จ่อขอศาลช่วย42โครงการ

จ่อขอศาลช่วย42โครงการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในมาบตาพุดเอ็นจีโอค้านรัฐบาลเดินวน

มาร์ค เร่งสางปัญหามาบตาพุดยอมรับกระทบตัวเลขเศรษฐกิจ พร้อมเรียกประชุมสิ่งแวดล้อม 24 ธ.ค.นี้ วอนภาคอุตสาหกรรมยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบ ด้าน กอร์ปศักดิ์ เตรียมขอศาลช่วย 42 โครงการมาบตาพุด ระบุหากรอ กก. 4 ฝ่ายอย่างเดียวเอกชนหนีหมด เอ็นจีโอค้านสุดตัวจวกรัฐบาลเดินวนไม่มีที่จบ ขณะที่สภาอุตฯเตือนระวังต่างชาติฟ้อง

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาโครงการมาบตาพุดว่า รัฐบาลกำลังเร่งแก้ไขปัญหา โดยในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ ตนจะเรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และหารือถึงกติกาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ยอมรับว่าปัญหาเรื่องมาบตาพุดอาจกระทบกับตัวเลขเศรษฐกิจบ้าง จึงต้องเร่งทำให้เกิดความชัดเจน ไม่เฉพาะ 65 โครงการเท่านั้น แต่โครงการอีก ไม่รู้กี่โครงการ กำลังรอตัดสินใจอยู่ว่าจะลงทุนหรือไม่ ดังนั้นความแน่นอน หรือความชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งตนคิดว่าอุตสาหกรรมต้องยอมรับมาตรฐานการตรวจสอบเรื่องนี้ที่เข้มข้นขึ้น และต้องยอมรับ การเสียเวลาบ้าง แต่ต้องมีความแน่นอน ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหาอยู่

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย วันเดียวกัน มีการจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ มาบตาพุด วิกฤตหรือโอกาส? ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม โดยนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างน้อย 42 รายจาก 65 โครงการที่ลงทุนในมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งถูกคำสั่งศาลปกครอง สูงสุดให้ระงับโครงการชั่วคราว เนื่องจาก เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และก่อสร้างแล้วเสร็จในพื้นที่โดยเห็นว่ามีช่องทาง ที่สามารถทำได้ โดยการยื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาลใน 4 ประเด็นเพื่อขอความเห็นกลับไปที่อัยการอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เตรียมจะนำเสนอมาตรการดังกล่าวต่อที่ประชุมครม. ในวันที่ 22 ธ.ค. />

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลต้องทำใน 2 มาตรการไปพร้อม ๆ กันกล่าวคือการรอให้ทุกอย่างเข้าระบบกฎหมายตามประกาศหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำลังจะออกมาจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน แต่กว่าจะเข้าระบบทั้งหมดได้ก็ต้องใช้เวลาอีก 8-9 เดือน จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหายมาก และอาจหนีหายกันไปหมด ดังนั้นเพื่อหาทางเยียวยาภาคอุตสาหกรรม และเอกชนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้ง 42 โครงการก็จะ ขอช่องทางจากทางศาล เพื่อให้เดินหน้าโครงการในเรื่องการก่อสร้างให้ได้ก่อน แต่จะยังไม่เริ่มต้นกระบวนการผลิต เนื่องจากยังคงต้องรอให้เข้าสู่การปฏิบัติการตามมาตรา 67 วรรคสองก่อน ทั้งนี้เชื่อว่าศาลคงรับฟัง แต่ก็ยอมรับก็มีความเสี่ยงหากก่อสร้างต่อไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในอนาคตเช่นกัน

กรอบเวลาของกรรมการ 4 ฝ่ายคาดว่าการวางระบบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อีกประมาณ 1-2 เดือนเรียบร้อยแต่ของรัฐบาลจะติดตามต่อไปอีก 3-4 เดือนว่าการเยียวยาจะไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนการปรับปรุงกฎหมายจะแล้วเสร็จใน 3 เดือนแรกของปี 53 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด โดยเฉพาะกรณีก๊าซรั่ว 2-3 ครั้งที่ผ่านมายังขาดกลไกฉุกเฉิน และมีปัญหาการปิดบังข้อมูล และไม่สามารถหาต้นตอของปัญหา ได้เลย ดังนั้นจึงอยากฝากนักธุรกิจว่า หาก อยากให้โรงงานอยู่ร่วมกันกับชุมชนได้ก็ต้อง เปลี่ยนแปลงใหม่ เพราะถ้ายังไม่ปรับหลักคิดจะทำให้โครงการอีโคทาวน์ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ผมเคยพูดย้ำหลายครั้งว่าถ้าโรงงานไหนเกิดอุบัติเหตุแล้วแจ้งทันทีจะให้ 1 ดาวทันที เพราะถือว่าโปร่งใส แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วปิดบังข้อมูลควรจะปิดหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามว่าที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระบุว่าถึงจะอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก่อนวันที่ 24 ธ.ค. 52 แต่หากยังไม่ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็ถือว่าต้องทำตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ในประเด็นมาตรา 67 วรรคสอง นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นนี้จะเตรียมนำเขรือกับศาลอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 21 ธ.ค.นี้

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะหาทางออกใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการทั้ง 42 โครงการโดยการขอความเห็นจากศาล เพื่อให้ทบทวนใหม่ เพราะขณะนี้การคุ้มครองชั่วคราวจบที่ศาลปกครองสูงสุดแล้ว และคดีหลักจะกลับไปพิจารณาที่ศาลปกครองกลาง ทั้งนี้การไปถามความเห็นศาลจะทำให้เกิดความสะเปะสะปะ และสังคมเกิดความสับสนหรือไม่ และเหมือนเป็นการเดินวนกลับไปสู่จุดเดิม ตนเห็นว่าทางออกที่เอกชนและรัฐต้องเร่งดำเนินการมีคำตอบอยู่ในคำสั่งท้ายคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด คือหามาตรการที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองโดยอยู่ในขั้นตอนที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายกำลังจะหาข้อยุติเสนอรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนจะฟ้องรัฐบาลหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ชัดเจน แต่ในตรรกะของผู้ประกอบการที่ได้ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน ถูกต้องทั้งใบอนุญาต ใบอนุมัติ พอถูกสั่งให้ระงับโครงการ เราก็คงมีปัญหา แม้จะพยายาม ประสานความร่วมมือในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย แต่ถ้ามีความเสียหาย หรือความเสียหายไม่ได้รับการเยียวยา ผู้บริหารบริษัทคงหนักใจ เพราะบริษัทมีผู้ถือหุ้นบางบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าผู้บริหารไม่ดูแลความเสียหาย ก็ถูกผู้ถือหุ้นฟ้องได้ เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นมาก หลายบริษัทเองก็ลงทุนเยอะ ก็อาจเป็นปัญหาได้ ทั้งนี้หลายประเทศให้ความเชื่อมั่นในประเทศไทย ถ้ามีปัญหาก็คงทำให้บริษัทใหญ่มีปัญหา ด้วย แต่จริง ๆ แล้วเอกชนไม่อยากฟ้องร้องกับภาครัฐ.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook