื่อแสดงให้เห็น “ความพร้อม” ของฝ่ายเจ้าบ่าว

เรื่องของสินสอดในปัจจุบันมันสะท้อนให้เห็นค่านิยมผ่านทุนในสมัยใหม่ ที่ทุนนิยมหรือระบบทุนนิยมมันกำหนดคุณค่าของสินสอดในฐานะที่เป็นเม็ดเงิน ถ้าคุณมีสินสอดที่มากขึ้น แปลว่าลึก ๆ แล้วมันอาจจะรับประกันได้ว่า ลูกคุณจะไม่ลำบาก หรือผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับลูกสาวของเขามีรายได้ มีฐานะมากพอนะ ก็เป็นหน้าเป็นตา ที่หมายความว่าฉันไม่ได้ลูกเขยที่จนนะ ดังนั้น ถ้าทั้งหมดทั้งมวลในการมองเห็น มันก็คือการแสดงที่อยู่ในระบบทุน ที่กำหนดให้เราต้องเป็นแบบนี้” ดร.จิราพรชี้ 

ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์ดร.จิราพร เหล่าเจริญวงศ์

ค่านิยมที่มาพร้อมกับระบบทุน ทำให้คนในสังคมต้องคำนึงถึงเรื่อง “หน้าตาทางสังคม” ของครอบครัว ที่หลายครั้งก็แสดงออกผ่านประเพณีการวางสินสอด แต่ในยุคสมัยที่การครอบครองทรัพย์สินอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบ่าวสาวที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว การหยิบยืมทรัพย์สินหรือเช่าสินสอดจาก “ธุรกิจให้เช่าสินสอด”​ ก็เป็นทางออกของคนในยุคปัจจุบัน 

“มันก็เป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง มันทำให้คู่สมรสหนีออกไปจากการที่ต้องไปหาเงินให้ได้เท่านั้น เพื่อที่จะมาให้กับบ้านของเจ้าสาว จริง ๆ มันก็ดีนะ คุณไม่จำเป็นต้องไปหาเงินเยอะขนาดนั้น เพื่อที่จะเอามาเป็นสินสอด แล้วอาจจะเป็นความคิดของคู่บ่าวสาวที่พยายามหนีออกจากกรอบของการที่บอกว่า ฉันก็ยังมีสินสอด เป็นหน้าตาของพ่อแม่ แต่ฉันก็ลงทุนแค่นี้ แล้วก็เอามาถ่ายรูปงานแต่งงานก็จบ” ดร.จิราพรแสดงความคิดเห็น 

“หน้าตาของใครก็คงเป็นหน้าตาของทั้งสองบ้าน จริง ๆ ทั้งสองบ้านอาจจะไม่ได้เครียดขนาดนั้นด้วยซ้ำ มันเป็นหน้าตาของสังคม คุณคิดว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว แต่มันไม่ได้เปลี่ยน ทุกอย่างวนกลับมา คุณก็ยังแคร์เสียงติฉินนินทา คุณก็ยังแคร์ว่า ตายแล้ว เดี๋ยวข้างบ้านจะคิดยังไง เขาจะคิดว่าลูกของฉันไปแต่งงานกับผู้ชายจน ๆ ไหม แปลว่าบรรทัดฐานในสังคม ค่านิยมในสังคม ก็ยังเข้ามามีบทบาทในการกำหนดความหมายของการแต่งงานของคน ๆ นั้นอยู่” ดร.จิราพรกล่าวเสริม 

รู้กฎหมายก่อน “เช่าสินสอด”

เมื่อกล่าวถึงธุรกิจให้เช่าสินสอดที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในโซเชียลมีเดีย และให้บริการเช่าสินสอดกับทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ สำหรับวางโชว์ในงานแต่งงาน ก็จะมีหลายความคิดเห็นที่โจมตีธุรกิจดังกล่าว ว่าส่งเสริมให้คนไม่ซื่อสัตย์และเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยการหลอกลวง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ธุรกิจนี้ได้ช่วยเหลือคู่บ่าวสาวจากการถูก “ป้าข้างบ้าน” นินทามานักต่อนักแล้ว 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ อธิบายแง่มุมทางกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจการเช่าสินสอดว่า เหมือนกับธุรกิจให้เช่าทรัพย์อื่น ๆ เช่น การให้เช่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น และไม่ได้มีกฎหมายห้ามการทำธุรกิจดังกล่าว 

“มันอาจจะมีประเด็นหนึ่งที่อาจทำให้สัญญาเช่าระหว่างเจ้าบ่าวกับผู้ประกอบธุรกิจไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย ซึ่งในทางกฎหมายเราจะเรียกกรณีแบบนี้ว่า “สัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” ซึ่งคำนี้เป็นคำที่กฎหมายเปิดโอกาสให้นักกฎหมายใช้ดุลพินิจประกอบการตีความ ซึ่งแต่ละคนก็อาจจะตีความแตกต่างกัน แต่ความเห็นของผม ผมว่าไม่ขัดนะ เพราะไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครเดือดร้อนจากที่เขาให้เช่าสินสอด จริง ๆ ผมยังคิดว่าเขาช่วยเหลือคนมากกว่า คนที่ไม่มีเงิน แล้วครอบครัวของเจ้าสาวอยากให้มีอะไรไปแสดง ผมว่ามันก็ทำได้ เป็นเสรีภาพของคน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ แสดงความคิดเห็น 

อย่างไรก็ตาม การเช่าสินสอดเพื่อวางโชว์ในงานแต่งงานก็มีปัจจัยทางกฎหมายที่บ่าวสาวและครอบครัวต้องมีการตกลงและพูดคุยกันให้เข้าใจก่อน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ได้อธิบายเป็น 3 กรณีตัวอย่าง ดังต่อไปนี้ 

  1. เจ้าบ่าวไม่บอกใครเลย และไปเช่าสินสอดเพื่อมาวางโชว์ในงานแต่งงาน ในเมื่อพ่อแม่ของเจ้าสาวไม่ได้รับรู้ว่าเจ้าบ่าวจะไม่ยกสินสอดให้ กฎหมายจึงคุ้มครองพ่อแม่ของเจ้าสาว ซึ่งถือว่าเป็น “คนที่สุจริต” ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในสินสอดจะถูกโอนให้กับพ่อแม่ของเจ้าสาว และเจ้าบ่าวจะเอาสินสอดคืนไม่ได้ และถ้าเจ้าบ่าวไม่มีทรัพย์ไปคืนแก่ผู้ให้เช่าก็ต้องรับผิดฐานผิดสัญญากับผู้ให้เช่าด้วย
  2. เจ้าบ่าวสมคบคิดกับเจ้าสาว เช่าสินสอดมาวางโชว์ในงานแต่งงาน แต่ไม่ได้บอกพ่อแม่เจ้าสาว ในกรณีนี้ผลไม่ได้แตกต่างจากกรณีที่ 1 กล่าวคือ ไม่ว่าเจ้าบ่าวจะบอกหรือไม่บอกเจ้าสาว ถ้าพ่อแม่ของเจ้าสาวไม่รับรู้ พ่อแม่ของเจ้าสาวก็จะได้รับการคุ้มครอง เพราะจริง ๆ แล้วเจ้าสาวไม่ใช่คู่กรณีในการให้สินสอด
  3. พ่อแม่ของเจ้าสาวรับรู้ว่าเป็นสินสอดที่เอามามอบให้ เป็นสินสอดที่เช่ามา เนื่องจากมีการตกลงร่วมกันว่าไม่ต้องเอาสินสอดมาให้จริง ๆ แต่ไปเช่ามาเพื่อโชว์ให้คนอื่นเห็น กรณีนี้ในทางกฎหมายเรียกว่า “เจตนาลวง” การให้สินสอดจะไม่มีผลทางกฎหมาย 

ยกเลิกสินสอดไปเลยได้ไหม? 

“เรื่องสินสอด กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมี เพราะฉะนั้นกฎหมายไม่ได้เอาประเพณีมาเป็นเงื่อนไขในการสมรส ดังนั้น ในทางกฎหมายก็มีความยืดหยุ่นระดับหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ ก็อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่จดทะเบียนสมรสกันโดยไม่ได้มีสินสอด ถ้าถามเรื่องยกเลิกแบบไม่ต้องกำหนดไว้ในกฎหมายเลย ก็อาจจะต้องย้อนกลับไปที่ความเชื่อและวิถีปฏิบัติของคนในสังคม ถ้าคนในสังคมส่วนใหญ่คิดว่ามันไม่ควรจะมี ก็อาจจะมีการยกเลิกกฎหมายนี้ก็ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ชี้ 

ตัวบทกฎหมายเป็นภาพสะท้อนของสังคม ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งกำหนดความเชื่อความคิดของคนในสังคม ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายว่าไม่ต้องเขียนเรื่องสินสอดก็อาจจะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ก็ระบุว่าจริง ๆ แล้วอาจจำเป็นต้องดูประเด็นอื่น ๆ ในกฎหมายครอบครัวทั้งหมด ว่าอะไรที่ไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมแล้ว ก็จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพราะบางครั้งความคิดของคนในสังคมเปลี่ยนไปแล้ว แต่กฎหมายยังตามไม่ทันก็มี 

ทางด้าน ดร.จิราพร ก็ชี้ว่า การจะให้มีหรือไม่มีสินสอดเป็นเรื่อง “ปัจเจกบุคคล” แต่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคสมัยใหม่ ประเพณีความเชื่อดังกล่าวก็อาจจะมีลดน้อยลงไป อย่างไรก็ตาม การจะให้ยกเลิกหรือหายไปเลยก็อาจจะขึ้นอยู่กับการเติบโตกับสภาพแวดล้อมทางสังคมของคนคนนั้น และในท้ายที่สุดก็ไม่มีใครสามารถใช้บรรทัดฐานของตัวเองไปตัดสินการตัดสินใจของคนอื่นได้ เพราะแต่ละคนก็มีเหตุผลและความจำเป็นของตัวเองแทบทั้งสิ้น 

“คุณกำหนดการแต่งงานผ่านคุณค่าของเงิน ในฐานะที่เป็นสินสอด การแสดงทางสังคม หน้าตาของคุณ มันก็คือการตอบโจทย์คุณค่าที่สังคมนั้นให้มา ถามว่าการแต่งงานอยู่ที่คุณค่าเหล่านี้เหรอ ก็เปล่าเสียหน่อย คุณค่าของการแต่งงานมันอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่สังคมนี่แหละเป็นตัวแปรสำคัญของการแต่งงาน เราจึงต้องตั้งคำถามกับสังคมมากกว่าการตั้งคำถามหรือตัดสินว่าคุณไปเช่าสินสอดมา ในแง่นี้ เราอาจจะต้องมองอะไรที่ลึกไปกว่านั้น” ดร.จิราพรกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook