บีทีเอสทุ่ม70ล้านดอลลาร์นำเข้า12ขบวนรถไฟฟ้า

บีทีเอสทุ่ม70ล้านดอลลาร์นำเข้า12ขบวนรถไฟฟ้า

บีทีเอสทุ่ม70ล้านดอลลาร์นำเข้า12ขบวนรถไฟฟ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คมชัดลึก : คนไทยได้นั่งบีทีเอส 12 ขบวน เป็นของขวัญช่วงสงกรานต์ หลังบีทีเอส ทุ่มเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สั่งรถไฟฟ้าเพื่อรองรับประชาชนให้ได้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่กำลังเป็นอยู่

 

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับทีมงานคุณภาพชีวิตว่า หลังจากให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสครบ 10 ปี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบความนิยมของประชาชนใช้เพิ่มมากขึ้น มีผู้ตัดสินใจถึงใช้บริการถึง 96% เนื่องจากสะดวก ทำให้ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสูงขึ้นกว่า 200% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็เติบโตไปในแนวทางเดียวกัน

 ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 4.6 แสนเที่ยวคนต่อวัน และสูงสุด 5.5 แสนเที่ยวคนต่อวัน และมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จึงทำให้รถไฟฟ้าที่มีอยู่ในขณะนี้แทบไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากในชั่วโมงเร่งด่วนมีการต่อแถวยาวและแน่นมากในแต่ละขบวน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ต้องสั่งรถไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มใหม่อีก 12 ขบวนในต้นปีหน้า เพื่อให้บริการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นและไม่ให้ต้องรอเกินกว่า 4 นาที

 รถไฟฟ้าอีก 12 ขบวนที่สั่งเข้ามาใหม่นี้ เป็นรถที่กำลังเร่งประกอบอยู่ในโรงงานผลิตรถไฟที่ฉางชุน ประเทศจีน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถไฟใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของจีน โดยเฉพาะรถไฟฟ้าครึ่งหนึ่งที่วิ่งในจีนสั่งซื้อจากโรงงานนี้ ทั้งนี้ บีทีเอสสั่ง ซื้อรถใหม่ 12 ขบวน 4 ตู้ รวม 48 ตู้ ในระหว่างการเยือนโรงงานได้รับการยืนยันจากวิศวกรและผู้บริหารระดับสูงว่าจะ ส่งถึงเมืองไทยทั้งหมด 48 ตู้ ก่อนสิ้นเดือน มิถุนายน ขบวนแรกจะส่งถึงเมืองไทยปลายเดือนมีนาคม คาดว่าจะเริ่มวิ่งให้บริการได้ในช่วงสงกรานต์

 นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า รถไฟฟ้าทั้ง 48 ตู้ เป็นรถที่ปรับปรุงใหม่ ออกแบบเป็นพิเศษสำหรับผู้โดยสาร ผสมผสานวัฒนธรรม ราวจับทำเป็นรูปคล้ายเจดีย์ สีที่นั่งจากเดิมเป็นสีเหลือง จะเป็นสีเหลืองส้ม ราวจับบริเวณประตูเดิมมี 1 เส้น ทำเป็น 3 เส้น ทำให้คนจับได้มากขึ้น มาตรฐานสูงเทียบเท่ารถที่ใช้ในยุโรปเช่น ระบบประกาศ ระบบบอกสถานี เป็นระบบไดนามิก รูทแน็ป ดีไซน์รูปแบบภายนอกโดยปอร์เช่ ดีไซน์ภายในโดยบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบรถไฟ

 แม้จะประกอบในจีน แต่วัสดุและเทคโนโลยีล้วนแต่เป็นระดับมาตรฐานโลก ต้องใช้งบประมาณมากถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการเพิ่มตู้ครั้งนี้

 มาตรฐานที่ใช้ของขบวนตู้รถไฟฟ้ามหานครรุ่นใหม่นี้ ใช้ระบบขับเคลื่อนของบอมบาร์ดิเอร์ ฝรั่งเศส ใช้ระบบชุดล้อ โบกี้ ซิสเต็ม ของซีเมนส์ เหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันและเชื่อถือได้ ระบบเบรกจาก Knor ระบบประตูและแอร์ จาก Faverlley ระบบต่อเชื่อม จาก Cxhaku เป็นต้น

 ส่วนแผนการใช้รถไฟฟ้าทั้ง 12 ขบวนนี้ ใช้วิ่งในสายสีลม จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึง สถานีวงเวียนใหญ่ รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เนื่องจากรถใหม่ยาวกว่าเดิม และเพิ่มอีก 1 ตู้ รับผู้โดยสารได้เพิ่มประมาณ 30% และสายสุขุมวิทมีรถเพิ่มขึ้นเพราะจะนำรถของเดิมไปวิ่ง ความถี่ในสายสุขุมวิทมีมากขึ้น ทำให้ความหนาแน่นช่วงเร่งด่วนลดลง

 กทม.กำลังก่อสร้างส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง จากสถานีวงเวียนใหญ่ไปบางหว้า ฝั่งละ 5 กม. การสั่งรถต้องใช้เวลา 2-3 ปี ถ้าจะเปิดต้องเผื่อเวลาซื้อรถด้วย กทม. มีแผนเปิดประมาณกลางปี 2554 การสั่งซื้อและประกอบ ต้องใช้เวลาล่วงหน้ากว่า 2 ปี

 "การมาครั้งนี้ได้มาเห็นรถไฟฟ้าของจริงที่จะส่งไปเมืองไทย จากที่เคยเห็นแต่แบบ หรือต้นแบบ แต่ครั้งนี้ได้เห็นของจริง พอใจกับคุณภาพที่ได้ และระหว่างการประกอบ 48 ตู้ขบวนรถบีทีเอสได้ ส่งวิศวกรไทยมาร่วมงานตั้งแต่แรก เพื่อสร้างองค์ความรู้แก่บุคลากรของบริษัท และของไทยด้วย เพื่อเรียนรู้การผลิตรถไฟฟ้า การซ่อมบำรุงจะได้ทำได้ถูกต้อง" นายสุรพงษ์ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook