"ชัชชาติ" รับข้อเสนอเปิดผับถึงตี 4 ปิดประตูจ่ายใต้โต๊ะ เดินหน้าเปิดเมืองฟื้นฟูโควิด

"ชัชชาติ" รับข้อเสนอเปิดผับถึงตี 4 ปิดประตูจ่ายใต้โต๊ะ เดินหน้าเปิดเมืองฟื้นฟูโควิด

"ชัชชาติ" รับข้อเสนอเปิดผับถึงตี 4 ปิดประตูจ่ายใต้โต๊ะ เดินหน้าเปิดเมืองฟื้นฟูโควิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ชัชชาติ" รับข้อเสนอเปิดผับถึงตี 4 ทำให้ทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ  ย้ำ “คน” คือศักยภาพที่สำคัญที่สุดของเมือง

“เมืองคือเศรษฐกิจ เมืองคือตลาดแรงงาน ถ้าเกิดเมืองไม่มีงาน เมืองจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งโรงแรมหรือผู้ประกอบการต่าง ๆ เป็นผู้สร้างงานให้กับเมือง เรามองผู้ประกอบการเป็นพาร์ทเนอร์กัน ฉะนั้น เราต้องช่วยอำนวยความสะดวกเขา หากมีปัญหาอะไรเราก็ช่วยหาทางแก้ ถ้าแก้ไม่ได้ เราก็ต้องแจ้งไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะโรงแรมและการท่องเที่ยวเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีสิ่งที่กังวลคือนักท่องเที่ยวถูกเอาเปรียบ ซึ่งเทศกิจเราต้องเข้มข้นขึ้น เราอาจจะต้องเตรียมเทศกิจที่พูดภาษาอังกฤษได้ และมีศูนย์ดูแลนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในการประชุมสมาชิกสมาคมโรงแรมไทย ประจำเดือนกันยายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย

โอกาสนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความเห็นกรณีผู้ประกอบการขอเปิดผับถึงตี 4 โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ตอบว่า ตนเชื่อว่าการขยายเวลาทำให้ทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ คือ กฎหมายให้ปิดเร็ว อาจมีบางสถานประกอบการที่แอบจ่ายใต้โต๊ะเพื่อจะเปิดเกินเวลา และไม่ได้รับการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย ก็จะยิ่งเป็นช่องโหว่มากกว่า ดังนั้น หากทำให้ถูกกฎหมาย ให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ก็จะทำให้ตรวจสอบได้ ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านการเปิดถึงตี 4 แต่จะต้องไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่น เช่น ประชาชน หรือธุรกิจโรงแรมใกล้เคียง ส่วนในเรื่องการจัดโซนไม่ใช่หน้าที่ของกทม. แต่อาจจะต้องคุยกับทางตำรวจ เพื่อหารือในการอัปเดตโซนให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น และตรงตามอุปสงค์ของพื้นที่นั้นๆ

สำหรับการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “วิสัยทัศน์ท่องเที่ยวและโรงแรมของกรุงเทพฯ” ในวันนี้ (21 ก.ย. 65) ณ เวลา 12.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึง 5 หัวข้อ ได้แก่ ความพร้อมหลังโควิด จุดแข็งของกรุงเทพฯ แนวคิดนโยบาย ตัวอย่างโครงการที่ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และสิ่งที่ต้องปรับปรุง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความพร้อมหลังโควิด

ปัจจุบันผู้ป่วยรายใหม่อยู่ในจำนวนที่กทม.สามารถบริหารจัดการได้ มีอัตราการครองเตียงเพียง 23.74 % จากจำนวนเตียงทั้งหมดที่กทม.ดูแล มียอดการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ครอบคลุมกว่า 100% เข็ม 3 ครอบคลุมกว่า 70% (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ย. 65) และที่ผ่านมา กทม.ได้มีการถอดบทเรียนและเตรียมความพร้อมในการจัดการทรัพยากร เช่น โรงพยาบาล เวชภัณฑ์ การบริหารการปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความเร็วของการสนับสนุนทั้งในด้านการฉีดวัคซีนและการส่งต่อผู้ป่วย และการจัดการด้านเทคโนโลยีเพื่อลดภาระงานเพิ่มเติมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้กทม.มีความพร้อมอย่างมากที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด

จุดแข็งของกรุงเทพฯ

สำหรับค่าครองชีพของกรุงเทพมหานครอยู่ในลำดับ 106 จาก 227 ประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมการเดินทาง คือมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหลากหลายเส้นทางให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 240 ปี แต่อาจจะต้องปรับเรื่อง story telling ให้เยอะขึ้น เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีการยอมรับในความหลากหลายและความแตกต่าง มีความพร้อมในด้านห้องพักในโรงแรมกว่า 160,000 ห้อง ด้วยอัตราค่าห้องพักต่อคืน
โดยเฉลี่ยประมาณ 2,000 บาท มีศูนย์การประชุมระดับโลกในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งล้วนมีรถไฟฟ้าเข้าถึง ทำให้อนาคตเราเป็นศูนย์กลางของ MICE ได้

แนวคิดนโยบาย

กรุงเทพมหานคร มี 2 ตัวเลขที่เกี่ยวข้อง คือ 1 และ 98 โดยเป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลกอันดับ 1 หลายปีซ้อน แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 จาก 140 เมืองทั่วโลก จากดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ หรือ The Global Liveability Index ของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU สำหรับดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่มีด้วยกัน 5 ด้าน 30 ดัชนี ได้แก่ 1. ความมั่นคง 2. สาธารณสุข 3. วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 4. การศึกษา และ 5. โครงสร้างพื้นฐาน จึงเกิดเป็นวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ : เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยมี 9 นโยบายหลัก ดังนี้ บริหารจัดการดี ปลอดภัยดี สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เดินทางดี โครงสร้างดี เรียนดี สร้างสรรค์ดี และเศรษฐกิจดี จากนั้นได้มีการแตกย่อยออกมาเป็นแผนปฏิบัติการ 216 ข้อ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของเมือง คือ กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในเมืองน่าอยู่
50 อันดับแรกของโลก ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถอ่านรายละเอียดนโยบายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ทางเว็บไซต์ www.chadchart.com

ตัวอย่างโครงการที่ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว อาทิ ผลักดันตลาดจตุจักรให้เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก อำนวยความสะดวกให้ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์กรุงเทพฯ (Made in Bangkok: MIB) ไปสู่ตลาดระดับโลก ดึงดูดกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ (MNCs) ผลักดันเทศกาลต่าง ๆ ของ กทม. ไปอยู่ในปฏิทินโลก เช่น ดนตรีในสวน กรุงเทพกลางแปลง Colorful Bangkok เป็นต้น สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นในพื้นที่ 50 เขต พัฒนาย่านสร้างสรรค์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ พัฒนามาตรฐานอาหารริมทางอร่อยปลอดภัย และผู้ว่าฯ เที่ยงคืน ตรวจความปลอดภัยในสถานประกอบการและส่งเสริมศักยภาพให้กับการท่องเที่ยวยามค่ำคืน

สิ่งที่ต้องปรับปรุง

ปัจจุบันมีความไม่เท่าเทียมกันของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยกิจการที่มีการประกอบธุรกิจเหมือนโรงแรม (มีการคิดค่าห้องเช่าเป็นรายวัน) จะต้องเสียภาษีฯ 0.3% ซึ่งจะคิดภาษีรวมพื้นที่อาคารทั้งหมด ส่วนกิจการที่จดทะเบียนเป็นอาคารที่พักอาศัยรวม (เช่น อะพาร์ตเมนต์) จะต้องเสียภาษีฯ 0.02%

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความล่าช้าในการขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงแรม ปัจจุบันอาคารที่จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างหรือเปลี่ยนแปลงการใช้เป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ ต้องทำเรื่องผ่านสำนักการโยธาเท่านั้น (จากเดิมที่อาคารโรงแรมขนาดต่ำกว่า 2,000 ตร.ม. และสูงไม่เกิน 8 ชั้น สามารถขอที่สำนักงานเขตได้) ส่งผลให้เกิดคอขวดและความล่าช้าในการขออนุญาต ณ เดือน กันยายน มีโรงแรมอยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งสิ้น 62 โครงการ กทม.จึงต้องมีการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตให้เป็น One Stop Service เพื่อดำเนินการให้รวดเร็วและดีขึ้น

ด้านความขาดแคลนแรงงานในภาคบริการหลังการฟื้นตัวจากโควิด กทม.ทำโรงเรียนฝึกอาชีพ และจะ matching ระหว่าง demand กับ supply ให้ ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือนักท่องเที่ยวที่จะกลับคืนมา

กรณีนักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบ เช่น ไกด์หลอกลวง โก่งราคา ต้องทำให้เทศกิจเข้มแข็งขึ้น หารือร่วมกับตำรวจ เพื่อสร้างความไว้ใจให้แก่นักท่องเที่ยว

ในส่วนของป้ายท่องเที่ยว ป้ายจราจร ไม่เอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว จะต้องปรับปรุงให้ใหม่และมีข้อมูลที่อ่านง่าย ซึ่งอยู่ในแผนที่ต้องดำเนินการ

“ตอนนี้ก็มีข้อดีคือเรามีการตั้งคณะกรรมการร่วม ภาครัฐ ภาคเอกชน และกทม. แล้ว ซึ่งจะมีการเสนอตั้งธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย หัวใจคือต้องคุยกันและเป็นพาร์ทเนอร์กัน โดยหน้าที่กทม.คืออำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชน เพราะเป็นคนสร้างงานและจ่ายภาษีให้กับ กทม. เป็นเหมือนหัวหอกสำคัญของเมืองในการสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ และหวังว่าคงจะได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในอนาคต ขอบคุณทุกท่านครับ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายในการบรรยาย


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ย้ำ “คน” คือศักยภาพที่สำคัญที่สุดของเมือง

วันเดียวกันนี้ เวลา 16.15 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง” ในงาน ESG FORUM ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ 1 (ชั้น 5) ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน

โดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หลังจากเป็นผู้ว่าฯ มา 3 เดือน ถามว่าเห็นศักยภาพของกรุงเทพมหานครไหม ต้องตอบว่าเห็นมาก เห็นจริง ๆ โดยศักยภาพ หมายถึง อำนาจหรือคุณสมบัติที่แฝงอยู่ในสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้พัฒนา หรือทำให้ปรากฏขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งกรุงเทพมหานครเหมือนเพชรที่ยังไม่ได้รับการเจียระไน หากเจียระไนให้ดีคิดว่าคงเปล่งประกายไม่แพ้ชาติอื่น ไม่แพ้เมืองอื่นในโลก

“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีงบประมาณ เพราะเป็นช่วงปลายปีงบประมาณแล้ว ดังนั้น ศักยภาพที่แท้จริงของกรุงเทพมหานคร คือ ‘คน’ ถ้าเราสร้างแรงบันดาลใจได้ เป็นความหวังให้เขาได้ ผมว่ามีพลังมหาศาลเลย เชื่อว่าพวกเราทุกคนสามารถจะเปลี่ยนเมือง และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า อุปสรรคของการเจียระไนเพชรเม็ดนี้มีหลายปัญหา อาทิ ภาวะความเป็นผู้นำ การสร้างแรงบันดาลใจ การกระจายอำนาจ ที่ผ่านมารัฐไม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการตัดสินใจ การมีส่วนร่วม การนำความคิดสร้างสรรค์ประชาชนมาเป็นคำตอบให้เมือง รวมไปถึงเรื่องของความไว้วางใจ เป็นต้น

จากนั้นได้บรรยายถึง 4 หัวข้อ ได้แก่ 1. ปัจจุบัน 2. อนาคต วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์เมือง 3. สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง และ 4. การสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนี้

ปัจจุบัน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ก่อนที่เราจะวางแผนอนาคตได้เราต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เราต้องพูดถึงปัจจุบันก่อน เพื่อจะแก้ปัญหาของกรุงเทพมหานครให้ก้าวต่อไปในอนาคตได้

สำหรับจุดแข็งของกทม. คือ เรื่องค่าครองชีพ โครงสร้างพื้นฐานครอบคลุม การเป็นพหุวัฒนธรรม ฯลฯ และจุดอ่อนได้แก่ เรื่องความโปร่งใส ความสะดวกในการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ทักษะกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ปัญหาฝุ่น PM2.5 การบริหารจัดการน้ำ การจราจร สัดส่วนพื้นที่สีเขียว การขาดอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ เป็นต้น

อนาคต วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์เมือง

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การที่เมืองจะเจริญได้ เมืองต้องดึง/สร้างคนเก่ง ไม่มีเมืองใดที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีคนเก่งอยู่ในเมือง เพราะศักยภาพของเมืองจึงขึ้นอยู่กับ “คน”

จากนั้นได้กล่าวถึงตัวเลข 1 และ 98 และวิสัยทัศน์ “กรุงเทพฯ : เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” 9 นโยบายหลัก 216 แผนปฏิบัติการ และเป้าหมายในการเป็น 1 ใน 50 อันดับเมืองน่าอยู่ของโลกภายในปี 2570

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของกทม. ประกอบด้วย 1. เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง 2. ปรับปรุงคุณภาพชีวิต 3. สร้างโอกาสสำหรับทุกคน และ 4. สร้างความเชื่อมั่น พร้อมได้ยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง สวน 15 นาที การแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบ การคมนาคมที่ครอบคลุมเส้นเลือดใหญ่เส้น-เลือดฝอย วางแผนระยะยาวในการจัดการน้ำ การทำพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน จัดการจราจรด้วยระบบ ai ฯลฯ

สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สิ่งสำคัญของเมืองคือเศรษฐกิจ และเมืองคือตลาดแรงงาน หน้าที่ของกทม.จึงต้องสร้างงานที่ดี มีผู้จ้างที่ดี เพื่อที่จะมีคนมาจ่ายภาษี นำรายได้มาหมุนเวียนพัฒนาเมืองต่อไปได้ โดยทิศทางส่งเสริมศักยภาพใหม่ให้กับเมือง มีด้วยกัน 7 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ อัญมณี ธุรกิจ MICE ศูนย์กลางของ MNCs โครงการ EEC ที่ขยายออกไป

การสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล วิชาการ เอกชน และประชาชน หากเราสามารถสร้างความศรัทธาและความหวังในระบบประชาธิปไตย จะเป็นการสร้างศักยภาพสำคัญของเมืองในอนาคต เพราะ ‘คน’ คือศักยภาพที่สำคัญที่สุดของเมือง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ "ชัชชาติ" รับข้อเสนอเปิดผับถึงตี 4 ปิดประตูจ่ายใต้โต๊ะ เดินหน้าเปิดเมืองฟื้นฟูโควิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook