ผมว่าโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า

ผมว่าโฆษณาชวนเชื่อมากกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กลายเป็นประเด็นฮือฮาก็จู่ ๆ มีการประกาศจัดตั้งกองทัพประชาชนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือ กปช. โดยให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ทีมการเมืองเดลินิวส์ ได้สัมภาษณ์คนสนิทอย่าง พ.อ. อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ถึงสิ่งที่เกิดและปัญหา เกาเหลา ในพื้นที่กทม.

**ในฐานะคนสนิท พล.อ.ชวลิต มองอย่างไรกับการจัดตั้ง กองทัพประชาชนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือ กปช.

ผมว่าคงอยู่ในลักษณะที่โฆษณาชวนเชื่อมากกว่าเพราะผมกล้าพูดได้เลยว่า พล.อ.ชวลิต หวังดีต่อบ้านเมือง แนวคิดท่านไม่นิยมความรุนแรงและมีความอดทนทางจิตใจ บางครั้งถูกต่อว่าท่านก็ไม่เคยตอบโต้ ก็เคยคุยกัน อย่างผมเคยถูกสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งนำไปออกอากาศ 2 ครั้งผมก็ไม่เคยตอบโต้

**เหตุใดถึงมองว่าเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ

เพราะไม่มีข้อเท็จจริงอะไรรองรับและ พล.อ.ชวลิต บุคลิกท่านก็ไม่นิยมความรุนแรง แต่กองทัพประชาชนคงไม่ใช่ว่าจัดตั้งเป็นกองทัพ คงเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าบ้านเมืองไม่มีความเป็นธรรม 2 มาตรฐาน เขาก็อยากให้บ้านเมืองกลับคืนสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง คนอาจจะมองว่าคนเสื้อแดงเป็นคนที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ผมว่าเกินครึ่งของทั้งหมดจะเป็นคนที่มองเห็นถึงความเป็น 2 มาตรฐานซึ่งเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง

**ความหมายจะเป็นการปฏิวัติโดยประชาชน

คงไม่ใช่ เพราะว่าผมโทรศัพท์สอบถาม เสธ.แดง (พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล) ท่านก็บอกว่าพูดไปอย่างนั้นเอง ท่าน พล.อ. พัลลภ (พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี) เป็นนักจิตวิทยามวลชนคนหนึ่ง อาจเป็นความคิดของ พล.อ.พัลลภ ที่อยากให้ พล.อ.ชวลิต มา นำ หรือปลุกปลอบให้กำลังใจกัน เท่าที่ทราบ พล.อ.ชวลิตก็ไม่ได้ รับทราบเรื่องเหล่านี้ พล.อ.ชวลิต ท่านเคยบอกไว้ว่าตั้งใจจะทำ 3 เรื่อง คือ สร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง แก้ไขปัญหา 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ผมก็คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ

**แต่คนเข้าใจว่า พล.อ.ชวลิตเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยแล้วสถานการณ์เริ่มแรงขึ้น

พอมันจะแรง พล.อ.ชวลิตท่านก็คอยห้ามปราม ผมเองก็คอยห้ามปราม ผมก็พยายามพูดเตือนสติว่าเราสามารถใช้วัฒนธรรมไทยได้คือผู้มีอำนาจต้องเห็นใจผู้ไม่มีอำนาจ รัฐบาลก็ต้องนใจฝ่ายค้าน ผมพูดเรื่องนี้ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯสมัคร สุนทรเวช ว่ารัฐบาลต้องยื่นมือให้ฝ่ายค้านจับ เป็นผู้ใหญ่ต้องให้อภัยเด็ก แต่เด็กก็ต้องให้ความเคารพผู้ใหญ่ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต้องมีหลักของความเป็นธรรม เสื้อแดง เสื้อเหลืองทำผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษตามความหนักเบาของคดีและความมีเมตตาธรรม ทุกเสื้อทุกสีต้องให้อภัยกันด้วยความจริงใจ มันก็จะเดินไปสู่การอภัยโทษ นิรโทษกรรม หลักของความพอดีเราต้องมองโลกอย่างสร้างสรรค์ ผมมองโลกในแง่ดียังคิดว่าจะแก้ปัญหาได้ อย่างคนเสื้อแดงผมไม่อยากให้มีลักษณะที่เป็นไปตามธรรมชาติ มันน่าจะมีการรับฟังซึ่งกันและกัน ผมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์การปราบปราม ถึงพยายามอย่างยิ่งทำอย่างไรถึงมานั่งพูดคุยกันได้ ผมถึงบอกข้อเสนอแนะว่ารัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามา ความจริงการเจรจาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่การปฏิบัติต้องให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

**เป็นการวัดใจ พล.อ.ชวลิตของ พ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่เพราะมีข่าวว่า พล.อ.ชวลิตเข้ามาสลายพรรคเพื่อไทย

ไม่ใช่หรอกครับ ผมเองก็คุยกับท่านก็บอกเหตุผล 3 อย่างที่บอกไป ความจริงท่านบอกว่าตัวเองยังไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยซ้ำไป แต่เท่าที่ทราบท่าน พล.อ.ชวลิต และ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ค่อยได้โทรศัพท์พูดคุยกันหรอกครับ ผมเองยังอยากให้สองท่านมีโอกาสพูดคุยกันมาก ๆ

**ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยมองความขัดแย้งระหว่าง ร.ต.อ.เฉลิมกับคุณหญิงสุดารัตน์อย่างไร

เป็นเรื่องธรรมดา คนหมู่มากความเห็นแตกต่างกันก็เป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจาก 2 ท่านไม่ค่อยได้พบปะพูดจากันแต่ในอนาคตก็คงต้องมีการพบปะพูดจากันบ่อยครั้งขึ้น ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันจะได้น้อยลงและหายไป ผมก็ได้โทรศัพท์สอบถามพูดคุยกับทั้งคุณหญิงสุดารัตน์และ ร.ต.อ.เฉลิมแล้ว ท่านก็ยังรับฟังเหตุผล ดังนั้นต่อจากไปนี้ก็คงไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ผมก็เตรียมนัดท่านทั้งสองให้มาทานข้าวกันสักครั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมาก็ได้เรียน ร.ต.อ.เฉลิมไปแล้ว ท่านก็บอกว่าหลังจากนี้จะไม่พูดเรื่องนี้อีก ผมก็บอกว่าต้องขอความกรุณามีอะไรก็มาพูดคุยกัน ท่านก็บอกว่าจบแล้ว ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ท่านก็บอกว่าไม่ได้ถือสาอะไร ผมก็บอกคุณหญิงไปว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่บางทีคนไม่ได้พบกันและคุณหญิงก็อยู่บ้านเลขที่ 111 เลยไม่ค่อยได้เข้าพรรค แต่ถ้าเราได้มีโอกาพูดคุยความไม่เข้าใจก็น้อยลงผมมั่นใจว่าในอนาคตก็คงกลับมาร่วมงานกันได้โดยบุคลิกผมก็มักเป็นกาวใจอยู่เรื่อย เพราะผม เป็นคนประนีประนอมและอยากให้ทุกฝ่ายรักกัน

**ส่งผลกระทบต่อการอภิปราย การทำหน้าที่ฝ่ายค้านหรือไม่

ผมเป็นคนหนึ่งที่พยายามทำให้พรรคเดินไปด้วยระบบไม่ได้ขึ้นกับตัวบุคคล อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า ร.ต.อ.เฉลิม เหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราทำงานเป็นคณะกรรมการไม่ได้ขึ้นอยู่กับท่านใดท่านหนึ่ง ดังนั้นไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ปัญหาหนึ่งคือผู้ประสงค์ที่จะอภิปรายมีจำนวนมาก ผมก็ได้ทำหน้าที่ร่วมกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้านและ ร.ต.อ.เฉลิม เพื่อเลือกผู้อภิปรายโดยแบ่งให้เหมาะสมตามภาค ผมทำหน้าที่ประธานที่ประชุมสภา ฉะนั้นผมทราบดีว่าใครเป็นคนอภิปรายดีมีหลักเกณฑ์มีเหตุผล ไม่ก้าวร้าว ซึ่งได้เลือกไว้ประมาณ 17-18 คน

**ข้อให้แบ่ง กทม.ออกเป็น 3 ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพราะมีเสียงวิจารณ์เชื่อมโยงไปถึงการแบ่งกลุ่ม สร้างฐานอำนาจต่อรองในพรรค

ก็เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง ตามขั้นตอนกรรมการภาค กทม. ต้องพิจารณา หลังจากนั้นก็ส่งให้คณะผู้บริหารพรรคพิจารณาตามที่ภาค กทม.เสนอมา เท่าที่ผมฟังดูคณะกรรมการภาค กทม. ยังไม่ เห็นด้วยก็ต้องมีดีเบตกันว่าข้อดีข้อเสียเป็นอย่างไร ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ก็ให้เหตุผลว่า กทม.พื้นที่ใหญ่ก็น่าจะซอยให้เป็น 3 โซน ขณะที่ภาค กทม.ก็บอกว่าเป็นโซนเดียวเข้มแข็งเป็นเอกภาพดีอยู่แล้ว ก็ต้องมาคุยกันว่าข้อดีข้อเสียอยู่ตรงไหน แต่ไม่ใช่การแบ่งกลุ่มหรอกครับเพราะคุณหญิงสุดารัตน์ก็มีผู้สนับสนุนเยอะ ร.ต.อ.เฉลิมก็มีผู้สนับสนุนจำนวนมากเหมือนกัน เรื่องนี้คุยกันได้ด้วยเหตุและผลอยู่แล้ว อะไรที่ดีที่สุดและทำให้พรรคเติบโตได้ก็มาพูดคุยกัน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook