สดร. เผย 4 ปรากฏการณ์การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในรอบปี ระบุ วันนี้ระยะเวลากลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน

สดร. เผย 4 ปรากฏการณ์การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในรอบปี ระบุ วันนี้ระยะเวลากลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สดร. เผย 4 ปรากฏการณ์การขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ในรอบปี ระบุ วันนี้ระยะเวลากลางวันจะสั้นกว่ากลางคืนเป็นสัญลักษณ์เข้าสู่ฤดูหนาวเป็นวันแรก รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในวันนี้ (22 ธ.ค.) ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในรอบปีที่เกิดปรากฎการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ณ ตำแหน่งต่างๆ เพื่อกำหนดถึงการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของประเทศในแถบยุโรป รวมไปถึงการนำใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร โดยวันนี้จะเป็นวันที่พระอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออก เฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตก เฉียงไปทางใต้มากที่สุด เรียกว่า วันเหมายัน (The Winter Solstice) ซึ่งจะทำให้วันนี้มีช่วงเวลาของกลางวันสั้นกว่ากลางคืน โดยดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าไม่ถึง 12 ชั่วโมง และลับขอบฟ้ามากกว่า 12 ชั่วโมงอาจนานถึง 13-14 ชั่วโมง ทำให้รุ่งเช้าวันพรุ่งนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้า และสว่างค่อนข้างช้ากว่าปกติ โดยเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวเป็นวันแรก นอกจากนี้ ในปีหน้าวันที่ 21 มีนาคม 2553 จะเป็นวันวสันตวิษุวัต (The Vernal Equinox occurs) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้วันดังกล่าวมีช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี โดยจะเป็นการบ่งบอกว่าจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูฝน หลังจากนั้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2553 จะเป็นวันครีษมายัน (The Summer Solstice) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกและเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ซึ่งเป็นวันที่กลางวันยาวและกลางคืนจะสั้นมาก เป็นจุดที่กำหนดว่าจะเข้าสู่ฤดูร้อน นอกจากนี้ ในวันที่ 23 กันยายน หรือเรียกว่าวันศารทวิษุวัต (The Autumnal Equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์กลับมาขึ้นทางทิศตะวันออกพอดี และตกทางทิศตะวันตกพอดีอีกครั้งหนี่ง ซึ่งเป็นวันที่บ่งบอกว่าจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ณ ตำแหน่งต่างๆ ทั้ง 4 ครั้งนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook