"ปากไม่แดงไม่มีแรงโซโล่" มองข้ามกรอบทางเพศในมุมนักดนตรีกลางคืน

"ปากไม่แดงไม่มีแรงโซโล่" มองข้ามกรอบทางเพศในมุมนักดนตรีกลางคืน

"ปากไม่แดงไม่มีแรงโซโล่" มองข้ามกรอบทางเพศในมุมนักดนตรีกลางคืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเดือนแห่งความภาคภูมิใจหรือ Pride Month อัตลักษณ์ของคนเราอยู่มากมายหลากหลายรูปแบบ เรียกได้ว่าเป็นตัวตนของใครของมัน โดยที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ LGBTQ อย่างเดียวเท่านั้น เพราะต่างคนก็ต่างมี รสนิยม อัตลักษณ์ การแสดงออก เพศสรีระ ที่แตกต่างกันออกไป

ทีมข่าว Sanook News พูดคุยกับนักร้องนักดนตรีกลางคืนและงานแต่งงาน ที่แต่งหญิงจัดเต็มขึ้นแสดงบนเวทีโดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปิน J-Rock ขณะเดียวกันก็เป็นคุณพ่อลูก 1 ที่มองเรื่องเพศและการแสดงออกเป็นเพียงรสนิยมที่ทุกคนควรมีเสรีภาพ

"เราจะมีภาพของ Super Star J-Rock ในหัว เวลาที่เราแต่งเต็ม เราก็จะรู้สึกว่าเอาภาพของเขามาทาบบนตัวเราด้วย...เหมือนเราองค์ลง องค์ของ Super Star เหล่านั้น แล้วเราแบบพร้อม...ปากไม่แดงไม่มีแรงร้องเพลง อะไรอย่างนี้ป่ะ ปากไม่แดง ไม่มีแรงโซโล่"

นิกกี้-นันทวิทย์ อินทรเฉลิม นักร้องและนักดนตรีวงงานแต่ง Caramel Tie Band และวงดนตรีในร้านอาหารและบาร์อีกหลายวง ได้แก่ TwinSis, Souls for sale, Sissy Major, Squid Band, และ Panich Band เขามีเอกลักษณ์ด้วยการแต่งหญิงแสดงดนตรีร็อค เขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการฟัง J-Rock และ Visual Kei เช่น X Japan, DIR EN GREY รวมทั้งวงดนตรีตะวันตกที่แต่งเต็มเวลาขึ้นแสดง เช่น David Bowie, Kiss, หรือ Queen โดยเริ่มจากการเล่นดนตรีและแต่งคัฟเวอร์ที่สยาม และมาบุญครอง ตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย และแต่งหน้าไปเรียนบ้าง

แต่หลังจากนั้นมีปัจจัยบางอย่างในชีวิตจึงทำให้ต้องหยุดการแต่งตัวไป จนกระทั่งช่วงโควิด ร้านอาหารและบาร์ปิด ทำให้นักดนตรีตกงาน เขาเลยทำวีดิโอคัฟเวอร์กับแฟน งัดเอาวิชาเก่ามาใช้อีกครั้ง แล้วก็รู้สึกว่ามันก็เท่ดี เลยลองกลับไปเป็นตัวเอง ที่เคยเป็น แล้วก็เลยลองแต่งตัวออกมาเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ

เสียงตอบรับจากคนรอบตัว

นิกกี้ เล่าวว่า หลังจากที่เขาแต่งเต็มไปเล่นดนตรี ก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากเพื่อนๆ เขาสนุกไปกับเราด้วย เวลาเราลงรูปลงอะไร เขาก็จะมาแซวว่า "สวย" ซึ่งเราก็ภูมิใจว่า "ก็ใช่ก็สวยแหละ" หรือบางทีภรรยาก็มาแซวว่า  "อีนิก หล่อนจะมาสวยกว่านักร้องไม่ได้นะ" "ขอโทษแทนสามีด้วยนะคะที่ต้องมาแต่งตัวแข่งกับเขาตลอด" นิกกี้เล่าไปหัวเราะไป

เขายังบอกอีกว่าเสียงตอบรับจากคนดูก็ดีขึ้น หลายคนตกใจที่เขาแต่งหญิง แต่เล่นเพลงเมทัลร็อค ส่วนลูกค้าผู้หญิงก็รู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาพูดคุย ให้ความรู้สึกเหมือนมีทั้งน้องชายและน้องสาวไปในตัว เป็นบรรยากาศที่แปลก แต่พิเศษ หลายครั้งก็จะมีลูกค้าถามว่า "พี่ๆ นักร้องอีกคน เขาเป็นทอม หรือเขาเป็นเกย์ หรือเขาเป็นอะไร หรือเขาเป็นผู้หญิงหรือเขายังไง?" แต่เขารู้สึกว่าการที่เรามีความลึกลับในตัว มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง บางครั้งก็เลือกที่จะไม่บอก บางครั้งลูกค้าก็พนันกัน

บทบาทสามีและพ่อลูกหนึ่งที่ไม่แบ่งเพศ

เขาได้พบกับภรรยาตั้งแต่สมัยอยู่มหาวิทยาลัย แต่แต่งงานกันในปี 2012 ทั้งคู่เป็นนักร้องคัฟเวอร์อยู่อีกวงหนึ่ง ในวงการ J-Rock เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทั้งคู่ก็แต่งเต็มเหมือนกัน ตอนเป็นแฟนถึงขนาดแลกกัน อีกคนเซ็ตผมให้ อีกคนหนึ่งก็ทำสีผมให้ และกิจกรรมยามว่างหลังแต่งงานก็คือดูโมเมพาเพลินเพื่อเรียนรู้เทคนิคการแต่งหน้าไปด้วยกัน

"เรามีเรื่องที่เหมือนกันอยู่ตรงจุดนี้แหละ อย่างนึง คือ เราไม่ค่อยแคร์ใคร เราอยากใช้ชีวิตยังไง เราก็ใช้ชีวิตในแบบที่เราสบายใจ คือให้เกียรติตัวเอง"

ขณะเดียวกัน พวกเขามีลูกชายอายุ 4 ขวบครึ่ง ตอนนี้เรียนอยู่อนุบาลหนึ่ง นิกกี้เล่าว่าลูกชายของเขาไม่ได้รู้สึกแปลกอะไรเวลาที่เห็นเขาแต่งหญิง เพราะเขาไม่ได้สอนให้แบ่งแยกชายหญิง เช่น เวลาที่ลูกจะเลือกขนม เลือกข้าวของอะไร อยากได้สีชมพูก็สีชมพู หรือสีอะไรก็ได้ เพราะมันก็แค่รสนิยม เวลาที่เขาจะไปทำงาน ภรรยาก็จะบอกให้เดินมาชมป่าป๊า ลูกก็จะเดินมาชมว่า ป่าป๊าสวย

นิกกี้ มองว่า เราต้องกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง และมองทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง เพราะถ้าเราไม่เอาอคติเข้ามาใส่ คอนแท็กเลนส์, ขนตาปลอม, หรือแม้ลิปสติก ก็ไม่มีเพศ

"มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของอัตลักษณ์ด้วยนะ อย่างสมมติ ผมจับแยกชิ้นออกมา ดึงขนตาปลอมออกมา ถามว่ามันมีเพศไหม? คอนแท็กเลนส์ถามว่ามันมีเพศไหม? อายแชโดว์ ลิปสติก คุณเอาออกมาขยี้มันดู มันก็แค่สี มันก็แค่สีที่อยู่บนร่างกายเรา แค่การแต่งกายอีกวิธีนึงแค่นั้นเอง" นิกกี้ กล่าว

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ "ปากไม่แดงไม่มีแรงโซโล่" มองข้ามกรอบทางเพศในมุมนักดนตรีกลางคืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook