นํ้าตาลทรายวิกฤติพ่อค้าได้ทีโขกยับ

นํ้าตาลทรายวิกฤติพ่อค้าได้ทีโขกยับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ขึ้นราคากก.ละ27

นายกฯ จี้ พาณิชย์ สั่งตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวจากชาวนา ดีเดย์วันศุกร์นี้ หวังแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ หลังชาวนาบุกร้อง โวยนโยบายประกันราคาเหลว ชง กขช.รับซื้อข้าวยุติม็อบ ขณะน้ำตาลทราย ยันวิกฤตหนัก หาซื้อยากขึ้น แถมราคาขายปลีกพุ่ง กก.ละ 26-27 บาท ซาปั๊ว ยันของหมดสต็อก ร้านค้าอาหาร ขนม โวยลั่นหาซื้อไม่ได้ กลัวขาดแคลนจนต้องหยุดขาย สอน. เตรียมหารือแนวทางแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีตัวแทนชาวนาจาก จ.พิษณุโลก และสุโขทัย ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดให้รัฐบาลช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ภายหลังการประชุม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ และวิปรัฐบาลแถลงข่าวพร้อมตัวแทนชาวนาว่า หลังจากที่ตัวแทนได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีแล้ววิปรัฐบาลได้เชิญตัวแทนชาวนาทั้งหมดมาหารือเพื่อรับฟังปัญหาอีกครั้ง โดยจากการหารือกับนายกฯ รัฐบาลยืนยันจะตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกโดย ได้ประสานกับ รมว.พาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะสามารถตั้งโต๊ะรับซื้อในอำเภอละหนึ่งจุดได้อย่างช้าภายในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ.

นพ.วรงค์ กล่าวว่า ตัวแทนชาวนายังได้สอบถามนายกฯ ว่าจะมีมาตรการเยียวยาราคาข้าวที่มีราคาตกต่ำเหลือตันละ 6,500 บาท จากที่รัฐบาลได้ประกาศราคาอ้างอิงที่ 9,886 บาทอย่างไร โดยได้คำตอบว่ารัฐบาลได้ประสานให้กระทรวงเกษตรฯ เก็บราย ละเอียดความเสียหายของเกษตรกรแต่ละรายและให้รวบรวมเสนอรัฐบาลเพื่อหาทางเยียวยาต่อไป เมื่อถามว่านายกฯจะทบทวน นโยบายการประกันราคาข้าวหรือไม่ นพ.วรงค์ กล่าวยืนยันว่า นโยบายประกันราคาข้าวเป็นนโยบายที่ดีที่สามารถเยียวยาเกษตรกรได้โดยตรง เพียงแต่ขณะที่กำลังดำเนินโครงการอยู่ก็มีข่าวลือเพื่อมาทุบราคาข้าว เชื่อว่าหากตั้งโต๊ะรับซื้อจากชาวนาแล้วราคาข้าวจะกลับมาสูงขึ้น

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำในตลาด โดยในวันที่ 25 ก.พ.นี้ จะเสนอให้ กขช. อนุมปิดจุดรับซื้อข้าวจากเกษตรกรตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยเกณฑ์ราคารับซื้อจะยึดจากราคาอ้างอิงข้าวลดหลั่นลงมาตามชนิดข้าวแต่ละชนิด หาก กขช.อนุมัติ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดจุดรับซื้อข้าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.นี้ทัน ที ซึ่งจะแก้ปัญหาเกษตรกรถูกกดราคาข้าวจากโรงสี และช่วยยุติการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรวันที่ 26 ก.พ. นี้ ส่วนเรื่องม็อบชาวนา ได้เร่งแก้ไขแล้ว จะเสนอให้มีการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวตามราคาอ้างอิง เพราะตอนนี้มีการกดราคาข้าวกันอย่างหนัก ถือว่าไม่ถูกต้อง ส่วนการประมูลข้าว 5 แสนตันนั้น ต้องรอดูผลการรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศก่อน ซึ่งหากมีการกดราคาซื้อข้าวในสต๊อก รัฐก็พร้อมยกเลิกการประมูล ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายปลีก ยังประสบปัญหาขาดแคลนหนักขึ้น โดยขณะนี้ราคาน้ำตาลทรายปลีกขาวบริสุทธิ์ตามร้านค้าปลีกรายย่อย ชนิดถุง 1 กก. ปรับราคาขึ้นไปเป็น กก.ละ 26-27 บาทแล้ว เพิ่มจากเดิมกก.ละ 25 บาท และเป็นการจำหน่ายสูงกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดที่ 23.50 บาท ถึง กก.ละ 2.50-3.50 บาท โดยร้านค้าปลีกให้เหตุผลว่าเวลานี้น้ำตาลทรายหาซื้อยากมาก ตามร้านค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หลายแห่งไม่มีสินค้าเหลือ และร้านค้าส่งบางแห่งที่เหลือก็มีราคาเพิ่มสูงมาก เมื่อสำรวจตามร้านค้าส่งซาปั๊ว ย่านฝั่งธนฯ ได้รับการยืนยันว่า ไม่มีน้ำตาลจำหน่าย และหยุดขายมาหลายวันแล้ว เพราะไม่ได้รับของจากโรงงานโดยโรงงานอ้างว่าน้ำตาลทรายหมดสต๊อก อีกทั้งหากซื้อตามร้านค้าส่งยี่ปั๊วบางแห่ง ที่มีสินค้าเหลือก็ราคาแพงมาก ตอนนี้ราคาส่งเพื่อมาขายต่อร้านค้าปลีกเกินกว่า กก.ละ 24 บาทแล้ว ส่งผลให้ราคาขายปลีกถึงผู้บริโภคแพงขึ้นตาม สำหรับการสอบถามประชาชน และผู้บริโภคพบว่ากังวลกับน้ำตาลมากขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าที่นำน้ำตาลทรายไปผลิตอาหาร และขนม กลัวว่าหากน้ำตาลขาดแคลนจริง อาจทำให้ต้องหยุดกิจการและขาดรายได้ จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาโดยด่วน โดยเฉพาะตามร้านค้าส่งว่ามีการกักตุนหรือไม่ เพราะขณะนี้แทบไม่เหลือสินค้าจำหน่าย แม้ภาครัฐจะยืนยันว่าขณะนี้โรงงานผลิตน้ำตาล และน้ำตาลทรายมีปริมาณเพียงพอก็ตาม

ส่วนที่ กระทรวงอุตสาหกรรม นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า วันที่ 25 ก.พ.จะเชิญผู้ประกอบการที่ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อส่งออก 106 รายที่แจ้งขอใช้สิทธิโควตา ค. (ส่งออก) มาหารือแนวทางแก้ปัญหาสถานการณ์ตึงตัวของน้ำตาลทรายในประเทศ เนื่องจาก สอน. ประเมินว่าผู้ประกอบการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้น้ำตาลในประเทศตึงตัว ทั้งนี้ภาครัฐต้องขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการที่ขอใช้สิทธิโควตา ค. รวม 3.6 แสนตันหันมาใช้โควตาให้เต็มจำนวน เพราะที่ผ่านมามีการทำสัญญาแล้วเพียง 2.4 แสนตัน ขณะที่ 24 รายยังไม่ได้ทำสัญญาคิดเป็นปริมาณน้ำตาล 1.2 แสนกว่าตัน ซึ่งหากมีการใช้น้ำตาลตามที่ตกลงไว้ก็จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนหมดไปทันที

ขณะเดียวกัน เตรียมออกประกาศโดยคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กนอ.) ให้ตัดสิทธิบริษัทผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกที่รับสิทธิการใช้น้ำตาลทรายโควตา ค.แต่กลับไม่ใช้สิทธิทั้งปีถึง 70% โดยไม่มีเหตุผลเป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่กำหนดตัดสิทธิเพียง 1 ปี เพราะเชื่อว่าหากถูกตัดสิทธิใช้โควตา ค. เป็นเวลา 5 ปีผู้ผลิตอาหารจะไม่คุ้ม เนื่องจากในอนาคตราคาตลาดโลกคงจะถูกกว่าราคาในประเทศแน่นอน ปัจจุบันมีการขึ้นงวดน้ำตาลสัปดาห์ละ 40,300 ตัน และทั้ง ปีได้สำรองในโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) 2.1 ล้านต้น แต่หากมีปัญหาขาดแคลนจริง ๆ ภาครัฐก็พร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการขึ้นงวดเพิ่มเติมอีก แต่ตอนนี้ยังไม่ขาดแคลน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook