หวังดึงพม่าแจงยึดทรัพย์ทักษิณ

หวังดึงพม่าแจงยึดทรัพย์ทักษิณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หากขึ้นเวทีโลก เลขาฯศาลเตือนล่าชื่อหมิ่นเหม่

นพดล ปูดดันยึดทรัพย์ขึ้นเวทีโลก หวังดึง พม่า เข้าชี้แจง เจตนาบริสุทธิ์ใช้เงินกู้จากไทย 4,000 ล้านบาทลงุทน เนวิน ห่วงเงินทักษิณไม่พอให้ยึดเข้ารัฐ ในบัญชีมี 4.3 หมื่นล้าน ขาดไป 3 พันล้าน สับ ตู่ องค์ลง ของขึ้น อ้างสายตรงนายใหญ่หลงตัวเอง หลังออกมาเดินหน้าล่าชื่อถอดถอนศาลฯ ด้านเลขาฯศาลเตือนให้รอบคอบ พร้อมเตรียมใช้สิทธิฟ้องกลับ นายกฯกำชับล่าสมบัติ แม้ว สั่งขยายผลเร่งไล่บี้ทุกคดี คลังประชุมแบ่งงานตามเงิน ป.ป.ช. เกาะติดเอาผิดคดีอาญา ส่วนอสส.เดินหน้าฟ้องคดีเพิ่มเติม สัก เผยคตส.หมดหน้าที่ ไม่มีสินบนเป็นรางวัล

* นายกฯสั่งขยายผลคดี

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ถึงการสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการต่อเนื่องหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาคดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯว่า ตนได้ปรารภเรื่องนี้ต่อที่ประชุมครม.ว่าสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลฯ จะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของหน่วยงานต่าง ๆ และมีข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ดังนั้น ทุกหน่วยงานจึงต้องไปศึกษาคำพิพากษานั้นเพื่อที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตนได้ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นการรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน และคนที่มาดำรงตำแหน่งตรงนี้มีหน้าที่ปกป้องประโยชน์ตรงนี้ จึงไม่สามารถไปละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่าในที่ประชุมได้มีมติขอให้ทางอัยการสรุปประเด็นต่าง ๆ มาอีกทางหนึ่งด้วย และหน่วยงานต่าง ๆ จะรับไปปฏิบัติ โดยต้องมีการดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญาไปตามข้อเท็จจริงที่ได้เป็นที่ยุติตามคำวินิจฉัยและข้อกฎหมาย นอกจากนี้ ตนได้พูดอีกว่าถ้าอ่านคำพิพากษาของศาลฯแล้ว จะเห็นได้ว่าพวกเราที่เป็น ครม.มีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร จึงต้องตระหนักว่าถ้าเกิดปัญหาความเสียหายใด ๆ หรือการกระทำที่ไม่ถูกต้องใด ๆ เรามีหน้าที่ที่จะต้องดูแล โดยเฉพาะตัวของตนที่ชัดเจนว่าในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดูแลเกือบทุกส่วน

* กำชับแต่ละหน่วยให้ไล่บี้

นายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีส่วนต่างรายได้ของระบบโพสต์เพด พรีเพดนั้น มีคณะกรรมการของกระทรวงเทคโนโลยีสารสน เทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ โดยยังเหลือเวลาอีก 1 เดือนที่จะราย งานกลับไป สำหรับการแก้สัญญาที่มีปัญหาว่าอาจมีการเอื้อประโยชน์นั้น ต้องไปดูสถานะของสัญญาต่าง ๆ เพราะกรณีการลดส่วนแบ่งรายได้เคยมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วโดยคณะกรรมการของไอซีที

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิ การนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุม ครม.ว่า ที่ ประชุมครม.ได้มีมติ 2 กรณีคือ 1.มอบหมาย ให้แต่ละหน่วยงานไปพิจารณาว่ากรณีนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างไรเพื่อนำเสนอรายงานต่อ ครม.ต่อไป 2.จะมีการร้องขอให้ทางอัยการให้ ความเห็นต่อการดำเนินการในเชิงกฎหมายต่อไปเพื่อจะได้ประสานให้มีการดำเนินการ เนื่องจากมีหลายกรณีที่มีความซับซ้อน การดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลนั้นถือเป็นหน้าที่และการทำตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นใครเมื่อมีคำพิพากษาออกมาก็ต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

* คลังแบ่งงานทวงค่าชดใช้

นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา นายกรณ์ จาติกวณิช รมว. คลังได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแบ่งงานในการติดตามความคืบหน้ากรณียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปพิจารณาคำพิพากษาของศาล เพื่อดำเนินการความรับผิดทางละเมิด ซึ่งจะ พิจารณาว่าหน่วยงานรัฐใดได้รับความเสียหาย หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดจงใจก่อให้เกิดความเสียหายหรือประมาทเลินเล่อ โดยหัวหน้าหน่วยงานต้องตรวจสอบเบื้องต้นและเสนอเรื่องมายังกรมบัญชีกลาง

นายสถิตย์ กล่าวว่า ส่วนที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ (รสก.) นั้น ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไปศึกษาดูว่า ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ในกรณีที่เกิดความเสียหายกับ รสก. ส่วนประเด็นภาษีได้มอบหมายให้กรมสรรพากรเป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียด ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น กระทบต่อรัฐวิสาหกิจใดบ้าง คงต้องเข้าไปดูในรายละเอียดตามคำพิพากษาว่า มีใครที่ต้องรับผิดทางละเมิดบ้าง หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อ รสก. เป็นจำนวนเท่าใด ใครที่ต้องชดใช้ความเสียหายเหล่านั้น

* ถ้าเป็นหุ้นต้องรอจังหวะขาย

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า วันที่ 3 มี.ค.นี้ กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้จะไปหารือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อหารือในรายละเอียดการดำเนินการความรับผิดทางละเมิด ตามคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ ซึ่งตามกระบวนการ แต่ละหน่วยงานจะต้องเสนอรายละเอียด เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกรมบัญชีกลางภายใน 60 วัน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวว่า ส่วนการรับโอนเงินที่ถูกอายัด 46,000 ล้านบาท เข้าสมทบเงินคงคลังนั้น ต้องรอหลัง 30 วัน เพื่อรอกระบวนการยื่นอุทธรณ์ก่อน หากพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลา สามารถโอนเงินทั้งหมดในบัญชีต่าง ๆ จากแต่ละธนาคารเข้ามาสมทบเป็นเงินคงคลังได้เลย ซึ่งเงินที่ถูกอายัดนั้น ส่วนใหญ่เป็นเงินสดที่สามารถดำเนินการได้ทันที มีเพียงบางส่วนที่เป็นหุ้นและหน่วยลงทุน หากภาวะตลาดไม่เอื้อให้ขายได้ราคาที่เหมาะสม ก็สามารถถือหน่วยลงทุนหรือหุ้นนั้นต่อไปได้ แล้วค่อยขายในภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยภายหลังได้

* ป.ป.ช.เกาะติดเอาผิดอาญา

นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยก่อนเข้าประชุมว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. แม้จะไม่มีระเบียบวาระเกี่ยวกับการพิจารณาเพื่อดำเนินการหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท. ทักษิณ แต่คาดว่าจะมีกรรมการ ป.ป.ช.หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือในที่ประชุม โดยเฉพาะนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ที่ได้ติดตามเรื่องกรณีการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน หรือพรีเพด และการแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมไอพี สตาร์ มาตลอด

นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่วันนี้ จะมีการนำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดในการใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์มาขยายผลเพื่อตรวจสอบว่า มีรัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องร่วมหรือได้ประโยชน์เช่นเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่ศาลฎีกาฯชี้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณจงใจปกปิดการถือหุ้น โดยจะนำพยานหลักฐานที่เป็นข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาฯทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา

* อสส.เดินหน้าฟ้องคดีเพิ่ม

ที่สำนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ตามที่นายอภิสิทธิ์ ได้ประสานขอให้นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาสำนวนในคดีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้คณะทำงานยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาจากศาล โดยเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ นอกจากนี้ยังมีการหารือในส่วนของคดีอาญาจำนวน 5 เรื่อง ซึ่งอัยการและคตส.ยื่นฟ้องไปแล้วจำนวน 2 คดี คือ คดีแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีอนุมัติปล่อยสินเชื่อให้แก่รัฐบาลพม่าจำนวน 4,000 ล้านบาท ทั้ง 2 คดี ศาลฎีกาฯมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากยังไม่ได้ตัว พ.ต.ท.ทักษิณมาดำเนินคดี

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ส่วนที่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องอีก 3 คดีนั้น ได้แก่ การแก้สัญญาให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบเครือข่ายโรมมิ่ง,แก้ไขลดส่วนแบ่งระบบบัตรโทรศัพท์เติมเงินล่วงหน้า และแก้ไขสัญญาส่งดาวเทียม ไอพี สตาร์ ซึ่งคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาไต่สวนของ ป.ป.ช. ส่วนจะมีการดำเนินคดีอาญาบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องนอกเหนือ พ.ต.ท. ทักษิณด้วยหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของป.ป.ช. ที่จะเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน และคำกล่าวหาสรุปสำนวนพร้อมความเห็นส่งมาให้อัยการเป็นผู้พิจารณา

* คตส.นัดประเมินผลงาน

ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เวลา 16.00 น. อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้นัดหารือประจำเดือน โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธาน คตส. รวมทั้งอดีตกรรมการ คตส. อาทิ นายอุดม เฟื่องฟุ้ง นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เข้าร่วม

โดยนายนาม กล่าวว่า รู้สึกพอใจผลคำตัดสินคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ส่วนตัวเห็นว่า น่าจะยึดทั้งหมด กว่า 7.6 หมื่นล้านบาท ตามทฤษฎีวัวกินหญ้า ของนายแก้วสรร อติโพธิ อดีต กรรมการ คตส. ทั้งนี้ย้ำว่าคตส. ไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการยึดทรัพย์ครั้งนี้ ไม่มีกรรมการคนไหนได้แม้แต่แดงเดียว และไม่มีผู้แจ้งเบาะแสอะไร คตส.ได้ทำงานหาหลักฐานกันเอง จึงไม่มีใครมีสิทธิได้รับ

* คตส.ย้ำหมดอำนาจหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง นายสัก กอแสงเรือง อดีตกรรมการ คตส. ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่า คตส.ได้หมดอำนาจหน้าที่แล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะแถลงอะไรอีก เรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับคดีก็ขอให้ไปศึกษาคำวินิจฉัยของศาล ถ้าจะทำหน้าที่ก็คือกรณีคดีเดิม ที่ศาลเรียกให้ไปเบิกความ ส่วนที่พรรคการเมืองใหม่ เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมาย ป.ป.ช. ให้การยึดทรัพย์รัดกุมขึ้นนั้น เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หรือฝ่ายนิติบัญญัติ คตส.คงไม่มีหน้าที่อะไรตรงนี้

ส่วนนายนาม กล่าวว่า ถ้าทีมทนายของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะอุทธรณ์ ต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่การอุทธรณ์ในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องมีข้อเท็จจริงใหม่เท่านั้น ไม่ใช่ข้อกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องรอฟังทีมทนาย พ.ต.ท.ทักษิณอีกครั้ง ว่าจะอุทธรณ์ในประเด็นใด ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณจะฟ้องศาลโลก ไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะคดีนี้เป็นการทำผิดในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

* กฎหมายภิวัฒน์ยื่นถอดศาล

ที่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินคดีกับองค์คณะผู้พิพากษา คดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้ง 9 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยได้ยกเหตุเปรียบเทียบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 14/2546 และคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ 32/2548 ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแปลงสัญญาว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในช่วงดังกล่าวสามารถทำได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นมาตรา 216 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด

นายพิชา กล่าวว่า ดังนั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่สามารถนำข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อันเป็นที่สุด เด็ดขาด มาวินิจฉัยซ้ำ เพราะการเอาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาซ้ำ เป็นการก้าวล่วงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมูญ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเช่นกัน และยังผิดในข้อหาเป็นผู้มีตำแหน่งในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา 157 200 และ 203 แห่งประมวลกฎหมายอาญาด้วย

* จตุพรลุยล่า2หมื่นชื่อเข้ายื่น

ที่พรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนและแกนนำกลุ่ม นปช. กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีกระบวนการจากภาคประชาชนหลายส่วนเข้าแสดงตนต่อประธานวุฒิสภา เพื่อดำเนินการเข้าชื่อยื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ สำหรับรายชื่อที่จะยื่นต่อประธานวุฒิสภา จะยื่นเพียง 2 หมื่นคนเท่านั้น

ส่วนรายชื่อประชาชนที่คาดว่าจะมีเป็นแสนเป็นล้านนั้นจะเพิ่มเติมไปภายหลัง เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีคนไทยจำนวนเท่าไหร่ที่ไม่พอใจการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษา ส่วน ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษาอีกช่องทางหนึ่งหรือไม่นั้น ยังไม่ได้มีการหารือ แต่ตนจะร่วมลงชื่อกับภาคประชาชนด้วย

นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า กรณีที่จะมีประชาชนเข้าชื่อยื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ เป็นเรื่องของภาคประชาชน ริเริ่มดำเนินการกันเอง พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่ใช่คนเข้าไปสั่งการ ส่วนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณประกาศจะต่อสู้บนเวทีโลกโดยจะขอให้พม่าเป็นพยานเรื่องข้อกล่าวหาปล่อยเงินกู้การเอื้อประโยชน์ทับซ้อน ต้องยอมรับว่าเรายังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอนว่าจะดำเนินการในลักษณะไหน แต่ประเทศพม่าก็ถือว่าเกี่ยวข้อง และอยู่ในข่ายที่เราจะเชิญเพื่อนำมา แสดงความบริสุทธิ์ได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง แต่เป็นความสมัคร ใจและอธิปไตยของประเทศพม่า

* เนวินสับตู่องค์ลง

ที่พรรคภูมิใจไทย ถนนพหลโยธิน นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านของพ.ต.ท.ทักษิณว่า ตอนที่ศาลมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์บางส่วนกลุ่มเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยคิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีเงินเหลืออยู่ในเมืองไทยอีก 3 หมื่นล้านบาท ทั้งที่จริง ๆ แล้วเงินที่จะต้องเก็บเข้าคลังตามที่ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ ยังขาดอีก 3,000 ล้านบาท เพราะเงินในบัญชีที่ถูก คตส.อายัดไว้มีแค่ 43,000ล้านบาท แต่ตนไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีเงินเหลืออีกเท่าใด เพราะตนไม่ได้ชื่อทักษิณแต่ชื่อเนวิน

เมื่อถามถึง กรณีที่นายจตุพร พรหม พันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ได้กล่าวโจมตี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย และผู้ใหญ่แกนนำพรรคนั้น นายเนวิน กล่าวว่า เคยดูภาพยนตร์เรื่องคนทรงเจ้าหรือไม่ เวลานี้นายจตุพรกำลังองค์ลงของกำลังขึ้น คิดว่าตัวเองเพียงคนเดียวที่เป็นสายตรง พ.ต.ท.ทักษิณ คิดว่าพูดหรือทำอะไรแล้วคนอื่นต้องเชื่อ เพราะทุกคนมีหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสายตรง ถึง พ.ต.ท.ทักษิณหมด เมื่อมีคนโทรฯหา พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะออดอ้อนว่า ช่วยผมหน่อย... ซึ่งทุกคนก็เสนอว่าจะทำอันโน้น อันนี้ให้ เมื่อเป็นของฟรี พ.ต.ท. ทักษิณก็ไม่ขัดเพราะตนเองก็เคยเจอมาแล้ว

* วิรัชเตือนล่าชื่อหมิ่นเหม่

นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายจตุพรและกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จะรวบรวมรายชื่อตามบทบัญญัติยื่นถอดถอนผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ว่า แม้จะเป็นการใช้สิทธิตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ แต่การจะถอดถอนก็ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาที่ชัดเจนตามหลักเกณฑ์ ไม่ใช่เพียงแค่การคัดลอกคำหรือข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญมากล่าวอ้าง แต่จะต้องมีกล่าวหาชัดเจนว่าการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาองค์คณะนั้นผิดอย่างไร มีหลักฐานอะไร ลำพังแค่การลงชื่อครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้ถอดถอนได้ถ้าไม่มีข้อกล่าวหาชี้ให้เห็นพฤติการณ์กระทำผิดที่ชัดเจน

นายวิรัช ยังกล่าวอีกว่า อยากเตือนถึงผู้จะลงชื่อว่า ต้องดูให้ดีก่อนว่ามีข้อกล่าวหาชัดเจนที่จะยื่นถอดถอนหรือไม่ เพราะหากลงชื่อแล้วถ้ากระบวนการตรวจสอบพบว่าผู้พิพากษาไม่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาแล้วจะอ้างว่าตอนลงชื่อไม่รู้ไม่ได้ ซึ่งการใช้สิทธิใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญก็ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย โดยตนในฐานะที่เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการหากมีการลงชื่อถอดถอนและสุดท้ายพบว่าไม่มีการกระทำตามที่กล่าวหา.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook