จากไทยสู่ญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นสู่ไทย (ตอนที่ 1) : คำชี้แจงนายกรัฐมนตรีไทยสู่ญี่ปุ่น

จากไทยสู่ญี่ปุ่นจากญี่ปุ่นสู่ไทย (ตอนที่ 1) : คำชี้แจงนายกรัฐมนตรีไทยสู่ญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหามาบตาพุด เป็นประเด็นที่ยิ่งปล่อยเนิ่นนานจะยิ่งสร้างความเสียหายในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นที่เคยให้ความสนใจเข้ามาลงทุนและกำลังพยายามทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการกดดันรัฐบาล การช่วยแบ่งปันข้อมูลและความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้รวดเร็วที่สุด ปัญหาที่สำคัญสำหรับกรณีมาบตาพุดนี้ได้แก่ ปัญหาความเชื่อมั่น ดังนั้นเมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงร่วมมือกับเจโทร และเจซีซี จัดสัมมนาเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้โดยเร็ว เป็นการเปิดเวทีให้มีการชี้แจง และแจ้งให้ทราบถึงปัญหา โดยใจความสำคัญสำหรับการสัมมนานี้ก็คือการที่รัฐบาลไทยมีโอกาสได้รับทราบปัญหาของนักลงทุนญี่ปุ่นโดยตรง และยืนยันถึงความสามารถในการแก้ปัญหาครั้งนี้อย่างชัดเจนด้วยตนเอง ปาฐกฐกา โดยนายกรัฐมนตรี : ตีความ-ปรับตัว-ยั่งยืน ในโอกาสที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร (The Japan External Trade Organization: JETRO) และสภาหอการค้าญี่ปุ่น หรือ เจซีซี (Japanese Chamber of Commerce: JCC) ได้จัดงานสัมมนา "ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ 20 และการดำเนินการป้องกันมลพิษของประเทศญี่ปุ่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ได้มีโอกาสแสดงปาฐกฐา ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการชี้แจงปัญหามาบตาพุดให้นักลงทุนและทางการของญี่ปุ่นได้รับทราบ ตีความ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาของมาบตาพุดที่เกิดขึ้น จนต้องระงับโครงการถึง 76 โครงการ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุสำคัญที่นายกรัฐมนตรีชี้แจงก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับการตีความทางกฎหมายตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เก่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเสียก่อน ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงได้เน้นว่าปัญหาของมาบตาพุดนี้ ไม่ใช่ปัญหาเชิงนโยบาย แต่เป็นปัญหาในการตีความกฎหมายดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยประเด็นสำคัญคือ ไม่มีการระบุอย่างชัดเจนตามข้อกฎหมายว่าใครจะเป็นผู้ชี้ว่าอุตสาหกรรมใดเข้าข่ายผิดหลักตามข้อกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลจึงได้พยายามเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการตีความ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลยังมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศอยู่ ปรับตัว การทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นไปตามกระแสของโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันมีความตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมการค้าการลงทุนไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งประเทศอื่น ๆ ได้มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าสิ่งแวดล้อมกับอุตสาหกรรมนั้นมีความต้องการที่สวนทางกันเสมอ การทำให้เกิดความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมก็คือต้องมีการ "ปรับตัว โดยในการนี้นายกรัฐมนตรีได้น้อมนำแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อมาเป็นแนวทางในการปรับตัว เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดความสมดุล และความเป็นธรรม ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้แสดงทัศนะว่าปัญหาของมาบตาพุดนั้นไม่ใช่ปัญหาใหม่สำหรับญี่ปุ่น เนื่องจากในช่วงที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรม แต่ญี่ปุ่นก็สามารถก้าวข้ามและแก้ไขปัญหานี้ได้ในที่สุด โดยความร่วมมือตั้งแต่ระดับชาติ ที่มีการร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองและป้องกันปัญหา ไปจนถึงภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมในการต่อรองกับภาคอุตสาหกรรม ในส่วนท้องถิ่นมีส่วนในการสอดส่องดูแลอุตสาหกรรม รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมเองที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบ โดยประเทศไทยสามารถนำกรณีศึกษาของญี่ปุ่นมาเป็นบทเรียนและศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับคืนมา ยั่งยืน เป็นจุดหมายปลายทางของการพัฒนาสองด้าน ซึ่งได้แก่การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยในการนี้นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกถึงแนวคิดที่เรียกว่า Eco Industrial Town หรือ เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ ที่มีหัวัญคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมควบคู่กันไป นายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนรัฐบาลได้ย้ำว่า รัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุน แต่ต้องการให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับหวังว่าประเทศไทยและนักลงทุนนานาชาติจะเดินไปข้างหน้าโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งก็คือการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการนี้นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุด ซึ่งสรุปได้ดังนี้ การดำเนินการประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ มีผลให้ทำให้ต้องระงับโครงการในมาบตาพุดถึง 76 โครงการ เมื่อมีผลกระทบต่อนักลงทุน รัฐบาลได้เร่งดำเนินการรับมือกับปัญหาโดยออกประกาศและระเบียบให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 67 วรรค 2 ศาลมีการทบทวนคำสั่งคุ้มครอง ส่งผลให้หลายโครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้ในกรณีของโครงการที่มีการดำเนินการอยู่ ส่วนในกรณีของโครงการใหม่ที่อยู่ในข่ายคำสั่งคุ้มครอง ประเมินแล้วว่าไม่น่ามีปัญหา มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการลงทุน (One Start One Stop Investment Center: OSOS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสี่ฝ่าย อันประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐบาล ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ตัวแทนจากภาคประชาชน และตัวแทนจากภาควิชาการ การแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่กระทบถึงนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งนักลงทุนส่วนมากจำเป็นจะต้องอาศัยการให้ข้อมูลโดยตรงจากทั้ง 2 ด้าน คือข้อมูลจากฝั่งรัฐบาลไทย ถึงนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมถึงความชัดเจนต่าง ๆ และอีกด้านเป็นข้อมูลจากฝั่งญี่ปุ่น เกี่ยวกับความต้องการที่แท้จริงในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทย รวมทั้งการบูรณาการข้อมูลของทั้งสองฝ่ายเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ดังนั้นสำนักข่าวแห่งชาติ จะนำเสนอแนวทางที่ทางญี่ปุ่นได้นำมาเป็นตัวอย่าง และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาให้กับไทยในครั้งต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook