ทลายแก๊งผลิตแบงก์ปลอม สุดอึ้งทำง่ายๆ ใช้แค่กระดาษ เครื่องปรินต์ และเทียนไข

ทลายแก๊งผลิตแบงก์ปลอม สุดอึ้งทำง่ายๆ ใช้แค่กระดาษ เครื่องปรินต์ และเทียนไข

ทลายแก๊งผลิตแบงก์ปลอม สุดอึ้งทำง่ายๆ ใช้แค่กระดาษ เครื่องปรินต์ และเทียนไข
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทลายแก๊งผลิตแบงก์ปลอม สุดอึ้งทำง่ายมาก ใช้แค่กระดาษ เครื่องปรินต์ และเทียนไข ธปท. เผยจับได้ล็อตนี้เป็นรายใหญ่ที่สุดในรอบ 8 ปี

วันนี้ (29 ก.ย.65) ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ พลตำรวจโทปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 แถลงผลการจับกุมธนบัตรปลอม ผู้ต้องหา 3 คน ได้แก่ นางสาวธันวาภรณ์ อายุ 38 ปี ชาวอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ,นายพชร อายุ 29 ปี ชาวอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และนายอับดุลมานาฟ อายุ 25 ปี ชาวอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยจับกุมได้เมื่อวันที่ 27 ก.ย.65 ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง ในจังหวัดชัยนาท พร้อมของกลางธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 1,177 ฉบับ มูลค่า 1,177,000 บาท, ธนบัตรฉบับละ 500 บาท จำนวน 60 ฉบับ มูลค่า 30,000 บาท, เครื่องปรินเตอร์ 2 เครื่อง และรถยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน งน-1614 เชียงใหม่

ทั้งนี้การจับกุมดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 ก.ย.565 เวลาประมาณ 14.15น. มีคนร้ายเป็นผู้ชายนำธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ไปซื้อสินค้าภายในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งสาขาชุมชนเด่นห้า ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งจากการสืบสวนหาข่าวทราบว่าผู้ที่นำธนบัตรปลอมมาซื้อสินค้าคือนายอับดุลมานาฟ จึงได้ติดตามตัวและตรวจค้นพบธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 5 ฉบับ และมีหมายเลข 2 ก.ไก่ 950 2582 ตรงกันทั้ง 5 ฉบับ จึงทำการจับกุมตัว ส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขณะที่จากการสืบสวนขยายผลได้ข้อมูลว่าได้สั่งซื้อธนบัตรปลอมมาจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “มารูโกะ จัง” โดยสั่งซื้อธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 10 ฉบับ ในราคา 1,300 บาท และผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวได้ส่งเป็นพัสดุมาให้จากอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านทางผู้ให้บริการรับส่งพัสดุเอกชนเจ้าหนึ่ง ระบุชื่อผู้ส่งคือ นางสาวธันวาภรณ์ จากนั้นสืบสวนร่วมกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย และทำการล่อซื้อธนบัตรปลอมจากนางสาวธันวาภรณ์ ด้วยการจ่ายเงิน 5,000 บาท โอนเข้าบัญชีธนาคาร และได้รับธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 56 ฉบับ ส่งมาให้จากจังหวัดแพร่ ผ่านทางผู้ให้บริการรับส่งพัสดุเอกชนเจ้าหนึ่ง ซึ่งตรวจสอบพบว่าผู้ส่งพัสดุคือ นางสาวธันวาภรณ์ จึงขออนุมัติศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อทำการจับกุม

อย่างไรก็ตามนางสาวธันวาภรณ์ได้หลบหนีการจับกุม จนกระทั่งเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าได้ไปพักอาศัยอยู่ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท จึงได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชัยนาทเข้าทำการตรวจสอบและพบว่านางสาวธันวาภรณ์ ละนายพชร ซึ่งเป็นสามีกำลังผลิตธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท อีกจำนวน 1,040 ฉบับ และขยายผลไปถึงผู้สั่งซื้อที่จังหวัดตรัง พร้อมกับทำการตรวจยึดธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาทได้อีกจำนวน 15 ฉบับ โดยทำการจับกุมส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย ในข้อหา “ร่วมกันมีเพื่อนำออกใช้ซึ่งสิ่งใดๆ อันตนรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมหรือเป็นธนบัตรแปลง”

สำหรับธนบัตรปลอมดังกล่าวนี้ พบผู้ต้องหามีการใช้เทคนิคในการปลอมแปลงให้ใกล้เคียงธนบัตรของจริงมากที่สุด โดยเมื่อได้ธนบัตรปลอมที่พิมพ์ออกมาจากเครื่องปรินเตอร์แล้วจะใช้เทียนไขถูกับธนบัตรปลอมให้ทั่ว เพื่อให้มีน้ำหนักและผิวสัมผัสเหมือนธนบัตรจริง ซึ่งจากสถิติการจับกุมของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าการจับกุมในครั้งนี้เป็นการจับกุมธนบัตรปลอมรายใหญ่ที่สุดในรอบ 8 ปี

นางหนึ่งฤทัย ทิพยโชค  ธนกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือ กล่าวว่า การสังเกตธนบัตรจริงหรือปลอมนั้น ธนบัตรจริงจะทำจากกระดาษที่มีใยฝ้ายเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีความแกร่ง ทนทาน และไม่ยุ่ยง่าย เมื่อจับสัมผัสจะให้ความรู้สึกแตกต่างจากกระดาษทั่วไป นอกจากนี้มีลายเส้นนูน เกิดจากการพิมพ์โดยใช้แม่พิมพ์ที่มีร่องหมึกลึก และใช้แรงกดพิมพ์สูง หมึกพิมพ์จึงนูนขึ้นมาจากเนื้อกระดาษ ภาพ และลายเส้นที่ได้จึงมีรายละเอียดคมชัด ซึ่งใช้ในการพิมพ์พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ คำว่า "รัฐบาลไทย" ตัวอักษร และตัวเลขแจ้งชนิดราคา เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือ จะรู้สึกสะดุด และที่สำคัญคือลายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อกระดาษ เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตกระดาษ โดยใช้กรรมวิธีพิเศษที่ทำให้เนื้อกระดาษมีความหนาบางไม่เท่ากัน จนเกิดเป็นภาพตามต้องการ ลายน้ำในธนบัตรไทยเป็นพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อยกส่องกับแสงสว่างจะเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร นอกจากนี้ ลายน้ำยังมีตัวเลขชนิดราคารูปลายไทย ที่โปร่งแสงเป็นพิเศษ ส่วนธนบัตรปลอม เมื่อตรวจสอบจะพบว่าแตกต่างจากที่กล่าวมาทั้งหมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook