โรงแรมเล็กวิกฤต! เสียหายกว่า 70,000 ล้าน เสียงร้องไห้ที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ยิน

โรงแรมเล็กวิกฤต! เสียหายกว่า 70,000 ล้าน เสียงร้องไห้ที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ยิน

โรงแรมเล็กวิกฤต! เสียหายกว่า 70,000 ล้าน เสียงร้องไห้ที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ยิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยกลับมาเที่ยวไทย แต่ถ้าไปเดินถนนบริเวณหาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต จะเห็นว่าโรงแรมขนาดเล็กหลายแห่งยังไม่กลับมาเปิดตัว บ้างปิดถาวร บ้างโดนธนาคารยึดมีหมายศาล หรือติดป้ายขายทอดตลาดอยู่หน้าตึกจำนวนมาก ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่ในภูเก็ต แต่โรงแรมเล็กทั่วประเทศกำลังประสบกับวิกฤตที่ไม่สามารถกลับมาเปิดกิจการได้

ทีมข่าว Sanook พูดคุยกับ ชินวัฒน์ อุดมนิยม นายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต และอิชยา สัวบุตร เจ้าของโรงแรมออร์คิด การ์เด้น ป่าตอง ตัวแทนผู้ประกอบการโรงแรมเล็ก เล่าให้ฟังว่า เดิมทีโรงแรมเล็กในจังหวัดภูเก็ตเริ่มประกอบกิจการกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ซึ่งในขณะนั้น โรงแรมใหญ่ยังมีไม่มาก แต่นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเยอะขึ้นจนโรงแรมไม่เพียงพอ

ชาวบ้านในจังหวัดจึงเอาอาคารพาณิชย์มาปรับปรุงเป็นโรงแรมขนาดเล็กที่มีบริการเพียงแค่อาหารเช้า หรือร้านอาหารเล็กน้อย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ในชุมชน เพราะจากการประเมินของ ททท. เมื่อช่วงก่อนโควิด พบว่านักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเฉลี่ย 7,000 บาทต่อคนต่อวัน ถ้าค่าที่พักไม่เกิน 1,000 บาท ที่เหลือก็จะกระจายไปยังสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ค่าเดินทาง หรืออื่นๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดการจ้างงาน และเป็นหูเป็นตาตามตรอกซอกซอยที่โรงแรมเล็กๆ ตั้งอยู่ ให้เมืองภูเก็ตปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว

เมื่อปี 2547 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.โรงแรม ที่กำหนดให้ห้องพักรายวันหรือให้เช่าน้อยกว่า 30 วันถือว่าเป็นโรงแรมตามกฎหมาย ต้องได้รับผ่านประเมินตามเกณฑ์เหมือนกัน เพื่อให้ได้ใบอนุญาต เช่น ต้องมีพื้นที่ว่าง 30% เช่น ลานจอดรถ พื้นที่สีเขียว สระน้ำ ฯลฯ และต้องมีทางเดินภายในอาคารและความกว้างบันได 1.2 - 1.5 เมตร รวมทั้งต้องมีระยะร่นจากถนนมายังชายคาอีก ทำให้โรงแรมเล็กที่เปิดมาก่อนหน้านี้ กลายเป็นโรงแรมผิดกฎหมาย เพราะโดยสเปกของอาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขเหล่านี้ได้

จนรัฐบาลใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในปี 2562 - 2564 เพื่อให้โรงแรมที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการได้ และมีเวลาปรับปรุงเพื่อขอใบอนุญาต แต่กลับต้องเจอกับการปิดเมืองเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับคำสั่งตาม ม.44 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ซึ่งตรงกับช่วงการประกาศใช้นโยบาย Phuket Sandbox โรงแรมเล็กจำนวนมากที่เปิดรับจองจากนักท่องเที่ยวแล้วก็ถูกปิดกิจการและต้องคืนเงินนักท่องเที่ยวที่จองมาภูเก็ต

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายเจ้าที่กู้เงินธนาคารมาเพื่อเตรียมปรับปรุงอาคาร หรือเพื่อมาลงทุนประกอบกิจการ ก็ขาดรายได้ที่จะนำไปใช้หนี้ กลายเป็นหนี้เสียรหัส 21 ที่เกิดขึ้นช่วงโควิด ไม่สามารถไปกู้ซอฟต์โลนเพิ่มได้ เพราะไม่มีใบอนุญาต แต่ดอกเบี้ยยังคงวิ่งอยู่เรื่อยๆ ทำให้หลายโรงแรมต้องปิดกิจการ เลิกจ้างพนักงาน เพราะไม่มีทุน ถูกธนาคารยึดและขายทอดตลาด เฉพาะในภูเก็ตประมาณ 200 โรงแรม รวมมูลค่าความเสียหาย 68,000 ล้านบาท

อิชยา ยืนยันว่า กฎหมายเกิดขึ้นทีหลังโรงแรม ผู้ประกอบการหลายคนไม่รู้กฎหมาย และไม่มีสายป่านที่ยาวพอที่จะปรับปรุงให้ถูกต้องตามสเปค เพราะต้องทุบตึกและสร้างใหม่ ตอนนี้หลายที่อาศัยทำเป็นห้องเช่ารายเดือน แต่ก็ไม่มีลูกค้ามากขนาดนั้น เธอเล่าว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาก็ต้องเสียเงินไปกับการเยียวยาพนักงาน เพราะหลายคนอยู่กันมาตั้งแต่สร้างโรงแรม เป็นเหมือนครอบครัว ถ้าทิ้งกันไปก็ไม่รู้จะไปทำอะไร บางคนอายุมากไปสมัครงานโรงแรมใหญ่ก็ไม่รับ แต่ก็มีที่สู้ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องปิดกิจการไม่ได้ไปต่อ โรงเรียนแถวบ้านก็แทบจะไม่เหลือนักเรียน เพราะลูกจ้างก็โยกย้ายครอบครัวไปหางานทำที่อื่น

เราไม่มีเงินมาเยียวยากันอีกแล้ว ทุกคนก็ต้องไปเฝ้าทรัพย์ที่กองบังคับคดี เพราะเราจะต้องถูกยึดทรัพย์ เพราะว่าธนาคารไม่ให้เราต่อยอด เพราะเนื่องจากไม่มีใบอนุญาต แล้วก็พวกเราเป็นพวกตัวเล็ก จะให้ไปใส่เสื้อตัวใหญ่ได้ยังไง...ถ้าเราจะทำเราจะต้องไปกู้ธนาคาร แต่ในเมื่อธนาคารไม่ต่อยอดให้ก็ไม่ไหว รายได้ก็ไม่มีอยู่แล้ว มันมืดมนไปหมด” อิชยา กล่าว

อิชยา สัวบุตรอิชยา สัวบุตร

เธอเล่าให้ฟังต่อว่า ทุกวันนี้ มีหลายพรรคการเมืองเข้ามาฟังเสียงประชาชน ไม่ว่าใครเข้ามาเราก็ไปยื่นหนังสือ ร้องเรียนจนหมดกระดาษไปเป็นลังๆ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะรัฐบาลมองไม่เห็น เราต้องรอคอยว่าจะมีใครมองเห็นเรา เพราะมันไม่มีทางออก ทางรอดแล้ว ทุกวันนี้นอกจากจะไม่มีลูกค้าแล้ว ยังต้องอยู่ด้วยความหวาดผวาว่าเมื่อไรธนาคารจะมายึด

ชินวัฒน์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่สมาคมพยายามเรียกร้องมาตลอดมา คือ ขอให้รัฐพยายามยกร่างกฎหมายที่รองรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก SME หรือรากหญ้า เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของโรงแรมเล็ก เพราะพวกเราเสียภาษี กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเป็นหูเป็นตาให้เมือง หากโรงแรมเล็กตาย เศรษฐกิจรากหญ้าก็จะกระทบไปด้วย

“กระทั่งภาครัฐ ไม่ว่าท้องถิ่น เทศบาล อบจ. เขาเก็บภาษีด้วย พวกเราจ่ายภาษีหมด...พวกเราอยู่ทุกระบบยกเว้นมีระบบเดียวที่พวกเราเข้าไม่ได้ ระบบถูกต้องตามกฎหมายของ พ.ร.บ.โรงแรม” ชินวัฒน์ กล่าว

ชินวัฒน์ อุดมนิยมชินวัฒน์ อุดมนิยม

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ โรงแรมเล็กวิกฤต! เสียหายกว่า 70,000 ล้าน เสียงร้องไห้ที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ยิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook