"วิษณุ" ย้ำชัดๆ ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ถูกตีตก รัฐบาลมีทางเลือกแค่ยุบสภาหรือลาออก

"วิษณุ" ย้ำชัดๆ ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ถูกตีตก รัฐบาลมีทางเลือกแค่ยุบสภาหรือลาออก

"วิษณุ" ย้ำชัดๆ ถ้าร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ถูกตีตก รัฐบาลมีทางเลือกแค่ยุบสภาหรือลาออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“วิษณุ” ย้ำชัดๆ หากร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ไม่ผ่านสภาในวาระแรก รัฐบาลต้องเลือกยุบสภาหรือลาออก เพราะเป็นประเพณีทางการเมือง ยอมรับจะส่งผลต่อกฎหมายลูกทั้งสองฉบับต้องหยุดชะงัก

วันนี้ (27 พ.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีหากร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 จะต้องกลับไปใช้ พ.ร.บ.เดิม ใช่หรือไม่ ว่า ถ้าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณไม่ผ่าน รัฐบาลจะต้องยุบสภาหรือลาออก โดยระหว่างนั้นเมื่อถึง 1 ต.ค. ก็จะใช้งบประมาณ 2565 ไปพลางก่อน

ซึ่งสำนักงบประมาณจะเป็นผู้กำหนดสัดส่วนที่จะใช้ ไม่ได้ให้ใช้เต็มจำนวน โดยจะสามารถบริหารงานได้จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ ทั้งนี้ รัฐบาลเดิมจะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ เพียงแต่ว่าโครงการใหม่ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ เนื่องจากไม่อยู่ในบัญชีงบประมาณปี 2565

เมื่อถามว่า ถือเป็นข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องยุบสภา นายวิษณุ ระบุว่า เป็นเพียงประเพณีเท่านั้น ซึ่งไม่ควรที่จะไม่ปฏิบัติตาม เพราะเมื่อเป็นประเพณีก็ต้องปฏิบัติตามเช่นนั้น แต่ไม่จำเป็นต้องยุบสภา ทำเพียงลาออกก็ได้ ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีลาออกถือว่าลาออกทั้งคณะ เพียงแต่ได้รักษาการต่อไปเท่านั้น ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะต้องชะงักลง เพราะเมื่อไม่มีสภาก็จะไม่มีการพิจารณา และวุฒิสภาก็ไม่สามารถประชุมได้

เมื่อถามย้ำว่า ระหว่างวิธีการยุบสภาหรือลาออก แบบใดจะดีกว่ากันหากร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ไม่ผ่าน นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ว่าแต่ละครั้งจะเอาอย่างไร พอไม่ผ่านก็ต้องเสนอใหม่อยู่ดี แต่หากเป็นการลาออกแล้วรัฐบาลใหม่เข้ามา กว่าจะเสนอเข้าสภา และเมื่อองค์ประกอบสภาไม่เปลี่ยน รัฐบาลใหม่เสนอไปก็อาจไม่ผ่านอีก ก็ยุบสภาเสียดีกว่า

ผู้สื่อข่าวถามถึงวิธีการที่จะมาแก้ไขนั้น นายวิษณุ ย้อนถามสื่อมวลชนว่า อย่าคิดไปในทางที่ไม่ให้เกิดเหตุแบบนั้น เพราะรัฐบาลไม่ได้คิดอย่างนั้น เมื่อถามต่อไปอีกว่าหากร่าง พ.ร.บ.งบ 66 ไม่ผ่าน จะต้องมีคำตอบจากรัฐบาลหรือไม่ว่าจะยุบสภาหรือลาออก นายวิษณุ ระบุว่า ไม่มีใครบอกว่าจะยุบสภาหรือลาออก อยู่ดีๆ ก็ประกาศออกมาให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลากำหนด และไม่มีบทกำหนดตายตัวอยู่ในมาตราใดมาตราหนึ่ง โดยจะใช้จังหวะเวลาอันสมควร อาจจะทิ้งระยะเวลาไว้ 1 เดือนก็ได้ แต่ต้องจบที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะหากไม่ผ่านการพิจารณาที่สภา ถือได้ว่าสภาไม่ไว้วางใจให้บริหารต่อไป

เมื่อถามย้ำว่า กฎหมายลูก 2 ฉบับที่จะชะงักไป แล้วจะออกมาในรูปแบบใดนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ขอตอบว่าจะใช้แบบใด เพราะจะมีคนเห็นต่างได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือให้ กกต.ประกาศ หรือเลือกไปเลยตามแบบรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมย้ำจะมีความเห็นต่างอยู่ดี และต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าใช้วิธีการนั้นๆ ไม่ได้ ก็เป็นอันว่าใช้ไม่ได้ ที่เลือกมาก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด

นักข่าวถามเพิ่มเติมว่า แสดงว่าทุกปัญหาหากเกิดขึ้นย่อมมีทางออกได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า ตนได้ตอบไปหมดแล้ว ผู้สื่อข่าวจะไปสรุปอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะมีทางออก แต่ทางออกนั้นอาจจะมีผู้เสียประโยชน์ไม่ยอมรับ และร้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยเกิดประเด็นดังกล่าวแล้ว และศาลก็วินิจฉัยให้โมฆะไปหลายครั้ง

ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาร่างกฎหมายงบประมาณไม่ผ่านสภามีเกิดขึ้นเพียงที่ต่างประเทศ เมื่อถามย้ำว่า การที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ผ่านสภา ประชาชนจะตำหนิรัฐบาลอย่างแรงหากนำเรื่องงบประมาณมาเป็นการเล่นเกมการเมืองหรือไม่นั้น นายวิษณุ ระบุว่า ตนไม่ทราบ ก่อนจะย้อนถามสื่อมวลชนว่า ทำไมต้องมาตั้งคำถามห้อมล้อมตนว่า ร่าง พ.ร.บ.งบ 66 จะไม่ผ่านความเห็นชอบ ขอให้ช่วยตามดูกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวจึงซักต่อไปอีกว่า มั่นใจว่าจะผ่านหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่ทราบเช่นกัน สื่อมวลชนถามตนมามาก ตนก็เริ่มหวั่น แต่ตนไม่สามารถที่จะโหวตร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นรัฐมนตรี พร้อมกับระบุว่า ตนเป็นฝ่ายไปอย่างเดียว แนวโน้มไม่มี มีแต่แนวนอน

โยนถาม กทม. เดินหน้าขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบไหน บอกต้องให้เวลาคิดเพราะอาจไม่เคยทำการบ้านมาก่อน

นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการต่อขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ขณะนี้เรื่องค้างอยู่ที่เลขาธิการ ครม. และเมื่อมีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ครม.จะต้องถามกลับไปยังผู้ว่าฯ คนใหม่ เพื่อนำแนวทางกลับมาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

เนื่องจากเรื่องมาจาก กทม. แต่กระทรวงที่เป็นผู้เสนอเข้าที่ประชุม ครม. คือ กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแล และเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็จะกระทบไปยัง กทม. เช่น การออกเงินจ่ายก็เป็นเรื่องของ กทม.เช่นกัน

ส่วนหากเป็นเรื่องของ กทม. และมีการสอบถามกลับไปยัง กทม. แล้วตอบกลับมาว่าสามารถดำเนินการเองได้ กระทรวงมหาดไทยจะต้องเป็นผู้นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งจะต้องออกมาในรูปแบบมติ ครม. ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของ คสช.

โดยคำสั่งของ คสช. ไม่ได้ถูกยกเลิก ให้ยึดตามคำสั่งเดิม ไม่มีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ แม้ว่ารัฐบาลนี้เกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ยังไม่เข้า ครม. ก็ไม่ถือว่าถูกยกเลิกไป แต่จะส่งผลให้ภาคเอกชนนั้นเดือดร้อน ลำบาก และรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งของ คสช.เดิม ซึ่งถือว่าคำสั่ง คสช. เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีผลตลอดไปจนกว่าคำสั่งจะถูกยกเลิก เพราะรัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยอมรับว่า ความเห็นของ ครม. และ กทม. สามารถเห็นต่างกันได้ โดย กทม.มีอำนาจจะแก้ จะทำอย่างไรก็ได้ โดยให้แจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย และส่งเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง พร้อมย้ำว่า ครม.จะไม่เห็นชอบตาม กทม. ก็ได้ เพราะเมื่อถึงเวลาอาจมีการต้องเสียเงิน ใช้งบประมาณแผ่นดิน แต่บทสรุปจะต้องจบที่ ครม. แต่ต้องให้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ตั้งต้นว่าจะเอาอย่างไร

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่แล้ว จะต้องเริ่มกระบวนการใหม่หรือไม่ นายวิษณุ ระบุว่า อย่าเพิ่งพูดขนาดนั้น ต้องดูว่า กทม.จะเอาอย่างไร ตนจึงจะสามารถตอบได้ว่าจะเอาอย่างไร โดยขอให้เวลา กทม.ได้คิดสักหน่อย เพราะอาจไม่เคยได้ทำการบ้านเรื่องนี้มาก่อน

ส่วนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ต้องนำเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน นั้น นายวิษณุ มองว่า ก็แล้วแต่เขา ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น ที่เจรจาไปก่อนหน้านี้ตามคำสั่งของ คสช. ก็ต้องยกเลิก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของพรรคภูมิใจไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook