ชัชชาติ แจงปมเคาะค่ารถไฟฟ้าสีเขียว 59 บาท แก้ปัญหาระยะสั้น อย่าเข้าใจคลาดเคลื่อน

ชัชชาติ แจงปมเคาะค่ารถไฟฟ้าสีเขียว 59 บาท แก้ปัญหาระยะสั้น อย่าเข้าใจคลาดเคลื่อน

ชัชชาติ แจงปมเคาะค่ารถไฟฟ้าสีเขียว 59 บาท แก้ปัญหาระยะสั้น อย่าเข้าใจคลาดเคลื่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ชัชชาติ" แจงปมเคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 59 บาท เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ส่วนนโยบายเก็บ 30 บาท ไม่ใช่ตลอดสาย แต่เป็นราคาเฉลี่ยของผู้ใช้บริการ

วันนี้ (28 มิ.ย.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงประเด็นค่าบริการส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ระบุไว้เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.) ว่า ราคาควรอยู่ที่ 59 บาท ซึ่งมีหลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน ปัญหารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวที่ให้บริการขณะนี้ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าบริการ ยังเปิดให้วิ่งฟรี จากข้อมูลของทีมผู้บริหารพบว่า สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีข้อเสนอมาว่า ควรจัดเก็บค่าบริการขั้นสูงสุด ไม่เกิน 59 บาท ดังนั้นราคานี้ไม่ใช่แผนแก้ปัญหาระยะยาว แต่เป็นแผนระยะสั้น

สำหรับตัวเลข 59 บาทที่รับข้อเสนอมา กทม.ได้มอบหมายให้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) พิจารณาข้อมูลอยู่ คาดว่าจะใช้สูตรการคำนวณ (14+2X) X คือ จำนวนสถานีที่นั่ง จะไม่ให้เกินค่าบริการสูงสุดเดิมที่ระบุไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ

นายชัชชาติ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ราคา 59 บาท เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นของส่วนต่อขยาย ที่ผ่านมา กทม.ต้องจ่ายค่าเดินรถคิดเป็นเงินหลายพันล้านบาทต่อปี ถ้าเป็นระยะยาวจะต้องนำเรื่องสัญญาสัมปทานมาพิจารณาด้วย เพราะสัญญาจะหมดในปี 2572

จากข้อมูลส่วนต่อขยาย พบว่ามีผู้ใช้บริการร้อยละ 27 ซึ่งนั่งฟรี แต่คนอื่นต้องมาช่วยจ่าย ต้องยอมรับว่า กทม.นำภาษีของทุกคนมาจ่าย เท่ากับว่าคนที่ไม่ได้นั่งก็ต้องจ่าย ปัญหาอีกอย่าง คือ คนให้บริการรถสาธารณะใต้แนววิ่งรถไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบเพราะรถไฟฟ้านั่งฟรี คนให้บริการด้านล่างทำมาหากินไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ราคา 59 บาทที่ตั้งไว้ เพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น เรื่องส่วนต่อขยายเป็นคนละเรื่องกับค่าบริการที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง สำหรับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ว่า ค่าบริการรถไฟฟ้าควรจะอยู่ที่ 25 -30 บาท ไม่ได้หมายความว่า นั่งจากสถานีต้นทางถึงปลายทางเป็นราคานี้ แต่คิดจากราคาค่าโดยสารเฉลี่ยที่คนใช้บริการ เดิมคิดค่าเฉลี่ย 8 สถานี แต่ล่าสุดสำนักการจราจรและขนส่งคำนวณไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 11 สถานี

3 หน่วยงานร่วมแก้ปัญหาผ่าน Traffy Fondue เดินหน้าขยายความร่วมมือทุกหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังได้ประชุมร่วมกับนายเดชา วิริยะเจริญกิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ ฐากูรปุณยสิริ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน โดยมี นายวิศณุ ทรัพยสมพล ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.กิตติพจน์ แก้วศรีงาม ผู้กำกับการศูนย์รวมข่าว กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) ตำรวจนครบาล และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการต่อเนื่องจากการนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ให้หน่วยงานเหล่านี้เข้ามาดูข้อมูลได้ทันทีโดยมีรหัสให้แต่ละหน่วยงานเข้ามาดูเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของตนได้เลย ปกติแต่ละหน่วยงานจะมีหน่วยงานที่รับเรื่องอยู่แล้วก็มารับเรื่องจากตรงนี้ไปแล้วมาตอบกลับให้ประชาชน โดยจะมีการตั้งผู้ประสานงานแต่ละหน่วยงานในการพูดคุยหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ข้อดีหรือพลังของแพลตฟอร์ม คือ สามารถขยายได้ไม่มีข้อจำกัด สุดท้ายอาจขยายไปใหญ่กว่านี้หรือเป็นความร่วมมือที่มีพลังมากกว่านี้

นอกจากนี้ ได้หารือกับการประปานครหลวง 2 เรื่อง คือ การตั้งจุดประปาน้ำดื่มฟรีให้ประชาชนซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีแต่ได้รื้อไปแล้ว เชื่อว่าการมีจุดประปาน้ำดื่มได้เป็นสิ่งสำคัญของเมืองเหมือนกัน เพราะปัจจุบันในกรุงเทพฯ หาน้ำดื่มฟรีค่อนข้างยาก และการประปายืนยันว่าน้ำประปาดื่มได้ การทำจุดน้ำประปาดื่มได้ที่ไม่กีดขวางทางเดิน สะอาดและสะดวก เป็นการยืนยันความปลอดภัยของน้ำประปา ในแง่สิ่งแวดล้อมช่วยลดขวดพลาสติกได้ด้วยเช่นกัน อีกเรื่องเป็นเรื่องสายสื่อสาร การประปาบอกว่าสายสื่อสารใต้ดินมีเยอะกว่าบนดิน ก็จะมีการหารือในการตัดสายสื่อสารที่ไม่ได้ใช้แล้ว การลดสายสื่อสาร และการนำสายสื่อสารลงดิน

ด้านการไฟฟ้านครหลวงได้หารือการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า หม้อแปลงต่างๆ ยังอยู่ในมาตรฐานที่สามารถใช้งานได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครพร้อมให้ความร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวงอย่างเต็มที่ ปัจจัยสำคัญ คือ เรื่องสายสื่อสาร ตัวฉนวนเป็นตัวที่สามารถติดไฟได้ หลายครั้งที่สายสื่อสารอยู่ชิดหม้อแปลงมาก พอเกิดการช็อตขึ้นไฟลามไปตามสายสื่อสาร เป็นตัวสำคัญที่กรุงเทพมหานครคงต้องช่วยตัดสายสื่อสารที่เป็นสายตายออกและนำสายสื่อสารลงดิน จะร่วมมือกับการไฟฟ้าเร่งรัดเรื่องสายสื่อสาร โดยจะมีการนัดหมายกับการไฟฟ้า และ กสทช. เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ และทำให้ปลอดภัยขึ้น

ส่วนทางตำรวจเน้นเรื่องฉุกเฉิน หลายเรื่องใน Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) อาจไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน เป็นเรื่องความเปลี่ยนแปลงระยะยาว การร่วมมืออาจเป็นคนละรูปแบบกับที่ 191 จัดการอยู่ ก็จะมีการประสานความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาว

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากที่สุดเพื่อให้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ประชาชนได้มากที่สุด เช่น กรมปศุสัตว์ในด้านการดูแลสัตว์จรจัด เป็นต้น

รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวเสริมว่า รูปแบบการจ่ายไฟมีสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นระบบเน็ตเวิร์คมีหม้อแปลงอยู่ประมาณ 400 ลูก ปกติจะมีการบำรุงรักษาปีละ 1 ครั้ง จะเพิ่มความถี่เป็น 6 เดือน/ครั้ง และจะระดมพลปูพรมตรวจสอบทั้งหมด หากประชาชนพบหม้อแปลงมีน้ำมันไหล หรือได้ยินเสียงผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติและอาจเป็นอันตรายกับประชาชนได้ ขอให้ประชาชนแจ้งการไฟฟ้านครหลวง โทร. 1630

“ขอบคุณทุกองค์กรที่มาร่วมกัน เมืองไม่ใช่ของ กทม. คนเดียว ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน เมืองจะดีได้ทุกคนต้องร่วมกัน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้าย

รมว.ดีอีเอส ลั่นพร้อมร่วมมือ กทม. แก้ปัญหาสายสื่อสาร ยันจะเร่งให้เร็วที่สุด

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที บริเวณปากซอยถนนสุขุมวิท 36 กรุงเทพฯ ว่า การจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรีผลักดันมาตลอด และเนื่องจากมีผู้ให้บริการสื่อสารหลายรายทำให้สายเหล่านี้มีเยอะ จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบ และค่าใช่จ่ายส่วนหนึ่งมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ซึ่งในปีนี้จะมีประมาณ 39 จุดที่ดำเนินการ รวมเส้นทาง 100 กว่ากิโลเมตร โดยการลงพื้นที่ของตนเป็นการเร่งรัดดำเนินการและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าเราดำเนินการอยู่ หากใครเห็นจุดใดที่มีปัญหาสามารถแจ้งมาได้ที่ กสทช. หรือ กระทรวงดีอีเอส

อย่างไรก็ตาม ถ้าดำเนินการทั้งหมดต้องใช้เวลาหลายปี จึงต้องค่อยๆ ทำ เพราะเป็นเรื่องงบประมาณและกำลังคน แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ สิ่งที่เราทำอยู่ คือ การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในถนนสายหลัก เช่น ถ.สุขุมวิท หรือ ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งดำเนินการไปแล้วก็จะทำไปเรื่อยๆ โดยมีการประเมินว่าถ้าจะทำทั้งกรุงเทพฯ ต้องใช้งบประมาณราวๆ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าสูง ถ้าลงทุนและเก็บค่าใช้จ่ายจากเอกชนเจ้าของสายสื่อสารจะเป็นภาระที่จ่ายไม่ไหว ทำให้โครงการดำเนินการไม่เร็วเท่าที่ควร ตนก็จะลงไปแก้ปัญหาตรงนี้ อาจจะให้ กสทช.เข้ามาช่วย และที่ผ่านมา กสทช.ให้งบประมาณจัดระเบียบสายสื่อสารมาบางส่วน และต้องทำงานร่วมกับ กทม. เพราะต้องใช้พื้นที่ทางเท้าของ กทม. ด้วย โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook