ญวนสอนเชิงขยี้ตลาดข้าวไทย

ญวนสอนเชิงขยี้ตลาดข้าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ประเทศไทยในฐานะที่ครองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวสูงสุดมาโดยตลอด กลับกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การประมูลให้กับ เวียดนาม อย่างราบคาบ โดยมีปากีสถานเป็นตัวสอดแทรกเพียงประปราย ทำให้ หลายฝ่ายตั้งคำถาม? ว่า เกิดอะไรขึ้นกับข้าวของไทย และอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าในอนาคตข้าวไทย จะยืนหยัดบนแท่นอันดับหนึ่งได้ต่อไปอีกนานแค่ไหน

รัฐบาลฟิลิปปินส์ ได้ประกาศเปิดประมูลซื้อข้าวครั้งใหญ่ เพื่อต้องการนำเข้าไปใช้บริโภคภายในประเทศและกันไว้เป็นสต๊อกสำรองกรณีฉุกเฉิน โดยเปิดประมูลทั้งสิ้น 4 รอบ เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ที่ประเดิมให้ประมูลก่อน 2.5 แสนตัน ตามมาด้วยในวันที่ 1 ธ.ค. อีก 4.5 แสนตัน และอีก 2 ครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. และ 15 ธ.ค. ครั้งละ 6 แสนตัน รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ความต้องการนำเข้าข้าวมีมากเกือบ 2 ล้านตัน

ปรากฏว่าผลการประมูลเบื้องต้น รอบแรก ในเดือน พ.ย. ประเทศเวียดนามกวาดชัยชนะทั้งหมดไปได้ถึง 2.5 แสนตัน ส่วนรอบสองที่ประกาศอย่างเป็นทางการ เวียดนามก็กวาดชัยชนะไปอีกโดยได้ออร์ เดอร์ข้าวมากถึง 3 แสนตัน ปล่อยให้ไทยได้ไปเพียง 1 แสนตัน ปากีสถาน 50,000 ตัน และที่เหลือเป็นโบรกเกอร์ข้าวรายอื่น

ขณะนั้นผู้ส่งออกข้าวได้ประเมินว่า ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะฟิลิปปินส์ยังเปิดนำเข้าข้าวอีกเยอะ อีกทั้งประเมินว่าเวียดนามน่าจะเหลือข้าวส่งออกน้อยแล้ว แต่คล้อยหลังจากนั้น ในการประมูล 2 ครั้งล่าสุดกลับปรากฏว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยกลับเลวร้ายลงไปอีก เพราะแพ้ประมูลเวียดนามแบบหลุดลุ่ยกว่า 2 ครั้งแรก เบื้องต้นผลประมูลอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าข้าวจำนวน 1.2 ล้านตัน ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องการ เวียดนาม จะกวาดไปได้อีก 9 แสนตัน ปล่อยให้ไทยได้ข้าวเพียง 1 แสนกว่าตัน และที่น่าตกใจที่สุด คือในรอบสุดท้ายเวียดนามก็เป็นผู้ชนะทั้ง 6 แสนตันโดยไม่แบ่งให้ชาติใดเลย

ขณะที่บรรดาสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ยอมรับว่าการประมูลข้าวครั้งนี้ไทยได้น้อยมาก เมื่อเทียบกับเวียดนามโดยได้เพียง 2 แสนกว่าตัน โดยเชื่อว่าเวียดนามจะได้มากกว่าล้านตันแน่นอน แต่ถ้ามองโลกในแง่ดีว่า เมื่อตัวเลขยังไม่เป็นทางการก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาส่งมอบข้าวจริงในปีหน้า ไทยน่าจะส่งออกข้าวเพิ่มได้อีก เพราะโบรกเกอร์ข้าวที่ชนะการประมูลน่าจะสั่งซื้อข้าวไทยเข้ามาเพิ่มอีก

สาเหตุการแพ้ประมูลข้าวครั้งนี้ ประเด็นสำคัญมาจากราคาข้าวของเวียดนามที่เสนอขาย มีราคาต่ำกว่าข้าวจากไทยมาก โดยเวียดนามเสนอในราคาต่ำสุดเพียงตันละ 664.90 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ส่งออกจากไทย ปากีสถาน และโบรกเกอร์ข้าวเสนอราคาสูงกว่านละ 700 ดอลลาร์สหรัฐทำให้ไทยตกรอบไปโดยปริยาย

แต่เมื่อค้นสาเหตุลึก ๆ แล้วพบว่าเหตุผลที่ข้าวเวียดนามถูกกว่าข้าวไทยมาก เป็นเพราะต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่ถูกกว่า หลังจากรัฐบาลเวียดนามมีการทุ่มงบประมาณปีละหลายพันล้านบาท เพื่อพัฒนาการเพาะปลูกให้ทันสมัยให้ได้ผลผลิตดี ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ของเวียดนามสูงมากกว่าไทยเกือบเท่าตัว

ข้อมูลจากหน่วยงานวิชาการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าผลผลิตข้าวต่อพื้นที่เพาะปลูกของไทย ยังเป็นรองมาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย หรือกระทั่งลาวอยู่ และอยู่ระดับใกล้เคียงกับพม่า กัมพูชา ที่ปลูกได้เฉลี่ย 2.6-2.7 ตันต่อเฮคเตอร์ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านปลูกได้มากกว่า 3.5-5 ตัน โดยเฉพาะเวียดนามที่ผลผลิตเกือบ 5 ตันต่อเฮคเตอร์

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของการที่ธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินดองอีก 20% เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามถูกลงกว่าเดิมอีก และทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามยิ่งทิ้งห่างจากไทยมากขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นฝ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในเวทีประมูลข้าวฟิลิปปินส์ในครั้งนี้

ทั้งนี้ ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย ชี้ให้เห็นว่า ที่ผ่านมาไทย ไม่ได้เป็นเจ้าตลาดข้าวในฟิลิปปินส์อยู่แล้ว เพราะ ฟิลิปปินส์เน้นนำเข้าข้าวคุณภาพต่ำ โดยเฉพาะข้าว 25% ซึ่งไม่ใช่เป็นข้าวที่ไทยเน้นผลิต เพราะไทยมีการสีแปรข้าวที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก อย่างไรก็ตามมีความเป็นห่วงว่าไทยมีโอกาสสูญเสียการเป็นผู้นำตลาดข้าวในอนาคตอีก 5 ปีได้ โดยขณะนี้ไทยได้เสียแชมป์ในกลุ่มข้าวขาวให้เวียดนามไปแล้ว โดยไทยส่งออกได้ปีละไม่เกิน 2 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามส่งออกได้ปีละมากกว่า 4.9 ล้านตัน

ขณะที่ประเด็นสำคัญก็คือเวียดนามยังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง และพยายามเริ่มพัฒนาการปลูกข้าวหอมมะลิด้วย อีกหน่อยเกรงว่าหากสามารถเต็มกระบวนผลิต ภาพรวมการส่งออกข้าว ไทยทั้งระบบคงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้รัฐบาลเวียดนามยังมีนโยบายช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวอย่างเต็มที่ โดยมีการตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโดยตรงซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้อีกไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนตัน รวมถึงพัฒนากระบวนสีแปรข้าว และการจัดเก็บข้าวในโกดังให้มีคุณภาพมากขึ้น ทำให้เวียดนามมีโอกาสผลิตข้าวคุณภาพสูงแข่งกับไทยได้อีก

ด้าน ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะรัฐบาลกำลังสร้างคลังเก็บข้าวตามลุ่มน้ำโขง และมีการพัฒนาตลาดกลางข้าวร่วมกับกัมพูชา ซึ่งจะทำให้ระบบการค้าข้าวจากเวียดนามครบวงจรมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการทำนาแบบยุคเก่าที่มีโกดังเก็บข้าวไม่เพียงพอ และต่อไปเวียดนามน่าจะมีบทบาทต่อการแข่งขันในตลาดข้าวโลกเพิ่มอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ข้อมูลด้านผลผลิตข้าวสาร ณ ปัจจุบัน เวียดนามยังผลิตข้าวขาวได้มากกว่า 700 กก. ต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตของไทยมีเพียง 456 กก.ต่อไร่เท่านั้น นอกจากนี้พื้นที่นาของเวียดนามยังอยู่ในพื้นที่ชลประทานถึง 82% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด ขณะที่ไทยมีเพียง 27% เท่านั้น

เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกข้าวไทย ที่ปีนี้แม้จะเป็นช่วงขาขึ้นแต่ไทยกับส่งออกข้าวได้ 8.5 ล้านตัน ลดลงกว่าปีที่แล้ว 1.5 ล้านตัน สวนทางกับคู่แข่งมียอดส่งออกเติบโตอย่างน่าพอใจ โดยข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 52 ไทยส่งออกข้าวได้ลดลง 16.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ผู้ส่งออกอันดับ 2 และ 3 ของโลกอย่างเวียดนามกับปากีสถานกับขยายตัว 27.97% และ 37.29% รุกคืบกินส่วนแบ่งตลาดจากไทยไปมาก

จะเห็นได้ว่าจุดแตกต่างระหว่างข้าวไทย กับเวียดนามที่ชัดเจน อยู่ที่ประเทศไทยเน้นการดูแลชาวนาที่ปลายเหตุ คือการออกมาตรการแทรกแซงราคา รับจำนำ เพื่อใช้เป็นนโยบายหาเสียง หวังผลทางการเมือง ขณะที่รัฐบาลเวียดนามเน้นการดูแลพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต ทำให้อุตสาหกรรมข้าวมีการเติบโตแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโอกาสที่ประเทศจะเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้เวียดนาม ไม่ใช่เป็นเรื่องไกลเกินจริง

หากวันนี้รัฐบาลยังมัวแต่ทะเลาะ มุ่งรักษาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง หรือพวกพ้องเพียงอย่างเดียว โอกาสที่ข้าวไทยจะเพลี่ยงพล้ำก็มีสูง จึงถึงเวลาแล้ว ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องโชว์กึ๋นแสดงความสามารถ ออกมารักษาตลาดข้าวไว้ ก่อนที่บรรพบุรุษข้าวไทยจะเสียน้ำตา ไม่ใช่มัวแต่เล่นการเมืองเพื่อโชว์ปาหี่ไปวัน ๆ.

ทีมเศรษฐกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook