2 เยาวชนไทยในโอลิมปิกปรัชญาและเหรียญทองแดงแรกในประวัติศาสตร์

2 เยาวชนไทยในโอลิมปิกปรัชญาและเหรียญทองแดงแรกในประวัติศาสตร์

2 เยาวชนไทยในโอลิมปิกปรัชญาและเหรียญทองแดงแรกในประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชวนรู้จักกับ 2 เยาวชนไทยที่คว้าเหรียญทองแดงและรางวัลชมเชยในการแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาที่ประเทศโปรตุเกส เหรียญทองแดงแรกในประวัติศาสตร์ บรรยากาศการแข่งขัน และอาการกลัวการตั้งคำถามในสังคมไทย

ในการแข่งขันวิชาการโอลิมปิก เยาวชนไทยมักได้รับรางวัลกลับมาและถูกเสนอผ่านสื่อเป็นระยะ สาขาที่ได้ก็เป็นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา พูดง่ายๆ คือสายวิทยาศาสตร์เป็นหลัก

เมื่อวันที่ 26-29 พ.ค. ที่ผ่านมามีเยาวชนไทย 2 คนไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาที่ประเทศโปรตุเกสและได้รับเหรียญทองแดงและรางวัลชมเชย ซึ่งถือเป็นเหรียญทองแดงเหรียญแรกของไทยในโอลิมปิกสาขาปรัชญา ดูจากการตอบสนองของสื่อด้วยความเงียบย่อมเป็นสิ่งสะท้อนความคิดความเชื่อบางประการได้ในระดับหนึ่ง

ณฐ ตรัยนานนท์ ที่เลือกเรียน Home School คือเยาวชนไทยที่ได้เหรียญทองแดง ไม่ได้คิดอะไรกับเรื่องนี้ เขาเข้าใจดีว่าปรัชญาไม่ใช่สาขาวิชาที่เป็นที่นิยมในสังคมไทย ส่วนมัญญสิริ โชติบูรณ์วงศ์ จาก Ruamrudee International School หรือ RIS ได้รับรางวัล Honorable Mention ก็รู้สึกยินดีกับประสบการณ์ที่ได้รับแล้ว

ปรัชญาพาสำรวจโลก

เส้นทางสู่การแข่งขันวิชาการปรัชญาของทั้งสองเริ่มต้นที่ความสนใจเหมือนกัน ณฐเรียนผ่านหนังสือและคอร์สออนไลน์ ขณะที่โรงเรียนของมัญญสิริไม่มีการเรียนการสอนวิชาปรัชญาโดยตรง มีเพียงวิชา World Religion ซึ่งก็เน้นหนักด้านศาสนามากกว่า แต่ก็ถือเป็นสารตั้งต้นที่ดี เมื่อครูที่มัญญสิริสนิทด้วยแนะนำหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาให้เธออ่าน

สำหรับณฐ ความสนุกของปรัชญาอยู่ที่การได้สำรวจโลก สำรวจ Subject และสำรวจความคิดของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตที่มีต่อโลกใบนี้ มัญญสิริก็คิดคล้ายคลึงกัน เธอสนุกกับการตั้งคำถาม ปรัชญาบอกเธอให้รู้ว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญมาก

"ในคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เราจำว่าเป็นแบบนี้ แต่เราเคยตั้งคำถามไหมว่ามันเป็นแบบนี้จริงหรือเปล่า หรือเชื่อไปอย่างนั้นเพราะมันเป็นสิ่งที่คนอื่นเชื่อมาแล้ว ปรัชญาก็เลยเป็นการเรียนรู้ว่า หนึ่ง สิ่งที่เขาคิดมาถูกสร้างโดยมนุษย์ ไม่ใช่ว่ามีขึ้นมาเอง เราเชื่อว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ที่เราคิดว่าความจริงทุกวันนี้ สำหรับคนสมัยก่อน ความจริงของเขาเป็นความจริงคนละอย่างกับเราเลย หนูก็เลยคิดว่าการที่เราตั้งคำถามมันเป็นการช่วยผลักดันพวกเราไปถึงจุดจุดหนึ่งที่เราได้คำตอบ ถามว่ามันสมบูรณ์ที่สุดไหม มันก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดและถูกที่สุด แต่เราสามารถค่อยๆ ไต่ไปทีละก้าว มันทำให้รู้จักตัวเราเองมากขึ้น"

สู่การเป็นตัวแทนประเทศไทย

หลังจากทราบข่าวว่าสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทยประกาศรับสมัครคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกปรัชญาที่ประเทศโปรตุเกส ทั้งสองคนต่างก็ส่งอีเมล์สมัครไปเพื่อเข้าทดสอบ จากเยาวชนทั้งหมดประมาณ 20 คน ณฐและมัญญสิริผ่านการคัดเลือก

ทั้งสองเล่าว่าการทดสอบของทางสมาคมปรัชญาฯ คือการนำข้อความของนักปรัชญา 4 คนมาให้อ่านและให้ผู้ทดสอบเลือก 1 ข้อความเพื่อเขียนบรรยายถกเถียงโต้แย้งความเห็นของนักปรัชญาคนนั้นๆ ว่ามีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะอะไร โดยให้เหตุผลที่มีน้ำหนักสนับสนุนสิ่งที่ตนเขียน ภายในเวลา 4 ชั่วโมง

เป็นเรื่องบังเอิญว่าทั้งสองคนเลือกข้อความของอิมมานูเอล ค้านท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันศตวรรษที่ 18 ที่ทรงอิทธิพลทางความคิดมากคนหนึ่งของโลกจวบจนปัจจุบัน

ณฐบอกว่า "เป็นโควทเกี่ยวกับความรู้ว่าเรามีความรู้โดยไม่มีประสบการณ์ มันคือ Priori ผมก็ตอบว่าความรู้ที่ไม่มีประสบการณ์มันไม่ Exist มันเหมือนภาษา ถ้าเรามีความรู้เรื่องเลข พีชคณิต เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับเลขพื้นฐานก่อน จะไปขั้นแอดวานซ์เลยไม่ได้"

มัญญสิริบอกว่า "ค้านท์จะแยกออกกันเลย คือความรู้ที่มีประสบการณ์กับความรู้ที่ไม่มีประสบการณ์ แล้วก็ถามว่าสองอันนี้มัน Exist โดยอีกอันหนึ่งไม่มีได้หรือไม่ มันสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้หรือเปล่า แล้วตอบไปว่ามันต้องอยู่รวมกันค่ะ ก็ต้องวางโครงสร้างให้มีความเป็นเหตุเป็นผล อธิบายว่าทำไมๆ หนูคิดว่ามันสามารถไปได้หลายแบบ เราไม่ต้องเห็นด้วยทั้งหมด แต่สามารถเห็นด้วยในบางส่วน อาจจะมีส่วนหนึ่งที่เราคิดว่าสามารถเพิ่มรายละเอียดให้ถูกมากกว่านี้ได้"

4 วันในโปรตุเกส

โอลิมปิกปรัชญาจัดขึ้นที่ประเทศโปรตุเกส ทั้งสองเล่าอย่างออกรสถึงช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น การได้พบปะเพื่อนๆ จาก 46 ประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองการเรียนการสอนปรัชญาในประเทศต่างๆ

"วันที่สองก็จะเป็นการแข่งขัน คนที่มาจากประเทศเดียวกันเขาจะไม่ให้นั่งห้องเดียวกัน แล้วจะมีอาสาสมัครเด็กโปรตุเกสคอยคุมแต่ละห้อง เขาจะให้พวกเรานั่งอยู่ข้างหน้าคอมพิวเตอร์ สามารถเอาพจนานุกรมไปได้หนึ่งเล่ม ให้โควทมา 4 โควท สอบเหมือนกับประเทศไทยเลย เลือกมาหนึ่งโควท แล้วพิมพ์คำตอบบนคอมพิวเตอร์"

"สำหรับหนู ถามว่าตื่นเต้นไหม ตื่นเต้นค่ะ เพราะเป็นครั้งแรกที่ไปแข่งโอลิมปิก คือหนูอยากเจอเพื่อนใหม่ๆ ทุกคนนิสัยดีมาก ทุกคนเป็นเหมือนท็อปทูของประเทศ เขามีมุมมองใหม่มาแลกเปลี่ยนกับเรา หนูคิดว่าถึงเราไม่มีคลาสปรัชญา เราก็ต้องค้นคว้าเอาเอง หนูก็ดูวิดีโอเกี่ยวกับนักปรัชญาว่าเขาคิดยังไง อ่านหนังสือที่อาจารย์ส่งมาให้" มัญญสิริ เล่า

หนังสือที่ทั้งสองคนอ่านคือ Problem of Philosophy ของเบอร์ทรันด์ รัสเซล นักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ ชาวอังกฤษ ที่มีชื่อเสียงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20

ส่วนวันที่ 3 และ 4 จะมีการเลคเชอร์ ทำกิจกรรมร่วมกัน และเที่ยวชมสถานที่สำคัญในกรุงลิสบอน

ณฐ (คนที่ 2 จากขวา)ณฐ (คนที่ 2 จากขวา)

อาเรนท์และเหลาจื่อ

โควทที่ณฐเลือกจะถกเถียงด้วยเป็นของเราไม่ได้เลือกโควทเดียวกัน ผมเลือกหนังสือของฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักปรัชญาการเมืองชาวเยอรมัน โดยยกข้อความมาจากหนังสือเรื่อง Eichmann in Jerusalem ของอาเรนท์ที่ว่า

"Many people today would agree that there is no such thing as collective guilt or, for that matter, collective innocence, and that if there were, no one person could ever be guilty or innocent. This, of course, is not to deny that there is such a thing as political responsibility which, however, exists quite apart from what the individual member of the group has done and therefore can neither be judged in moral terms nor be brought before a criminal court."

ณฐบอกว่า

"มันเกี่ยวกับ Political Responsibility ปรัชญาการเมือง และจริยศาสตร์ อาเรนท์บอกว่า Political Responsibility เราตัดสินไม่ได้ใน Term of Moral กับ Legal เพราะมันเกิดขึ้นห่างจากความเป็นปัจเจกบุคคล ผมก็เลยเขียนว่าผมไม่เห็นด้วย Political Responsibility คือการกระทำที่คนทำเองแล้วคุณก็ควรที่จะรับผิดชอบในด้านของกฎหมายกับศีลธรรมในสิ่งที่เขาทำ ในเคสของ Adolf Eichmann ตอนที่เขาทำ เขาตัดสินใจที่จะทำเอง ไม่มีใครบอกให้เขาทำ ตอนที่เขาทำก็รู้ว่าเขาทำอะไร สิ่งที่เขาผิดหรือถูก แต่เขายังเลือกทำต่อไป ถ้าเขาคิดอย่างนั้นได้ก็แปลว่าเขาควรจะรับโทษในสิ่งที่เขาทำ"

ขณะที่มัญญสิริเลือกโควทของเหลาจื่อ (Lao Zi) นักปรัชญาชาวจีนผู้รจนาคัมภีร์เต้าเต๋อจิง มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช...

"To know others is wisdom; to know oneself is acuity. To conquer others is power, to conquer oneself is strength."

"หนูเอาโควทนี้มาเขียนสิ่งที่ไม่เห็นด้วย คำว่า Know กับ Conquer คำเหล่านี้เขาพยายามสื่อถึงอะไร เพราะในสองประโยคมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน แค่เปลี่ยนคำว่า Know กับ Conquer และคำว่าตนเองกับผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้วเวลาเขียนปรัชญาจะต้องพูดถึง Premise (ข้ออ้าง) คล้ายๆ กับว่าสิ่ง A ต้องจริงก่อนเราถึงจะไปต่อได้ ถ้าเขาเขียนเป็นรูปแบบนี้ เขาพยายามสื่อสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับตัวเองกับสิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับผู้อื่นมันแตกต่างกันสิ้นเชิง

"หลังจากนั้นหนูค่อยมาอธิบายนิยามคำว่า Wisdom Acuity Power Strength ที่เขามา Label คนอื่นกับตัวเอง เขาเห็นไหมว่ามันแตกต่างกันยังไงหรือมีความคล้ายคลึงกัน เหมือนกับคำว่า Power กับ Strength ถ้าเราไม่ได้คิดเชิงลึกเราก็คิดว่ามันก็คล้ายๆ กัน แต่เหลาจื่อเขียนถึงคนอื่นกับตัวเอง แปลว่ามันต้องมีความไม่เหมือนกัน เราก็พยายาม Explore ว่ามีจุดไหนบ้างที่ไม่เหมือนกันที่เหลาจื่อพยายามสื่อ มันทำให้กรอบของเขาถูกต้องตามที่เขาพยายาม Established หรือไม่ เพราะถ้ามันมีความเหมือนกันมากจนการรู้ตัวเองกับการรู้ผู้อื่นคล้ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สิ่งที่เขาพูดมันยังจะมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้นอีกไหมที่ควรจะได้เรียนรู้ หรือเป็นการพูดลอยๆ ให้คนรู้สึกว่าเป็นคำพูดที่ฉลาด แต่เราสามารถทำตามได้หรือเปล่า การที่เรารู้ตัวเองแปลว่าอะไร เราสามารถรู้ตัวเองได้มากถึงขั้นไหน หรือสามารถเอาชนะตัวเองได้มากถึงขั้นไหน เพราะว่าในนิยามที่เขาพูด เหมือนปรัชญาจีนสอนให้ใช้ชีวิต แต่เราสามารถทำได้จริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่คำพูดที่พูดต่อๆ กันมาแค่นั้น"

การเงียบคือการทิ้งปัญหาให้คนรุ่นหลัง

ยังไม่มีการเรียนการสอนวิชาปรัชญาในระดับประถม มัธยม ความยากมิได้อยู่ที่ตัววิชาที่มักเข้าใจผิดกันไปว่าปรัชญาต้องเรียนกันในมหาวิทยาลัย นั่งครุ่นคิดหนักหน่วงถึงเรื่องยากๆ ห่างไกลตัว มีการศึกษาและปฏิบัติจริงแล้วในต่างประเทศว่าสามารถใส่วิชาปรัชญาลงในการเรียนการสอนได้ เพราะปรัชญาคือการตั้งคำถาม ซึ่งดูจะขัดกับลักษณะของการศึกษาไทยที่เน้นการท่องจำและกล่อมเกลาอุดมการณ์ของรัฐ

ทั้งมัญญสิริและณฐแสดงความเห็นว่า การไม่ตั้งคำถามก็เหมือนการซุกซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม ขณะที่การตั้งคำถามเป็นการค้นหาข้อผิดพลาด ซึ่งหลายคนกลัวที่จะเปิดดูและคิดว่าทุกอย่างสงบสุข เมื่อปัญหาพอกไปเรื่อยๆ คนรุ่นหลังจึงต้องมาตามแก้ปัญหาในวันที่สายไปแล้ว การเงียบและไม่พูดก็เหมือนการทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลัง ทำไมต้องใช้ข้ออ้างว่าการตั้งคำถามทำให้เกิดปัญหา ความไม่มั่นคง หรือความแตกแยก

"จุดประสงค์ของการเรียนปรัชญาคือการตั้งคำถาม ให้เด็กตั้งคำถามในสิ่งที่คุณครูบอกแล้วกล้าที่จะคุยกับครูว่าเราเป็นคนเหมือนกัน เป็นคนเท่ากัน อายุไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเขาฉลาดกว่าเรา ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเชื่อเขาทุกคำ ก็เลยคิดว่าต้องสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่สนับสนุนเด็กๆ ให้ตั้งคำถาม" มัญญสิริทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook