ย้อนเรื่องราวการต่อสู้ของ “ประณัยยา อุลปาทร” ก่อนเหตุสลดจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด

ย้อนเรื่องราวการต่อสู้ของ “ประณัยยา อุลปาทร” ก่อนเหตุสลดจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด

ย้อนเรื่องราวการต่อสู้ของ “ประณัยยา อุลปาทร” ก่อนเหตุสลดจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • การเสียชีวิตของประณัยยา อุลปาทร และลูกชาย เมื่อปลายปี 2021 ทำให้ประเด็นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายอีกครั้ง
  • เฮมิช มากอฟฟิน สามีของประณัยยา เล่าเส้นทางการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าหลังคลอดของภรรยา ที่เริ่มจากความวิตกกังวลเรื่องการเลี้ยงลูก สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และความรู้สึกของประณัยยาที่มองว่าตัวเองยังไม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้เท่าที่ควรจะเป็น
  • หลังการสูญเสียภรรยาและลูกชาย เฮมิชจัดตั้งมูลนิธิ PAM Pranaiya & Arthur Magoffin เพื่อช่วยเหลือและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด และเริ่มระดมทุนโดยการร่วมวิ่งในโปรแกรม JOGLE ที่ประเทศอังกฤษ เป็นระยะทาง 1,369 กม.

เมื่อเดือนกันยายน 2021 เกิดเหตุสลดใจ เมื่อหญิงสาวคนหนึ่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเองพร้อมลูกน้อย และเป็นอีกครั้งที่ “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ได้พรากชีวิตของแม่และเด็ก สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในสังคม ข่าวการสูญเสียดังกล่าวเงียบหายไปตามเวลา จนกระทั่งสำนักข่าว CNN ได้เผยแพร่บทความสัมภาษณ์เฮมิช มากอฟฟิน สามีของประณัยยา อุลปาทร ผู้เสียชีวิต ในคอลัมน์ As Equals ของ CNN ถึงเส้นทางการต่อสู้ของเขาและภรรยาที่เผชิญกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด ก่อนที่ความหวังทั้งหลายจะพังทลาย และการเริ่มต้นใหม่ของเขา พร้อมกันนี้ Sanook ยังได้พูดคุยกับปองนัดดา อุลปาทร พี่สาวของประณัยยา ผู้คอยอยู่เคียงข้างน้องสาว และเป็นหนึ่งในประจักษ์พยานที่ยืนยันว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นร้ายแรงกว่าที่หลายคนคิด

ประณัยยา อุลปาทร, เฮมิช มากอฟฟิน และอาร์เธอร์ มากอฟฟิน ลูกชายPAM Foundationประณัยยา อุลปาทร, เฮมิช มากอฟฟิน และอาร์เธอร์ มากอฟฟิน ลูกชาย

ความท้าทายของแม่หลังคลอด

สำหรับครอบครัวและเพื่อนๆ ประณัยยา อุลปาทร เป็นหญิงสาวที่ร่าเริงสดใส เป็นคนที่คอยดูแลเอาใจใส่คนอื่นตั้งแต่เล็กจนโต และเป็นที่รักของคนรอบข้าง เธอตั้งใจเลือกศึกษาต่อ MBA ที่ Oxford University สาขา “การประกอบการเพื่อสังคม” เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด โดยก่อตั้ง Social Enterprise เป็นคนแรกๆ ในประเทศ และหลังจากประณัยยาได้คบหากับเฮมิช มากอฟฟิน เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ก็ได้แต่งงานกันและมีลูกชายคนแรกคือ อาเธอร์ มากอฟฟิน ซึ่งลืมตาดูโลกเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2021 โดยระหว่างตั้งครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิดด้วย ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากคลอดลูก ประณัยยาดูเหมือนจะไม่มีภาวะอารมณ์แปรปรวนจากการที่ฮอร์โมนลดระดับลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่คุณแม่มือใหม่คนอื่นๆ เป็น ทว่าสำหรับแม่ที่มีลูกคนแรก อะไรๆ ก็ดูเหมือนจะยากไปหมด และไม่ว่าเธอจะพยายามเท่าไร ก็ไม่มีอะไรเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นั่นทำให้แม่มือใหม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกวิตกกังวล

ปองนัดดา อุลปาทร พี่สาวของประณัยยา ให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า

“เช่นเดียวกับแม่หลังคลอดหลายคน การเลี้ยงลูกเองเป็นครั้งแรก เราไม่สามารถดูแลทุกอย่างให้ดีอย่างที่ตั้งใจได้ ทั้งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งตัวเด็กเอง ความเครียดเหล่านี้สะสมมากขึ้นทุกวันโดยที่เธอไม่รู้ตัว ด้วยความเป็นแม่ที่ตั้งใจมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่เมื่อน้ำนมไม่พอ ก็เริ่มกังวลมากขึ้น”

แม้ว่าหลายเดือนผ่านไป ทั้งเฮมิชและประณัยยาจะตัดสินใจเปลี่ยนสูตรการให้นมลูก เพื่อลดความวิตกกังวลและช่วยให้ประณัยยานอนหลับได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล และสุดท้าย เธอมีอาการนอนไม่หลับและมีเสียงอื้อในหู ซึ่งยาที่แพทย์จัดให้ก็ไม่ได้ผลมากนัก ยิ่งกว่านั้น เมื่ออาเธอร์อายุได้ 1 เดือน ประเทศไทยใช้มาตรการล็อกดาวน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แม่ลูกอ่อนอย่างประณัยยาไม่สามารถออกไปเดินเล่นนอกบ้านเพื่อสูดอากาศและคลายเครียดจากการเลี้ยงลูกอยู่ในห้องคอนโดได้

โรคซึมเศร้าหลังคลอดคืบคลานเข้ามาในชีวิตของประณัยยาโดยที่เธอไม่รู้ตัว จากคนที่สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองมาตลอด ประณัยยาเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับการดูแลลูกมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีพี่สาวคอยช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ เช่น พี่เลี้ยงเด็ก หรือพัฒนาการของอาร์เธอร์

“แต่ด้วยความที่ไม่รู้จักโรคนี้มาก่อน เราจึงไม่ได้พาเขาไปปรึกษาจิตแพทย์ในช่วงที่เขาเริ่มเป็น ทำให้โรคนี้รุนแรงขึ้น การรักษาจึงยากขึ้นมากในทุกๆ ด้าน แม้ประณัยยาจะต่อสู้ และเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยความอดทนต่อความทุกข์ทรมานอย่างมากเป็นเวลาหลายเดือน แต่ความรุนแรงของโรคร้ายแรงเกินกว่าที่ทุกคนเข้าใจ เวลาอาจจะแลดูไม่กี่เดือน แต่สำหรับผู้ป่วย เขาทรมานทุกนาที เขาก็สู้จนถึงที่สุด นี่คือลักษณะและอาการของโรคนี้ เมื่อมันรุนแรงมาก แม้เราจะมองไม่เห็น ไม่เหมือนโรคทางกายอื่นๆ มันสามารถนำพาไปถึงชีวิตได้เช่นเดียวกัน” ปองนัดดากล่าว

นอกจากนี้ วิธีการรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดก็มีความซับซ้อน เนื่องจากต้องอาศัยการวินิจฉัยจากคำบอกเล่า ไม่สามารถพิจารณาทางกายภาพได้ และยาก็ไม่ใช่ว่าจะรักษาได้เหมือนกันในทุกเคส ปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกัน ทำให้แพทย์ต้องปรับยาให้ตามอาการตลอด การวิเคราะห์ความรุนแรงของโรคจึงอาจจะคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งมีผลต่อการดูแลและรักษาคนไข้

จุดเริ่มต้นของจุดจบ

แต่หลังจากนั้น เมื่ออาร์เธอร์อายุได้ 4 เดือน สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลง ประณัยยาทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้าหลังคลอดของ Edinburgh Postnatal Depression Scale (EPDS) ซึ่งเป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่แพทย์นิยมใช้ในการระบุอาการของโรคซึมเศร้า ผลประเมินออกมาว่า เธอได้รับการวินิจฉัยว่ามีความวิตกกังวลสูงและมีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย ดังนั้น แพทย์จึงให้ยาต้านเศร้า ทว่าการรักษาด้วยยากลับไม่ได้ผล อาการซึมเศร้าของประณัยยารุนแรงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงได้เพิ่มการรักษาด้วยการกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็ก ซึ่งประณัยยาก็พยายามรักษาตัวอย่างเข้มแข็ง เพื่อคนที่เธอรักและครอบครัว เธออดทนทำตามที่แพทย์แนะนำทุกอย่าง ด้วยความหวังว่าเธอจะกลับมาเป็นคนที่มีความสุขเหมือนเดิมได้อีกครั้ง แม้จะต้องคอยปรับยา และไม่สามารถนอนหลับติดต่อกันมาเป็นเวลานานมากก็ตาม

ประณัยยาเดินทางไปพักผ่อนต่างจังหวัดพร้อมกับพี่สาว เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและหวังว่าอาการซึมเศร้าจะดีขึ้น จากการได้อยู่กับธรรมชาติที่เธอชอบ โดยไม่ต้องใส่หน้ากาก ก่อนที่สามีและลูกชายจะตามไปในอีกไม่กี่วัน เฮมิชกล่าวว่าเธอดูมีความสุขมากขึ้น ทั้งเล่นกับลูก เล่นทราย ว่ายน้ำในสระ และทำสิ่งต่างๆ ที่พวกเขารอคอย จนกระทั่งกลับถึงกรุงเทพฯ อาการกังวลและความทุกข์ทรมานต่างๆ ได้กลับมาเหมือนเดิม

ด้วยตัวตนของประณัยยาที่เพื่อนและทุกคนที่ได้สัมผัสและจากคำไว้อาลัยที่ส่งกันมาอย่างท่วมท้น บ่งบอกชัดเจนว่าประณัยยาเป็นคนที่นึกถึงผู้อื่นก่อนตนเองเสมอด้วยใจจริง จากโรคที่รุนแรงนี้ทำให้ประณัยยาทุกข์ทรมานมาก และอาจรู้สึกไม่สบายใจที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวเป็นห่วง และจะกลายเป็นภาระของทุกคนในที่สุด นี่จึงอาจเป็นสำนึกสุดท้ายที่ทำให้ประณัยยาตัดสินใจจากไปพร้อมลูกน้อย ในวันที่ 1 กันยายน 2021

เฮมิช มากอฟฟิน ขณะออกวิ่งเพื่อระดมทุนและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดPAM Foundationเฮมิช มากอฟฟิน ขณะออกวิ่งเพื่อระดมทุนและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด

การออกเดินทางครั้งใหม่

จากการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าหลังคลอดของภรรยา และการสูญเสียครั้งใหญ่ เฮมิชตัดสินใจตั้งเป้าหมายในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคนี้ และทำงานในโครงการต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาเรื่องการศึกษา การดูแล และการวิจัยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยจัดตั้งมูลนิธิ PAM Pranaiya & Arthur Magoffin ขึ้นเมื่อต้นปี 2022 และออกวิ่งและปั่นจักรยานข้ามสหราชอาณาจักร ในโปรแกรม JOGLE เป็นระยะทาง 1,369 กม. เพื่อสร้างความตระหนักถึงโรคซึมเศร้าหลังคลอดและระดมทุน ซึ่งใช้เวลา 17 วัน และเขาสามารถระดมทุนได้ถึง 65,000 เหรียญสหรัฐ

“โรคซึมเศร้าหลังคลอด” ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก

มีการคาดการณ์ว่า ผู้หญิงกว่า 1 ใน 10 คน ได้รับผลกระทบจากโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Postpartum Depression (PPD) ในช่วง 1 ปีแรกของการให้กำเนิดลูก ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่เกิดขึ้นในระยะดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความทุพพลภาพในผู้หญิงทั่วโลก

คริส เรนส์ พยาบาลด้านจิตเวชช่วงหลังคลอด และประธานบอร์ดองค์กร Postpartum Support International กล่าวกับ CNN ว่า

“ความร่ำรวย ความสุข หรือชีวิตที่ราบรื่นไม่ได้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด แต่มันเป็นวิธีการที่ร่างกายของคุณตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในฮอร์โมนและมีความไวแฝงรับโรค ที่ร่างกายของคุณมีในการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น”

เรนส์กล่าวว่า อาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ เป็นอาการทั่วไปที่พบได้มากที่สุดในภาวะผิดปกติทางอารมณ์หลังคลอด ซึ่งรวมถึงโรคซึมเศร้าหลังคลอดด้วย นอกจากนี้ การโหยหาชีวิตก่อนจะมีลูกเป็นอาการสามัญที่พบมากในผู้ป่วยซึมเศร้าหลังคลอด หลายคนพิจารณาแนวทางการยกลูกให้ผู้อื่นนำไปอุปการะ ผู้ป่วยมักจะกล่าวว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเธอต้องการหรือคาดหวัง ซึ่งต้องใช้เวลานานมากในการช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้รู้ว่า พวกเธอไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่เป็นความวิตกกังวลและโรคซึมเศร้า รวมทั้งสารเคมีในร่างกายที่พูด

สำหรับประเทศไทย แพทย์ที่รักษาประณัยยาระบุว่า โรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นพบได้มากในประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และส่วนใหญ่จะมีอาการในระดับเบาถึงระดับกลาง ทว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษา เนื่องจากยังไม่มีความตระหนักมากพอและยังมีการตีตราผู้ป่วย ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีระบบให้การศึกษา คัดกรอง และรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังคลอด

ดร.ชุติมา หรุ่มเรืองวงษ์ จิตแพทย์ชาวไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางจิตเวชในผู้หญิง กล่าวว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้านจิตเวชในประเทศไทยทำได้ยาก เนื่องจากจิตแพทย์มีไม่เพียงพอ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีทรัพยากรที่สามารถเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม โดยข้อมูลของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในประเทศไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน แต่มีจิตแพทย์เพียง 900 คนเท่านั้น

สถิติเปิดเผยว่า ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้หญิง ในช่วง 1 ปี หลังจากการคลอดลูก นอกจากนี้ ผลการวิจัยเผยให้เห็นว่า ผู้หญิงที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงหลังคลอดมีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือยังไม่ได้คลอดลูก

แนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้หญิงหลังคลอดทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายลูก

การสื่อสารและการรับฟัง

ปองนัดดากล่าวว่า ครอบครัวของเธอเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกมากที่ไม่รู้จักโรคซึมเศร้าหลังคลอด จึงอยากให้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างกว้างขวาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียอีก

“การมาแชร์เรื่องของประณัยยา ครอบครัวรู้สึกสะเทือนใจมากทุกครั้ง แต่เนื่องจากประณัยยาเป็นคนที่ทำเพื่อผู้อื่นเสมอ และช่วยเหลือสังคมในวิถีที่ยั่งยืนมาตลอด อีกทั้งช่วงที่เขาป่วย เขายังมีความคิดว่า เมื่อเขาหาย เขาจะหาวิธีเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดให้คนไทยได้เข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้อย่างละเอียด เพื่อไม่ต้องมาทรมานอย่างที่เขาเป็น ทางครอบครัวจึงสานต่อเจตนารมณ์ของประณัยยา เพื่อประโยชน์ของสังคมไทยต่อไป” ปองนัดดากล่าว

เฮมิชได้กล่าวไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว และในเว็บไซต์ Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation ว่า โรคทางจิตเวชไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย และต้องยุติการตีตราผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต

“การยุติการตีตราผู้ป่วยสามารถทำได้สองทาง คือการใส่ใจดูแลผู้อื่น และทำให้บุคคลเหล่านั้นรู้สึกสบายใจที่จะเปิดเผยความรู้สึก อย่างน้อยก็เพื่อให้เรารู้ว่าใครคนหนึ่งกำลังมีปัญหา และในทางกลับกัน ผู้ที่กำลังมีอาการเจ็บป่วยทางใจก็ไม่ควรเก็บความทุกข์นั้นไว้คนเดียว และควรรู้สึกว่าพวกเขาสามารถสื่อสารความรู้สึกออกมาได้”

เฮมิชระบุว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับหลายคนเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดของประณัยยา รวมทั้งเรื่องการเสียชีวิตของเธอและอาร์เธอร์ เขาพบว่า คนจำนวนมากเปิดใจยอมรับเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าหลังคลอดและปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ พร้อมกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่มีความตระหนักเรื่องนี้ ทำให้เมื่อเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต พวกเขาจึงเก็บปัญหาไว้และไม่รู้จะปรึกษาใคร ซึ่งประเด็นนี้ควรมีการเปลี่ยนแปลง

“สำหรับผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตอยู่ อย่าเกรงใจ ขอให้บอกเพื่อนหรือครอบครัวที่พร้อมจะห่วงใยและช่วยเหลือคุณในทุกทางที่เป็นไปได้ ในการรับมือกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ และให้รับรู้ว่า คุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง” เฮมิชกล่าวทิ้งท้าย

หากต้องการสนับสนุนมูลนิธิ Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pamfoundation.org

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook