“จิตตุงแป่ง” คืออะไร? ทำไมถึงเป็นไวรัล

“จิตตุงแป่ง” คืออะไร? ทำไมถึงเป็นไวรัล

“จิตตุงแป่ง” คืออะไร? ทำไมถึงเป็นไวรัล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้ไม่ว่าจะไถหน้าฟีดไปทางไหนก็เจอแต่คำว่า “จิตตุงแป่ง จิตตุงแป่ง จิตตุงแป่ง” เต็มไปหมด ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าที่ “จิตตุงแป่ง” กันทุกวันนี้คืออะไร วันนี้ Sanook เลยพาทุกคนมาดูที่มาและความหมายของคำไวรัลอย่าง “จิตตุงแป่ง” กัน 

“จิตตุงแป่ง” คืออะไร?

สำหรับคำว่า “จิตตุงแป่ง” เป็นคำผวนมาจากรากศัพท์คำว่า “จิตปรุงแต่ง” โดยในภาษาไทยมีความหมายว่า การที่เราสร้างจินตนาการหรือเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา โดยมีความรู้สึกรัก โกรธ หลง กลัว เข้าไปด้วย

ตัวอย่างประโยคที่ใช้ เช่น การที่เขาเห็นผี นั้นเป็นจิตปรุงแต่งขึ้น มันไม่มีจริงสักหน่อย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามบริบทที่ใช้ในโซเชียลที่เราเห็น ๆ กันอยู่เนี่ย คำว่า “จิตตุงแป่ง” ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดที่กล่าวมา แต่จะเอามาใช้พูดเล่น ๆ เชิงขำขันมากกว่า 

ที่มาของ “จิตตุงแป่ง”

สำหรับที่มาของ “จิตตุงแป่ง” ยังไม่ทราบว่าเริ่มมาจากไหน แต่คาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นจากการที่ในแพลตฟอร์ม X มีการพูดถึงประเด็นคนไทยชอบผวนคำโดยไม่รู้ตัว และมีผู้คนเขามาเห็นด้วยจำนวนมาก และเข้ามาโควทแชร์ประสบการณ์การเผลอผวนคำในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

ทำให้เกิดการผวนขำแบบฮา ๆ เต็มไปหมด โดยนอกจากคำว่า จิตตุงแป่ง แล้วเนี่ย ก็ยังมีคำอื่น ๆ ที่ถูกนำมาเล่น เช่น เขียดผู้มีแกก (แขกผู้มีเกียรติ), ชายเหมี่ยง (เชียงใหม่),พับกบ (พบกับ)

คำผวน คืออะไร?

ราชบัณฑิตยสภา ได้ให้ความหมายคำผวน ว่าคือ การสลับคำหรือสลับตำแหน่งของเสียงพยัญชนะ เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ของคำตั้งแต่สองพยางค์ขึ้นไป เพื่อให้เกิดคำใหม่ที่อาจจะมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้

เช่น เชี่ยงใหม่ – ชายเหมี่ยง เป็นการสลับสระตัวหลักให้ไปควบกับตัวหน้า

เทรนด์การคำผวนที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน

จริง ๆ แล้วหากเราสังเกตดี ๆ จะพบว่า การผวนคำนั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทย แต่มีมานานแล้ว โดยอาจมาในรูปแบบของมุกเสี่ยว (เบลอว่ารักแทบ, เธอคือไข้ที่ชน) หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมสมัยก่อนก็มี ตัวอย่าง เช่น วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้  “สรรพลี้หวน” ที่เขียนในปี 2561 ก็มีการใช้คำผวน ซึ่งมีเนื้อหาสองแง่สองง่าม เน้นการพูดถึงเรื่องเพศเป็นหลัก โดยเอกลักษณ์ของวรรณกรรมเล่มนี้ คือ การแปลงคำในหนังสือให้เป็น “คำผวน” ซึ่งหากลองแปลเนื้อความจริงๆ ตัวเนื้อเรื่องค่อนข้างลามกมาก แต่เมื่อนำมาทำเป็นคำผวนก็ทำให้ทุกอย่างดูตลกขบขัน สร้างเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างมาก เห็นได้จากชื่อตัวละครที่เป็นคำผวน เช่น ท้าวโคตวย, เจ้าคีแหม, นางไหหยี, ฤษีแหบ เป็นต้น

เป็นอย่างไรกันบ้างกับสารพัดคำผวน หวังว่าบทความนี้จะทำให้คลายความสงสัยเกี่ยวกับ จิตตุงแป่ง และสนุกกับการผวนนะคะ  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook