ชาวนาเดือดลุกฮือปิดถนน

ชาวนาเดือดลุกฮือปิดถนน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ม็อบชาวนาปากน้ำโพเดือดฮือปิดถนน เรียกร้องรัฐแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาตอย่างหนัก เดือดร้อนผู้ว่าฯรุดเจรจาจนยอมสลายตัว ส่วนชาวนา 6 อำเภอกำแพงเพชร รวมตัวชุมนุมหน้าศูนย์ราชการ ขู่จะปิดถนนถ้าไม่ได้รับการช่วย เหลือเรื่องราคาข้าว ขณะที่ตัวแทนชาวนา 4 จังหวัดภาคกลางบุกทำเนียบฯ ร้องรัฐแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ฉุนนั่งรอครึ่งวันไม่มีใครสนใจ เดินลุยขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าจะยื่นนายกฯโดยตรง ครม.ขยายเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 51 สิ้นสุด 31 มี.ค. 53 มาร์ค สั่งโยน 3 มาตรการช่วยชาวนาภาคกลางให้ กขช พิจารณา แก้ปัญหาข้าวตกต่ำ หลังพาณิชย์ชง ครม. แต่ไม่ผ่าน

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีเกษตรกรชาวนาใน อ.เก้าเลี้ยว และ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ จำนวนกว่า 1,000 คน นำรถอีแต๋นและรถบรรทุกกว่า 100 คัน มารวมตัวกันที่โรงสีร้าง ริมถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก อ.เก้าเลี้ยว พร้อมปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประกันราคาข้าวของรัฐบาล

ต่อมานายชาญเดช คงเอี่ยมตระกูล รอง ผวจ.นครสวรรค์ นายสุเทพ วงษ์พาณิช นายอำเภอเก้าเลี้ยว และการค้าภายในจังหวัดนครสวรรค์ ได้เดินทางไปเจรจากับแกนนำ เป็นเวลานานกว่า 40 นาที ปรากฏว่าไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะชาวนาต้องการ ยกเลิกการประกันราคาข้าว แล้วให้รัฐบาลหันมาใช้โครงการรับจำนำเหมือนเดิมแทน จึงยกขบวนเคลื่อนมาปิดล้อมหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อทวงคำตอบจากนายกวี กิตติสถาพร ผวจ. นครสวรรค์

ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น. หลังจากที่มีการเจรจากันแล้วไม่มีผลคืบหน้าเป็นที่พอใจ กลุ่มชาวนาทั้งหมดจึงรวมตัวกันเดินทางมาปิดการจราจรบริเวณสี่แยกเดชาติวงศ์ทั้งสองช่องทาง พร้อมเปิดเครื่องขยายเสียงปราศรัยโจมตีการทำงานของภาครัฐ ที่ไม่มีการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งยังเรียกร้องให้ ผวจ.นครสวรรค์ ออกมารับข้อเรียกร้องของชาวนาไปนำเสนอ

สำหรับข้อเรียกร้องของชาวนามีด้วยกัน 5 ข้อคือ ให้รัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกที่ความชื้น 25% ในราคาตันละ 10,000 บาท ให้รัฐบาลขยายการรับซื้อข้าวเปลือกจากครัวเรือนละ 25 ตัน เป็น 50 ตัน ให้การรับซื้อมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 ก.พ. 53 ให้รีบตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวให้ทั่วถึงโดยด่วน และให้รีบช่วยเหลือดูแลแก้ไขปัญหาเพลี้ยกระโดด ที่กำลังระบาดอย่างมาก

จนในที่สุด เวลา 16.30 น. นายกวี กิตติสถาพร ผวจ.นครสวรรค์ ได้เดินทางมาถึงพื้นที่ชุมนุม เข้าไปเจรจากับชาวนาทันที โดยรับปากว่าในวันพรุ่งนี้ (3 มี.ค.) จะเปิดจุดรับซื้อข้าวของชาวนา 5 จุดด้วยกัน คือ พื้นที่ อ.ชุมแสง ชาวนาสามารถนำข้าวไปขาย ได้ที่ สหกรณ์การเกษตรชุมแสง จำกัด สหกรณ์การเกษตร ต.ฆะมัง และท่าข้าวเกยชัย ต.เกยชัย ส่วนพื้นที่ อ.เก้าเลี้ยว นำข้าวไป ขายได้ที่โรงสีโสภณพาณิชย์ ต.หนองเต่า และสหกรณ์การเกษตรเก้า จำกัด สำหรับกรณีที่เรียกร้องขอให้เพิ่มราคาข้าว 25 เปอร์ เซ็นต์ เป็น 1 หมื่นบาทนั้น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากต้องแก้ไขในระดับนโยบายก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม จากผลการประชุมระหว่างตัวแทนชาวนากับหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง และผู้ประกอบการโรงสี ได้ผลสรุปว่า ในเบื้องต้นข้าวความชื้น 25% จะอยู่ที่ราคา 9,074 บาทต่อตัน หากความชื้นเกิน 25% ให้หักไปเปอร์เซ็นต์ละ 70 บาท สำหรับเงินชดเชยของทางรัฐบาลชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ จะได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ 926 บาทต่อตัน ส่วนข้อเรียกร้องอื่น ๆ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะรีบดำเนินการ ส่งเรื่องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งในเบื้องต้นกลุ่มผู้ชุมนุมพอใจจึงพากันสลายตัวชั่วคราว โดยบอกว่าหากภายใน 6 วันยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จะกลับมารวมตัวชุมนุมกันยังจุดเดิมอีกครั้ง

ส่วนที่ จ.กำแพงเพชร เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน นายทองใบ อินทร์จันทร์ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 110 หมู่ 4 ต.หนองคล้า อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร แกนนำเกษตรกรชาวนาของ อ.ไทรงาม พร้อมกับแกนนำ อ.เมืองกำแพงเพชร อ.พรานกระต่าย อ.คลองลาน อ.บึงสามัคคี และ อ.ขาณุวรลักษ บุรี จำนวนกว่า 150 คน ได้เดินทางมาโดยรถยนต์มารวมตัวชุมนุมกันบริเวณหน้าประตูทางเข้าศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร ปราศรัย ผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกที่ตกต่ำ

พร้อมกันนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นจดหมายเรียกร้องการประกันราคาข้าว ผ่านทาง ผวจ. กำแพงเพชร ไปถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลช่วยประกันราคากลางของข้าว จากราคา 9,700 บาทต่อตัน ในความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นราคา 12,000 บาท ซึ่งในเวลาต่อมา นายธงชัย ธรรมสุคติ รอง ผวจ.กำแพงเพชร ได้ออกมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มชาวนา เพื่อเสนอ ต่อนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มผู้ชุมนุมระบุด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ได้รับข้อตกลงตามเงื่อนไขจะนัดชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 10 มี.ค.นี้ บริเวณ สามแยกสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.กำแพงเพชรเพื่อปิดถนนพหลโยธิน เส้นกำแพงเพชร-นครสวรรค์

ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.30 น. นายขวัญชัย มหาชื่นใจ และนายวิชา ดาวแจ่ม พร้อมด้วยตัวแทนชาวนาภาคกลาง จาก จ.นครปฐม สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ให้นั่งรออยู่ภายในศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่มาเจรจาหรือพูดคุยด้วย จนกระทั่งเวลา 13.30 น. กลุ่มชาวนาแสดงความไม่พอใจ เดินออกจากศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มุ่งตรงไปยังตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมกับตะโกนต่อว่ารัฐบาลตลอดทางว่าไม่สนใจแก้ไขปัญหาของชาวนา จึงต้องการยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีโดยตรงเท่านั้น กระทั่งนายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม ที่ปรึกษา นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะทำงานได้เข้ามา ทำให้ความวุ่นวายยุติลงโดยที่ไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ขอให้ขยายเวลาโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 51จากเดิมสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 52 มาสิ้นสุด 31 มี.ค. 53 และขออนุมัติขยายการเก็บเงินและการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ที่คงเหลือจำนวน 197.59 ล้านบาท ไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 53 และขออนุมัติการจัดสรรงบกลางปี 53 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มเติมอีก 2,963.44 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. 2,534.48 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารให้แก่ อคส. 316.34 ล้านบาท และให้แก่ อ.ต.ก. 112.62 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เงินค่าชดเชยดอกเบี้ยจากเดิมคิดในอัตรา 6.5% ต่อปี ทางสำนักงบประมาณให้คิด 1.98% ต่อปี ทำให้เงินที่ขอมาเหลือเพียง 673 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง รวม 5 ครั้ง ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่วางเป้าหมายรับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 4.5 ล้านตัน และข้าวเปลือกเหนียว 3.2 แสนตัน แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการที่มีการขยายเวลามาแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 52 แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ยังไม่สามารถระบายข้าว และชำระหนี้เงินกู้คืนธ.ก.ส.ได้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาโครงการฯ ยังเหลือข้าวสารที่ยังไม่ได้ระบายอีก 1.55 ล้านตัน ทำให้ทั้ง ธ.ก.ส. อ.ค.ส. และ อ.ต.ก. มีภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าบริหารโครงการและค่าชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. และค่าใช้จ่ายเก็บรักษาข้าวสารของ อ.ค.ส.และ อ.ต.ก.

นายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำข้อเสนอแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำของกลุ่มชาวนา 5 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ชัยนาท ปทุมธานี และนครปฐม เสนอให้ ครม.พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา 3 ข้อ ได้แก่ ให้รัฐบาลเพิ่มราคาประกันเป็นตันละ 12,000 บาท เพิ่มปริมาณประกันข้าวเปลือกจากครัวเรือนละ 25 ตัน เป็น 40 ตัน และให้มีผลย้อนหลังกับเกษตรกร ที่ขายข้าวไปแล้วตั้งแต่ ก.พ.53 แต่นายอภิสิทธิ์ได้สั่งให้นำเรื่องกลับไปพิจารณา คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติแทน ทำให้ขณะนี้ต้องรอการนัดประชุม เพื่อเสนอให้ กขช.พิจารณาอีกครั้ง

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากราคาข้าวตกต่ำ โดยเปิดจุดรับซื้อข้าวใน 8 พื้นที่ที่มีปัญหาแล้ว คือ สุพรรณบุรี 2 แห่ง ชัยนาท 2 แห่ง พระนครศรีอยุธยา 2 แห่ง สุโขทัย 2 แห่ง พิษณุโลก 3 แห่ง นคร สวรรค์ 1 แห่ง นนทบุรี 1 แห่ง นครปฐม 2 แห่ง และได้เปิดตลาดนัดซื้อข้าวเปลือกให้กับเกษตรกร โดยวันที่ 26-27 ก.พ.ที่ จ.พิษณุโลก 28 ก.พ.-1 มี.ค. ที่นครสวรรค์ และ 3-4 มี.ค. ที่สุพรรณบุรี

ส่วนกำหนดราคาอ้างอิงข้าวที่จะใช้ชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร สำหรับวันที่ 1-15 มี.ค. 53 โดยข้าวเปลือกเจ้า 5% ราคาอ้างอิงตันละ 9,074 บาท ชดเชย 926 บาท จากราคาประกัน 10,000 บาท ข้าวปทุมธานี ราคาอ้างอิงตันละ 11,313 บาท ไม่ต้องชดเชยเพราะสูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ 11,000 บาท และข้าวเหนียว ราคาอ้างอิงตันละ 10,665 บาท ไม่ต้องชดเชยเพราะสูงกว่าราคาประกันที่กำหนดไว้ 9,500 บาท.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook