ความรุนแรงในเด็ก ต้นตอปัญหาจากการขาดความใส่ใจ

ความรุนแรงในเด็ก ต้นตอปัญหาจากการขาดความใส่ใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กรณีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก่อเหตุเผาหอสมุดโรงเรียนจนวอดทั้งหลัง เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลเพราะไม่อยากไปโรงเรียนถ้าเผาแล้วโรงเรียนจะต้องปิดซ่อม!!!... กรณีดังกล่าวถือเป็น 1 ตัวอย่างทางสังคมที่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่มีเด็กไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในเชิงพฤติกรรม และส่งผลต่อปัญหาทางสังคมตามมา ที่น่าสนใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ต้นตอความรุนแรงในเด็กและเยาวชนมาจากสิ่งใด?? รวมถึงภายหลังจากเหตุดังกล่าว เด็กคนนี้จะมีการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร?? ซึ่งพบว่าปัญหาทางสังคมไทยในสองประเด็นดังกล่าวยังถือเป็นปัญหาที่ไม่มีการแก้ไข ที่แยกเป็นสองปัจจัยปัญหาสำคัญในเด็ก ดังนี้ ปัญหาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของความรุนแรง พ.ต.อ.สุรศักดิ์ เลาหพิบูลย์กุล รองหัวหน้านักวิจัยทีมภาค กรุงเทพฯ ปริมณฑล กล่าวว่า จากการวิจัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในปี 2551-2552 พบว่า เด็กและเยาวชนยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง (High Risk) ในด้านต่างๆ คือ 1) ด้านสุขภาพจิต ที่พบว่า เด็กมีอาการเครียดจนนอนไม่หลับหรือปวดท้องร้อยละ 25-44 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภาคในปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนเด็กที่พยายามฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจาก 13 คนต่อประชากรแสนคนเป็น 17 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งในประเทศไทย 3 ใน 10 ของคนไทยที่ฆ่าตัวตาย คือ เด็ก 2) ปัญหาการทุจริตคดโกงของประเทศ เด็กคิดว่าผู้ใหญ่ทุจริตคดโกงมากขึ้น โดยเด็กระดับมัธยมต้น-อุดมศึกษา คิดว่า ประเทศมีการทุจริตคดโกงในระดับมากอยู่ในช่วงร้อยละ 83-94 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 55-71 เพราะที่ผ่านมามีการชุมนุมทางการเมือง มีการตัดสินคดีทุจริตมาก แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือ การที่ผู้ใหญ่ไม่แก้เรื่องนี้ และเห็นเรื่องการทุจริตคดโกงเป็นเรื่องปกติ เด็กก็จะเห็นเป็นเรื่องปกติ 3) พฤติกรรมการเล่นเกม เด็กและเยาวชนเล่นเกมสูงขึ้นจากร้อยละ 28-37 เป็นร้อยละ 28-40 4) พฤติกรรมทางเพศ เด็กและเยาวชนยอมรับการอยู่ก่อนแต่งเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 32-64 เป็นร้อยละ 35-61 5) การเข้าสถานพินิจฯ เด็กและเยาวชนเข้าสถานพินิจฯ เพิ่มขึ้นเป็น 272 คนต่อประชากรแสนคน จากเดิมเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 232 คนต่อประชากรแสนคน 6.การดื่มเหล้า เด็กมัธยมศึกษาตอนต้น-อุดมศึกษา ดื่มเหล้าเป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 14-48 เป็นร้อยละ 21-51 และ 7.ปัญหายาเสพติด เด็กระดับประถมศึกษา-อุดมศึษา พบเห็นการเสพยาเสพติดในสถานศึกษาสูงขึ้นจากร้อยละ 5-23 เป็นร้อยละ 11-38 ปัญหาการผลักเด็กออกจากสังคม ที่น่าสนใจคือ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงดังข้างต้นเกิดขึ้น สิ่งที่เกิดตามมาคือ เด็กเหล่านี้ถูกผลักออกจากสังคม ไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้ต้องใช้ชีวิตแบบเสี่ยงและยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ในที่สุด ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยถึงงานวิจัยของ Child Watch และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในเรื่อง "นักเรียนที่ถูกผลักออกจากระบบโรงเรียน ที่พบว่า ในปัจจุบันมีเด็กไทยที่อยู่ในระบบโรงเรียนรวมจำนวน 12 ล้านคน และมีเด็กที่อยู่นอกระบบโรงเรียน จำนวน 2-3 ล้านคน และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การที่มีเด็กอยู่นอกระบบโรงเรียนนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากระบบโรงเรียนยึดติดกับค่านิยมว่า จะต้องเป็นโรงเรียนดี เด่น ดัง ยึดความเป็นเลิศทางมาตรฐานการศึกษา ตลอดจนมีหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพโรงเรียนที่มีตัวบ่งชี้เป็นลบ เช่น เด็กมีปัญหาท้องในวัยเรียน มีปัญหาพฤติกรรม ก็จะไม่ได้รับการเอาใจใส่จากครู และจะถูกผลักออกจากระบบโรงเรียนในที่สุด เพื่อให้โรงเรียนของตัวเองมีแต่นักเรียนที่เรียนดี และมีพฤติกรรมดี เพื่อให้มาตรฐานของโรงเรียนดีขึ้น ทั้งนี้ ในจำนวนเด็ก 2-3 ล้านคนที่อยู่นอกระบบโรงเรียนนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่ถูกผลักออกจากระบบโรงเรียน เนื่องจากต้องคดี โดยข้อมูลจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในสถานพินิจฯ จำนวนกว่า 50,000 คน เนื่องจากก่อคดีอาชญากรรมและค้ายา และมีอีก 2-3 แสนคน ที่ก่อคดีเล็กๆ น้อยๆ อยู่ในชุมชน นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า ในงานวิจัย Child Watch พบว่า เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 14-21 ปี จำนวนถึง 30,000 คน ไม่นอน แต่ออกไปใช้ชีวิตกลางคืนตามผับ บาร์ ร้านเกม โต๊ะสนุกเกอร์ ตั้งแต่พลบค่ำและกลับมานอนในตอน 8 โมงเช้า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อคดีค้าและเสพยาเสพติด และอาจถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเด็กเหล่านี้จะค่อยๆ ถูกทำลาย ถ้ายังไม่ได้รับโอกาสให้กลับเข้าไปสู่สถานศึกษา ส่วนข้อมูลของ UNESCO พบว่า มีกลุ่มแรงงานเด็กข้ามชาติตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะไม่ได้รับสิทธิให้เข้าศึกษาในโรงเรียนมีจำนวนถึง 980,000 คน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ และก่อคดี ก่อปัญหาให้สังคม และยังมีกลุ่มล่องลอยในชุมชน ซึ่งไม่มีงานทำ และเริ่มเข้าสู่วงจรกระทำผิด นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเด็กที่ย้ายตามพ่อแม่ ซึ่งเป็นแรงงานข้ามถิ่นประกอบอาชีพกรรมกรก่อสร้างในจังหวัดใหญ่ๆ ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แนวทางการแก้ไข อ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะว่า ทางออกสำคัญของปัญหาคือ กระทรวงศึกษาธิการควรจะปรับเกณฑ์การประเมินโรงเรียน ตลอดจนพิจารณาให้ความดีความชอบกับโรงเรียนและครูที่สามารถแก้ปัญหาเด็กที่มีปัญหาทั้งเรื่องการเรียน และพฤติกรรม แทนที่จะผลักเด็กออกจากระบบโรงเรียน ให้ความสำคัญกับนโยบายครูออกเยี่ยมเด็กถึงบ้าน มีการสำรวจเด็กที่ตกหล่นที่ชัดเจน และมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญแนวทางการแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กควรให้เชื่อมโยงกับการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหารโรงเรียน ถ้าสามารถทำได้ ก็จะสกัดเด็กที่จะทะลักออกนอกระบบโรงเรียนลงได้ นอกจากนี้ ครอบครัวต้องให้เวลาแก่บุตรหลานอย่างพอเพียง ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวอย่างแก่เด็ก สร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจให้แก่เด็ก ด้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องเข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงต่อเด็กให้มากขึ้นและเพิ่มปัจจัยสร้าง และรัฐต้องสนับสนุนการจัดสรรงบแก่ อปท.ขนาดเล็ก เพื่อให้ดูแลการศึกษาที่ตอบสนองท้องถิ่นได้เอง และจัดระบบการวัดผลสัมฤทธิ์การศึกษาที่มีข้อโต้เถียงน้อยลง ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่เสี่ยงโดยเคร่งครัด คำตอบที่สำคัญสำหรับการแก้ปัญหาในเด็กและเยาวชน จึงไม่ใช่เพียงการแยกเด็กที่มีปัญหาออกมาวิเคราะห์วิจัยเพื่อแก้ไข แต่ต้องร่วมกันในการให้กำลังใจและพลิกฟื้นเด็กและเยาวชนให้สามารถยืนอยู่ได้ในสังคมโดยไม่แปลกแยก และได้รับการยอมรับ ด้วยการใส่ใจจากทุกฝ่าย!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook