หลายแนวคิดสร้างสุขภาวะสตรี

หลายแนวคิดสร้างสุขภาวะสตรี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในโอกาสครบรอบการระลึกถึงวันสตรีสากล และแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสตรี ปักกิ่ง มีวาระครบ 15 ปี ซึ่งแผนดังกล่าวให้ความสำคัญกับประเด็นผู้หญิงกับสื่อมวลชน 1 ใน 12 ประเด็นห่วงใย ซึ่ง โครงการสุขภาวะผู้หญิง ร่วมกับ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชน จัดเสวนาเรื่อง สื่อ จะสร้างเสริมสุขภาวะผู้หญิงได้อย่างไร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงาน หาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างฐานคติอันเหมาะสม สู่ความเสมอภาคทางเพศในสังคม โดยมีนักวิชาการ, คนทำงานด้านผู้หญิง และสื่อมวลชนร่วมเสวนา เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผช.ศ.สุชาดา ทวีสิทธิ์ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ในฐานะผู้ประสานการสร้างแผน โครงการสุขภาวะผู้หญิง กล่าวว่า สุขภาวะผู้หญิงหมายถึง ภาวะของการมีความสุขหรือการกินดีอยู่ดี 4 มิติ ประกอบด้วย กาย, จิตใจ, สังคม และจิตวิญญาณ (ปัญญา) ดังนั้น แนวคิดในการกำกับทิศทางของการทำงานจึงมีเนื้อหาครอบคลุม ทั้งเรื่องสุขภาพและผู้หญิงกับมิติความเสมอภาคและความเป็นธรรม เพื่อนำผู้หญิงไปสู่ความมั่นคงและการมีชีวิตที่ดีในทุกมิติ

การพัฒนาผู้หญิงในบ้านเราก้าวย่างเชื่องช้า เพราะมีอุปสรรคด้านวิธีคิด คือ ระบบชาย เป็นใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหารากเหง้าที่ต้องตีให้แตก ปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิผล ปิทธิภาพ วันนี้มีความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายเพื่อลดช่องว่างการละเมิดสิทธิเด็กและสตรีได้แล้ว แต่การเปลี่ยนวิธีคิดยังปรับเปลี่ยนได้ยาก จึงต้องทบทวนถึงรากเหง้าของปัญหา ปรับกลยุทธ์วิธีคิดใหม่ โดยเริ่มจากตัวเองว่าคุ้นเคยหรือเผลอไผล ผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นหรือไม่ ก่อนขยายการปรับเปลี่ยนออกสู่สังคม

ด้านประธานมูลนิธิผู้หญิง นางศิริพร สะโครบาเน็ค กล่าวว่า สื่อในปัจจุบันยังวนเวียนนำเสนอภาพลักษณ์เดิม ๆ ของผู้หญิง ทางโทรทัศน์บทตัวร้ายยังเป็นคนอันตราย มีแต่ความอิจฉาริษยา การโฆษณาสร้างค่านิยมว่า ผู้หญิงสวยต้องขาวและผอมเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงที่ไม่อยู่ในภาพลักษณ์เหล่านั้น พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้สังคมยอมรับ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนยังส่งผลต่อสุขภาวะผู้หญิงให้ตกต่ำลง เช่น ข่าวการถูกล่อลวงไปทำงานต่างประเทศ มักเสนอผลของการกระทำ มากกว่านำเสนอทางแก้ปัญหา ในประเทศแคนาดารัฐธรรมนูญกำหนดสื่อมีเสรีภาพในการแสดงออก ขณะเดียวกันสามารถแทรกแซงได้เมื่อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งหลายประเทศเดินตามแนวคิดนี้ เป็นการเสริมสร้างสุขภาวะผู้หญิง ไม่ผลักภาระให้ผู้หญิงมีภาพลักษณ์ตกต่ำ

นางสนิทสุดา เอกชัย ผช.บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนการนำ เสนอภาพและข่าวต้องทำกับทุกภาคส่วนที่เป็นสื่อ ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์หลายคนมุ่งเข้ามาให้เปลี่ยนเป็นอันดับแรกเพราะทำได้ง่าย แต่ไม่ได้เจาะกับสื่อที่เป็นปัญหา ปัจจัยภายนอกสามารถช่วยปรับเปลี่ยนการนำเสนอข่าวได้ บางสื่อนำเสนอภาพไม่เหมาะสม อาทิ ภาพเปลือยศพ แต่เมื่อโดนแรงบีบจากประชาชนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีการนำเสนอน้อยลง ดังนั้นต้องทำให้ซึมเข้าไปเรื่อย ๆ จากประสบการณ์ 20 ปีที่ผ่านมา เห็นว่ามีผลการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น เมื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนส่งผลต่อสื่ออื่นด้วย แล้วนำเป็นต้นแบบไปเสนอกับสื่ออื่น และต้องเจาะให้ชัดว่าจะมุ่งไปที่ตรงไหนก่อน

ด้าน นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ควรมีการจัดตั้ง ศูนย์มอนิเตอร์สื่อ ช่วยตรวจสอบการนำเสนอข่าวทั้งเชิงลบและเชิงบวกควบคู่กันไป หรือผู้ที่พบเห็นการนำเสนอภาพและข่าวของผู้ถูกละเมิด โดยเฉพาะเด็กและสตรี คนด้อยโอกาสที่ไม่เหมาะสม สามารถทำหนังสือถึงสมาคมนักข่าวฯ ภายหลังตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่เหมาะสมจริง ทางสมาคมฯ จะได้ทำหนังสือเตือนสมาชิกต่อไป และควรมีการให้รางวัลกับสื่อที่มีการนำเสนอทั้งมิติหญิงชาย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook