"พ่อมึง" แร็ปเปอร์รุ่นใหม่มองไทเทเนียม ผิดเวลา-สะท้อนปัญหาเจเนอเรชัน

"พ่อมึง" แร็ปเปอร์รุ่นใหม่มองไทเทเนียม ผิดเวลา-สะท้อนปัญหาเจเนอเรชัน

"พ่อมึง" แร็ปเปอร์รุ่นใหม่มองไทเทเนียม ผิดเวลา-สะท้อนปัญหาเจเนอเรชัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากวงไทเทเนี่ยมปล่อยผลงานเพลง ‘พ่อมึง’ มาได้ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็มีกระแสวิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์จนขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ของวันที่ 17 พ.ค. 2565 พูดถึงเนื้อหาเพลงที่เหยียดคนรุ่นใหม่ และยกตัวเองว่าเป็นคนสร้างมาตรฐานไว้ให้คนรุ่นใหม่เดินตาม

ทีมข่าว Sanook News สัมภาษณ์พิเศษ Hockhacker นักการตลาด และศิลปินกลุ่ม Rap Against Dictatorship ที่เคยปล่อยเพลงประเทศกูมี เขาเล่าว่าตัวเองรู้จักและเคยทำงานร่วมกับวงไทเทเนียมมาบ้าง คิดว่าเพลงนี้มีปัญหาอยู่ 2 จุด คือ ความต่างของยุค และเนื้อหา

Hockhacker เล่าว่า วงไทเทเนียมที่เคยโด่งดังเมื่อ 10-20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งผลงานเพลงที่ดังๆ อย่างเพลงทะลึ่ง เด็กที่ฟังเพลงแรปหรือฮิปฮอปในสมัยนี้กว่าครึ่งเกิดไม่ทัน แม้ว่าตัวเองจะทันฟังเพลงและเป็นแฟนคลับวงไทเทเนียม แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน เนื้อหาในเพลงพ่อมึงที่ไม่อัพเดทตาม ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของเด็กๆ ที่เป็นกลุ่มคนฟังรุ่นใหม่ แม้พวกเขาจะรับรู้ว่าวงนี้เป็นผู้บุกเบิกเพลงฮิปฮอปของไทยก็ตาม แต่ไม่ได้คาดหวังที่จะฟังเนื้อหาเพลงที่เหยียดคนรุ่นหลัง ทำให้เกิดกระแสด้านลบ

ส่วนเนื้อเพลงบางท่อน เช่น ท่อนของเดย์ ที่ร้องว่า "ด่ากู yed แม่ เพราะกู yed แม่มึง" แม้จะเป็นเรื่องปกติของเพลงใต้ดิน แต่เมื่อวงไทเทเนียมทำออกมาให้มันแมสและอยู่บนดิน คำพวกนี้อาจจะดูหยาบเกินไป ซึ่งศิลปินรุ่นใหม่ๆ ก็พยายามเลี่ยงคำพวกนี้

แม้เพลงฮิปฮอปส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเหยียดกันเป็นปกติ แต่คนรุ่นใหม่ไม่อินกับเนื้อหาที่เหยียดเจเนอเรชัน พวกเขาอินเรื่องสังคม การเมือง และชีวิตมากกว่า ดังนั้นการปล่อยเพลงเนื้อหาแนวนี้ออกมาในช่วงเวลานี้จึงถือว่าไม่เหมาะสม เพราะหากเป็นช่วง 3-4 ปีก่อน กระแสต่อต้านอาจจะยังไม่แรงเท่านี้

ในทางกลับกันวงการเพลงแรป-ฮิปฮอป ตอนนี้ถูกขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่ ที่เด็กกว่าตัว Hockhacker เองด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น Milli, Youngohm, SPRITE, หรือ SARAN เป็นต้น พวกเขาคือหัวหอกในยุคนี้และมีแฟนคลับเยอะมาก ซึ่งเด็กรุ่นนี้กำลังมีผลงานเพลงอยู่ในกระแส แต่พอมาบอกว่ารุ่นพี่ทำสำเร็จมาแล้ว ต้องเคารพรุ่นพี่ มันจึงขัดแย้งกับความคิดของคนรุ่นใหม่

"เราไม่จำเป็นต้องฟังรุ่นพี่รุ่นพ่อที่ไม่ได้ตรงกับที่เขาคิด หรือที่เขาคาดหวังที่จะปฏิบัติตามก็ได้" Hockhacker กล่าว

Hockhacker (ฮอกแฮกเกอร์) สมาชิกวง Rap Against Dictatorship (แร็ปอะเกนสต์ดิกเทเตอร์ชิป)

เมื่อถามว่าเพลงนี้มีประเด็นแอบแฝงเรื่องการเมืองตามที่หลายคนพยายามโยงหรือไม่ Hockhacker มองว่าไม่เกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง เพราะเท่าที่ตัวเองรู้จักศิลปินในวงไทเทเนียม เช่น เวย์ เองก็เคยออกมาคอลเอ้าท์ไปกับม็อบคนรุ่นใหม่ ส่วนที่คนขุดงานเพลงของวงไทเทเนียมที่บอกรักกชาติรักสถาบัน แล้วเชื่อมโยงว่าเขาต้องการสื่อไปในทางสนับสนุนแนวคิดอนุรักษ์นิยม Hockhacker มองว่าไม่จริง และยืนยันว่าเป็นเรื่องของยุคหรือเจเนอเรชันที่ศิลปินในสมัยนั้นจะทำเพลงแนวนี้ออกมา แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปตัดสินอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม เพลงนี้มันได้ตอกย้ำให้เห็นว่ายุคนี้ระบบอาวุโสถูกลดความสำคัญไปแล้ว ยังไงเราก็วัดกันที่ความสามารถ แต่การที่คนรุ่นใหม่จะไปดูถูกคนรุ่นเก่ามันก็เหมือนกับดักของช่วงวัยเหมือนกัน เราไม่ควรดูถูกใครด้วยอายุ เพศสภาพ หรืออะไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นเก่าจำนวนมากที่ปรับตัวให้ทันกับยุคสมัยแล้ว ก็คิดว่าปมนี้น่าจะค่อยๆ คลายไปในวงการเพลง 

"อย่างน้อยถ้าไทเทเนี่ยมไม่ทำเพลงนี้ขึ้นมา เราอาจจะไม่เห็นว่าคนในยุคนี้มองประเด็นนี้ยังไง ปี 2022 แล้ว คนรุ่นใหม่มองประเทศไทย มองโลกเปลี่ยนไป ความอาวุโสเทียบกับความสามารถไม่ได้ ศิลปินต้องปรับตัวให้เข้ากับคนฟังมากขึ้น เพราะอนาคตโลกก็จะเปลี่ยนอีก" Hockhacker กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook