พิธาชี้กลุ่มทุนต้นตอฝุ่น ชูโมเดลสิงคโปร์: เช็กข้าวโพดนำเข้า-ฟ้องบริษัทเอี่ยวเผา

พิธาชี้กลุ่มทุนต้นตอฝุ่น ชูโมเดลสิงคโปร์: เช็กข้าวโพดนำเข้า-ฟ้องบริษัทเอี่ยวเผา

พิธาชี้กลุ่มทุนต้นตอฝุ่น ชูโมเดลสิงคโปร์: เช็กข้าวโพดนำเข้า-ฟ้องบริษัทเอี่ยวเผา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เมื่อวันจันทร์ (27 มี.ค.) วิจารณ์ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหาหมอกควันพิษ PM 2.5 ที่ปกคลุมภาคเหนืออย่างหนักตลอดหลายวันที่ผ่านมาคือการเกษตรพันธสัญญาในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีกลุ่มทุนใหญ่ของไทยอยู่เบื้องหลัง

"สาเหตุของการเผาไม่ต้องไปหาอื่นไกล เกิดจากประเทศไทยของเราเอง ดังจะเห็นได้จากข้อมูลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 770 ล้านบาท ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 14,325 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 18 เท่า

การขยายตัวของกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เกษตรกรรมในลาวและเมียนมา และเป็นที่มาของฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย" นายพิธา โพสต์

"ทุกตันข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันที่มาจากการเผาป่า แลกมาด้วยอากาศบริสุทธิ์และอายุขัยคนไทย"

ชู GAP-โมเดลสิงคโปร์ จัดการกลุ่มทุน

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล จะบังคับให้มีการตรวจคุณภาพและที่มาของสินค้าเกษตรเหล่านี้ ที่เรียกว่า มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุด เพื่อรับรองว่าสินค้าเกษตรดังกล่าวมาจากการเผาป่าหรือไม่

"ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราจะประกาศทันทีว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรที่นำเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ผ่านด่านการค้าในภาคเหนือ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีที่มาจากการเผาเหล่านี้เข้าสู่ประเทศไทย ตัดวงจรการเผา ลบจุดแดงบนแผนที่ทางอากาศ" นายพิธา โพสต์

นอกจากนี้ ยังจะนำวิธีการของประเทศสิงคโปร์ ที่เปิดให้ประชาชนร้องเรียนหรือฟ้องบริษัทหรือผู้ที่รับซื้อผลผลิตที่มีส่วนในการเผาป่า มาปรับใช้อีกด้วย

"ประเทศไทยต้องมีกฎหมายให้ผู้มีส่วนในการสร้างหมอกควันพิษต้องรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและทางแพ่ง และประชาชนสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้หากพิสูจน์ได้ว่าบริษัทใดรับซื้อหรือมีส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการเผาที่ทำให้เกิดมลพิษลอยเข้ามาในประเทศไทย หลักการเดียวกันกับ 'กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน' หรือ Transboundary Haze Pollution Act ของประเทศสิงคโปร์"

นายพิธา ย้ำอีกว่า ทางเดียวที่จะแก้ไข PM 2.5 ได้คือรัฐบาลที่กล้าจัดการกับกลุ่มทุน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการดับไฟป่าด้วย และสรุปว่าปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ มีความเกี่ยวเนื่องกัน

"ในโลกยุคปัจจุบัน ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และสุขภาพแทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน รัฐบาลที่จะแก้ปัญหา PM 2.5 ได้ คือรัฐบาลที่พร้อมชนกับกลุ่มทุน กล้าจัดการกับบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ และสามารถใช้เวทีระหว่างประเทศในการเจรจาสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาระดับภูมิภาค ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จะร่วมมือและสนับสนุนกับประเทศเพื่อนบ้านในการดับไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของจุดความร้อน และฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ประชาชนทุกประเทศในอนุภูมิภาคต้องเผชิญเช่นกัน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook