อภิสิทธิ์ รับถกแก้ปัญหาโลกร้อนเหลว

อภิสิทธิ์ รับถกแก้ปัญหาโลกร้อนเหลว

อภิสิทธิ์ รับถกแก้ปัญหาโลกร้อนเหลว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯ อภิสิทธิ์ รับเวทีผู้นำถกแก้ปัญหาโลกร้อนเหลว ทำนักอนุรักษ์ผิดหวัง

(19ธ.ค.) เวลา 15.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบ Video Conference จากกรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักร เดนมาร์ก มายังชั้น 28 บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ จำกัด ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ขณะอยู่ระหว่างการเข้าร่วมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และพิธีสาส์นเกียวโตสมัยที่ 5 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ถึงผลการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมค่อนข้างที่จะพิเศษ เพราะปกติในระดับของหัวหน้ารัฐบาลมักไม่เข้าร่วมมาประชุมด้วยตัวเอง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่เมื่อทุกคนห่วงใยเรื่องสภาพภูมิอากาศทำให้มีผู้นำเข้ามาร่วมประชุมร้อยกว่าประเทศ แต่ก็มีปัญหาสันสนบ้าง เพราะการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่เพื่อยกร่างมติขึ้นมา ปรากฏว่ามีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันเยอะมากจนระดับผู้นำคิดว่าเป็นไปได้ยากหากจะมาไล่หาข้อสรุปและยุติทีละประเด็น ค่อนข้างชัดเจนว่าข้อตกลงตรงนี้ที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายนั้น เกิดขึ้นไม่ได้จนทำให้คิดว่าเก่งที่สุดก็อาจจะต้องเลื่อนไปอีก 3-6 เดือนและมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเลื่อนไปเป็น 1 ปีซึ่งเป็นการประชุมที่ประเทศเม็กซิโกปี 2553 แม้จะมีความพยายามดำเนินการทำข้อตกลงทางการเมืองเพื่อแสดงเจตนารมณ์ แต่สุดท้ายก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบรรดาประเทศที่มีผลประโยชน์ที่จะต้องต่อรองกันไม่สามารถหารือกันจนได้ข้อยุติ และเมื่อเปิดประชุมจริงๆ ก็เหลือผู้นำเฉพาะตัวประธานคือนายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก

"โดยสรุปก็ต้องบอกว่าขณะนี้ที่ชัดเจนคือข้อตกลงที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายคงจะเกิดขึ้นปีหน้า ส่วนข้อตกลงทางการเมืองที่มีข่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ คุยกับจีนหรือบราซิลนั้นขณะนี้ข้อตกลงที่ว่ายังไม่ได้รับการรับรองจากที่ประชุม จนการประชุมต้องหยุดชั่วคราว เพราะความตกลงนี้ยังได้รับการทักท้วงจากบางประเทศอยู่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อตกลงที่มีผลผูกพันอยู่ก็มีพิธีสารเกียวโต ที่ระบุให้ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้โลกขนาดใหญ่คือสหรัฐฯกับจีน ซึ่งสหรัฐฯก็ไม่ร่วมในพิธีสาร ส่วนจีน เป็นประเทศกำลังพัฒนาก็ไม่มีการผูกมัดว่าจะต้องประกาศเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกเท่าไร จึงเป็นปัญหาที่เป็นปมขัดแย้งตลอดเวลา เพราะสหรัฐฯและยุโรปเห็นว่าจีนเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะต้องเข้ามาผูกมัดเรื่องนี้ แต่จีนกลับเห็นว่าประเทศพัฒนา ซึ่งสร้างปัญหานี้มาเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ก็ควรเข้ามาผูกมัด และเมื่อประเทศต่างๆ กำลังจะผูกมัด จีนก็ผูกมัดประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆเข้าไปด้วย และถูกย้อนกลับไปว่าทำไมสหรัฐฯไม่ยอมเข้ามาในพิธีสารเกียวโต ทำให้มีหลายกติกาสำหรับหลายๆฝ่าย ซึ่งก็เข้าใจร่วมกันว่าเรื่องแบบนี้ทำความเข้าใจได้ยากมาก และหากปล่อยให้เป็นการเจรจาปกติระดับเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเป็นไปได้

"ความสูญเสียโอกาสของที่นี่คือการเอาหัวหน้ารัฐบาลมา แต่ไม่มีกระบวนการจะหารือกันอย่างไร เขาไปคาดหวังว่าหากผู้มีอำนาจมาคุยกันแล้วจะจบได้ แม้จะมีความพยายมดึงคนนั้นคนนี้เข้าไปคุยแต่ในที่สุดวงมันก็เล็กเกินไปที่จะทำให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง และบางประเทศก็แสดงออกว่าไม่ยอมรับกระบวนการนี้ ซึ่งผู้นำหลายประเทศก็เริ่มเดินทางกลับกันแล้ว เรียนกันตรงๆคือ ใครที่คาดหวังอะไรไว้กับที่ประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะนักอนุรักษ์ทั้งหลายผิดหวังอย่างแน่นอน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าการประชุมครั้งนี้มีอะไรเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แสงสว่างคือผู้นำร้อยกว่าประเทศให้ความสนใจและเดินทางมาร่วมประชุม ซึ่งวันนี้ทุกประเทศรู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ยังขาดเวทีสำหรับการหารือที่จะทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในบางด้านปีหน้าก็อาจจะกลับไปสู่สถานการณ์แบบนี้อีกในส่วนของประเทศไทย การเข้าร่วมประชุมเป็นการยืนยันว่าเราพร้อมสนับสนุนการเดินหน้าเพื่อให้มีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน และในฐานะประธานอาเซียนก็แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของอาเซียนด้วย ซึ่งเราตรงไปตรงมาในการจะบอกว่าการจะเริ่มมีการประกาศเป้าหมายแบบประเทศที่พัฒนาแล้วทำนั้น ระบบของเรายังมีข้อมูลการตรวจสอบที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเราก็พยายามมองดูว่าเขาจะมีวิธีการดึงประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาโดยไม่กระทบกับการพัฒนาประเทศ การแก้ปัญหาความยากจนและมีระบบการตรวจสอบที่เป็นธรรมอย่างไร ซึ่งอย่างน้อยที่สุดกลไกที่เกี่ยวกับการเงินที่จะเข้ามาช่วยประเทศกำลังพัฒนา ขณะนี้ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น ได้เสนอตัวชัดเจน ซึ่งจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศไทย มีโอกาสเข้าถึงเงินและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลตั้งใจว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 จะมีการบรรจุเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งแผนการประหยัดพลังงวานและการใช้พลังงานทดแทน ไปจนถึงการอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อผลักดันด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook