พระอัจฉริยภาพเกริกไกร

พระอัจฉริยภาพเกริกไกร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน

ในการเสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ของ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อทรงร่วมงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 12-25 ธ.ค. 2552 ในฐานะที่ทรงเป็นทูตวัฒนธรรมของจีน และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้แน่นแฟ้น

โดย ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเริ่มการแสดงเป็นแห่งแรก ณ โรงละคร 21 เซ็นจูรี่ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นเสด็จต่อ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองตงกว่าน ตามลำดับ

การแสดงได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมงานคับคั่ง อาทิ นาง หลิว เหยียน ตง (มนตรีแห่งรัฐ), นายไช่ อู่ รมว. วัฒนธรรมจีน และ นายต่ง จุ้นชิง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมจีน การแสดงเริ่มต้นเมื่อ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในฉลองพระองค์ชุดไทยเสด็จออกหน้าเวทีเพื่อทรงกู่เจิงเพลงระบำเผ่าอี๋ และเพลงเผ่าไทย ซึ่งเป็นเพลงเอกในการแสดงครั้งนี้ เป็นเพลงที่แสดงถึงความรักและสามัคคีของชนชาติไทย โดยทรงกู่เจิงร่วมกับวงออเคสตร้า โดยมี นายจาง เจิง วาทยกรชื่อเป็นผู้ควบคุมวงดนตรี เมื่อทรงกู่เจิงจบผู้ชมในโรงละครต่างปรบมือถวายดังกึกก้อง เพื่อแสดงความชื่นชมในพระปรีชาสามารถ

จากนั้นเป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทย โดยคณะนาฏศิลป์ กรมศิลปากร จำนวน 6 ชุด ได้แก่ เทพประทานพร, โขนรามเกียรติ์ ชุดพระรามรบทศกัณฐ์, ระบำโบราณคดีศรีสยาม, ทักษิณาหรรษา, รำเถิดเทิงหรือรำกลองยาว และรำวงรวมใจไทยสี่ภาค ซึ่งเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยสลับกับการแสดงจากคณะนาฏศิลป์จีน อันเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ต่อมาทรงฉลองพระองค์ชุดจีนเสด็จออกหน้าเวทีอีกครั้ง เพื่อทรงกู่เจิงร่วมกับวงออเคสตร้า 3 เพลง ได้แก่ เพลงเมฆตามพระจันทร์, เพลงซุนเต้าลาซา (ฤดูใบไม้ผลิที่ลาซา) และเพลงสายสัมพันธ์ สองแผ่นดิน เมื่อทรงบรรเลงจบผู้ชมลุกขึ้นยืนเพื่อปรบมือถวายอย่างกึกก้องอีกครั้ง ด้วยชื่นชมในพระอัจฉริยภาพทางดนตรี ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระวงศ์พระองค์เดียวในโลก ที่ทรงเครื่องดนตรีโบราณอายุกว่า 2,500 ปีได้

ในการนี้ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนจีนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ซีซีทีวี 1 ว่า ทรงเริ่มเรียนกู่เจิงในปี 2544 ช่วงแรกยังทรงจำโน้ตได้ไม่แม่น เพราะกู่เจิงมี 21 สาย ทรงใช้หลักวิทยาศาสตร์ช่วยจำ ด้วยการกำหนดสีบนสายต่าง ๆ ของกู่เจิงเพื่อให้จำได้ว่าสายใดเป็นโน้ตตัวใด ซึ่งตอนนี้ทรงจำได้หมดแล้ว และการที่ได้ทรงกู่เจิงร่วมกับวงออเคสตร้าจีนทรงรู้สึกดี ก่อนมาประเทศจีนทรงซ้อมกับวงดุริยางค์ราชนาวีไทยมาก่อน ทำให้ทรงเล่นได้ดี ทั้งนี้รับสั่งด้วยว่าการที่ทรงเล่นกู่เจิงช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีนได้ เพราะทรงรู้สึกว่าคนไทยรู้จักกู่เจิงและหันมาเรียนกู่เจิงมากขึ้น และพระองค์เองก็ทรงเป็นครูสมัครเล่นในการสอนกู่เจิงด้วยเช่นกัน

สำหรับประชาชนคนไทยสามารถชื่นชมพระอัจฉริยภาพในการทรงกู่เจิงได้ ในงาน สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ครั้งที่ 4 วันที่ 7 ม.ค. 2553 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดต่อซื้อบัตรราคา 1,000 และ 1,500 บาท ได้ที่กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม, คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์ ซอยรางน้ำ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โทร. 0-2475-3081, 0-2891-1826.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook