สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสปลาบปลื้มผลสำเร็จโครงการพหุสัมพันธ์ระหว่างไก่กับคน

สมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสปลาบปลื้มผลสำเร็จโครงการพหุสัมพันธ์ระหว่างไก่กับคน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสปลาบปลื้มผลสำเร็จโครงการพหุสัมพันธ์ระหว่างไก่กับคน ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ด้าน สวทช.พร้อมสานต่องานวิจัยพัฒนาพันธุ์ไก่สนองพระราชดำริ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ "พหุสัมพันธ์ระหว่างไก่กับคน ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ในการนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัส ใจความว่า โครงการพหุสัมพันธ์ระหว่างไก่กับคน ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 โดย เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสองค์ที่สองในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ได้ประสานให้สนับสนุนโครงการนี้ และขณะนี้ได้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม คือ การตีพิมพ์เป็นผลงานเป็นหนังสือวิชาการ 25 เรื่อง โดยเฉพาะผลงานที่สำคัญที่สุดเป็นงานเขียนของเจ้าชายอากิชิโน เกี่ยวกับสายพันธ์ไก่ และโครงการนี้มี 2 สิ่งที่ควรได้รับการยกย่องคือ ความร่วมมือระดับนานาชาติและความหลากหลายทางวิชาการ ระหว่างนักวิจัยไทยและญี่ปุ่น ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและมนุษยชาติ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะยังคงได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือด้านงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โครงการพหุสัมพันธ์ระหว่างไก่กับคน ได้ศึกษาวิจัยใน 4 ด้าน ได้แก่ มนุษยศาสตร์ ชีววิทยา และนิเวศวิทยา เศรษฐศาสตร์ และภูมิสารสนเทศ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมศึกษาวิจัยรูปพรรณสัณฐาน ดีเอ็นเอ และการกระจายของไก่ว่าสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงอย่างไรในพื้นที่ของ จังหวัดเชียงราย เนื่องจากมีความเชื่อทางวิชาการ ว่า ไก่ป่า มีถิ่นกำเนิดตรงรอยต่อระหว่างประเทศจีนกับลาวและไทย โดยพบว่าแต่เดิมไก่พื้นบ้านเป็นไก่ป่ามาก่อน เนื่องจากชาวนารู้จักการเลี้ยงไก่หลังจากมากินข้าวในนา ซึ่งนอกจากเลี้ยงเพื่อการบริโภคอย่างเดียว ยังใช้ในพิธีกรรม ความเชื่อเรื่องโชคลาง โดยดูลักษณะของกระดูกไก่ก่อนออกเดินทาง รวมทั้งเลี้ยงเพื่อการแข่งขันทางกีฬาและรักษาพันธุ์ให้แข็งแรง ทั้งนี้ จากผลสำเร็จในการศึกษาครั้งนี้ได้คัดเลือกผลงานเด่นตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือที่สนับสนุนโดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ตีพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม แจกให้กับนักวิจัยทั้ง 2 ประเทศ เพื่อประโยชน์ในการต่อยอดศึกษาวิจัยต่อไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงรับสั่งว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่ เพื่อให้คุณค่าทางโปรตีนมากที่สุด รวมทั้งเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีเพราะจะสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook