เผยผลวิจัยนักธุรกิจไทยนิยมแต่งงานเพื่อสร้างเครือข่าย สยายปีกทางการธุรกิจ

เผยผลวิจัยนักธุรกิจไทยนิยมแต่งงานเพื่อสร้างเครือข่าย สยายปีกทางการธุรกิจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เผยผลวิจัยนักธุรกิจไทยนิยมแต่งงานเพื่อสร้างเครือข่าย สยายปีกทางการธุรกิจ มุ่งผลประโยชน์ นำสู่การผูกขาด ดัชนีชี้วัดทางการลงทุน เน้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สัมปทานภาครัฐ สื่อสารโทรคมนาคม แต่งงานด้วยเหตุผลมากกว่าความรัก รศ.ดร.ประมวล บุญกาญจน์วนิช อาจารย์ประจำโรงเรียนชั้นสูงด้านการบริหารธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ณ กรุงปารีส หรือ Ecole Superieur de Commerce de Paris (ESCP) เปิดเผยว่า จากงานวิจัยของตนที่ทำเรื่องการสร้างเครือข่ายของนักธุรกิจ โดยการแต่งงานของคนในตระกูลของนักธุรกิจไทย ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมานานแล้วในประเทศฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ที่ยึดถือการแต่งงานโดยใช้ทุนทางธุรกิจต่อด้วยทุนทางธุรกิจ ซึ่งเราจะเห็นรูปแบบการแต่งงานในคนกลุ่มนี้ได้แก่ นักธุรกิจกับนักธุรกิจ หรือ นักธุรกิจกับกลุ่มคนทางการเมือง หรือ ข้าราชการชั้นสูง กับนักธุรกิจ เราได้ศึกษาการสร้างเครือข่ายโดยใช้ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นตัวตั้ง ซึ่งงานวิจัย ได้ใช้กรณีศึกษาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย การแต่งงานของคนกลุ่มนักธุรกิจกับนักธุรกิจ หรือ นักธุรกิจ กับนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงกับนักการเมือง หรือนักธุรกิจนั้น ไม่ใช่เป็นการแต่งงานเพียงแค่การแต่งงานเหมือนเช่นคนธรรมดาทั่วไป ที่ใช้ความรักเป็นที่ตัวตั้ง หากแต่คนกลุ่มนี้แต่งงานเพื่อผลประโยชน์อย่างอื่นๆ หากแต่งานวิจัยเรื่องนี้ ยังไม่ได้สรุปว่า คนกลุ่มนี้เขาไม่มีความรักให้แก่กัน เพราะงานวิจัยไม่ได้ลงลึกไปถึงเรื่องรักหรือไม่รัก เป็นที่น่าสังเกตว่า ธุรกิจบางประเภทเท่านั้นที่มีความนิยมและเติบโตอย่างมาก ในลักษณะการแต่งงานด้วยวิธีการสร้างเครือข่าย ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจทั่วๆ ไป แต่เป็นธุรกิจที่มีความพิเศษ เช่น ธุรกิจการทำสัญญาสัมปทานกับภาครัฐ หรือ เป็นธุรกิจด้านการจัดสรรที่ดิน สื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจประเภทนี้ต้องอาศัยการเอื้อประโยชน์และสนับสนุนจากภาครัฐ ในกรณีนี้เราจะพบว่า ครอบครัวนักธุรกิจมีโอกาสอย่างมากที่จะไปแต่งงานกับครอบครัวข้าราชการระดับสูงหรือเป็นครอบครัวนักการเมือง นอกจากนี้ยังพบว่า ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ หรืออาจจะเป็นครอบครัวที่ทำหลายๆ ธุรกิจภายในครอบครัวก็จะมีการแต่งงานโดยการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ เพราะการแต่งงานคือการรวมทรัพยากรเข้าด้วยกัน งานวิจัยทำให้เห็นการเอื้อประโยชน์ ทำให้ทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้น มีการช่วยเหลือกันในการทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่ทำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากๆ เมื่อแต่งงานจะมีการเกื้อหนุน นำเงินมาร่วมทุนกัน เรียกว่าเงินต่อเงินเพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในยุคปัจจุบันการสร้างธุรกิจใหม่ๆซึ่งต้องลงทุนสูงๆ ทำได้ยากมากหากไม่มีการช่วยเหลือกันในลักษณะการสร้างเครือข่ายโดยผ่านการแต่งงาน

รศ.ดร.ประมวล กล่าวอีกว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังมีทฤษฏีที่บอกว่าในประเทศที่ระบบกฎหมายหรือระบบสถาบันที่เกี่ยวข้องกับระบบธุรกิจที่อ่อนแอ ไม่แข็งแรงจะมีจุดอ่อนในเรื่องความเชื่อมั่นกับคู่เจรจาทางธุรกิจเพราะฉะนั้นการสร้างความสัมพันธ์ผ่านครอบครัวโดยการแต่งงานจึงเป็นการแก้ปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นได้อีกทางหนึ่ง ลดปัญหาในเรื่องการทำธุรกิจและต้องมีกฎหมายเข้ามารองรับจึงจะเชื่อมั่นอีกฝ่ายหนึ่ง ในประเทศที่กฎหมายอาจจะยังไม่พร้อม ยกตัวอย่างตลาดเกิด การสร้างสถาบันที่ไม่ได้เป็นรูปของกฏหมายมันก็สามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ประเทศกำลังพัฒนาจะมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจโดยผ่านการแต่งงาน โดยสมาชิกในในครอบครัวนักธุรกิจมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถสร้างได้หลากหลายกว่า เช่นการส่งลูกเรียนโรงเรียนเดียวกัน หรือการไปเรียนโรงเรียนชั้นสูงในฝรั่งเศส จะมีการสร้างเพื่อนผ่านการทำความรู้จักกัน และเพื่อนคือส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในอนาคต สำหรับประเทศไทยนั้นเราเชื่อว่าการแต่งงานเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ให้ธุรกิจแน่นแฟ้นลึกซึ้งมากขึ้น จากเดิมความสัมพันธ์ของนักธุรกิจมีอยู่แล้ว แต่จะไม่แน่นแฟ้นเท่ากับการใช้พิธีกรรมแต่งงานเข้ามาหลอมรวม "ถึงวันนี้งานวิจัยชี้นนี้สามารถบอกได้ว่านักลงทุนมองว่าบริษัทที่ครอบครัวมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจโดยการแต่งงานจะเกิดประโยชน์สร้างประโยชน์ในอนาคต และยิ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทที่มีการซื้อขายในตลาด ราคาหุ้นจะสะท้อนผลประโยชน์ในอนาคตในการปรับราคาหุ้น ณ วันนี้ได้ งานวิจัยชิ้นนี้เราได้ใช้เทคนิคทางเศรษฐศาสตร์ ทางโมเเดลเข้าไปจับว่า ประโยชน์ที่จะได้รับในอนาคตที่เกิดจากการแต่งงานโดยใช้เครือข่ายความเป็นธุรกิจมีประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นอย่างมาก ถึงวันนี้เราอาจจะตั้งสมมติฐานได้ต่อไปว่าการสร้างเครือข่ายของนักธุรกิจโดยการแต่งงานของคนในตระกูลของนักธุรกิจไทย หากมีเพียงแค่บางตระกูล บางกลุ่มก้อนที่สร้างเครือข่ายอย่างเหนียวแน่น จะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะไปกีดกันผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดการแข่งขัน มันจะเกิดการผูกขาด ซึ่งเครือข่ายที่มีความเหนียวแน่นนี้จะสามารถรวมกันเพื่อไปบีบผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ได้เพื่อไม่ให้เข้าสู่ตลาดที่เขายึดครองไว้แล้วงานวิจัยชิ้นนี้คงต้องทำต่อไป โดยเฉพาะการเก็บตลาดหรือการจำกัดผู้แข่งขันทางการตลาดรายอื่นๆ ผ่านระบบเครือญาติในบางธุรกิจซึ่งในเมืองไทยบางธุรกิจ ถ้าเราโยงสายสัมพันธ์เครือญาติ พี่น้องจะพบว่าไม่มีนักธุรกิจกลุ่มอื่นหรือกลุ่มใหม่ๆสามารถเข้าสู่ตลาดการแข่งขันได้เลย ด้านดร.จิตตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่าในเทศกาลแห่งความรักหลายคนมีนิยามรักไม่เหมือนกัน ในกลุ่มนักธุรกิจที่ใช้การแต่งงานเพื่อสร้างเครือข่ายให้ธุรกิจตัวเองได้ผลประโยชน์นั้นก็มีนิยามรักที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งถ้ามีเหตุผลมากเกินไปบางครั้งก็ทำให้มองแต่ผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง ความรัก ความผูกพัน เอื้ออาทร ช่วยเหลือทางจิตใจเติมเต็มในส่วนที่อีกฝ่ายหนึ่งขาดจะหายไป เพราะความรักที่มุ่งแต่ผลประโยชน์หรือตัวเลขทางธุรกิจนั้นจะคิดแต่เติมเต็มผลประโยชน์เพื่อธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ และคิดแต่จะกอบดกย ทำให้ความรู้สึกแห่งรักแท้คนกลุ่มนี้จะไม่เคยได้สัมผัส ท้ายที่สุดก็จะโดดเดี่ยวอ้างว้าง แม้ว่าบางคนจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแต่ก็ยังรู้สึกห่างเหินกัน เพราะเขาขาดซึ่งอารมณ์และความรู้สึก บางครอบครัวดูเหมือนจะรักกันดี ออกงานสังคม ดูมีเกียรติแต่เมื่อกลับมาถึงบ้านต่างคนต่างอยู่ก็มีให้เห็นมากมาย บางคนไม่ยอมแยกทางแม้ว่าจะดูห่างเหินกันก็ตามเพราะเขายึดเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ คือต้องอยู่เพื่อผลประโยชน์เป็นหลัก คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีความสุขมากนัก จะเห็นบางคนมีข่าวคบหาคนอื่นๆ ขณะตัวเองก็ยังมีสามีหรือภรรยาอยู่แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook