สรุปข่าวภาค 07.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน 2553

สรุปข่าวภาค 07.00 น. วันที่ 26 มิถุนายน 2553

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รัฐบาลเดินหน้ายุทธศาสตร์ 5 รั้ว เพื่อผลักดันการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ขณะที่กรมสุขภาพจิตระบุ เยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี อยู่ในกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด โดยการบังคับใช้กฎหมายและมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันการระบาดของยาเสพติด ประกอบด้วยการลดพื้นที่เป้าหมายในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง การลดการแพร่ระบาด การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการสร้างกลไกการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ยอมรับว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถิติจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องมีมาตรการที่เท่าทัน ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า มหกรรมรวมพลทูบีนัมเบอร์วันจัดขึ้นเป็นปีที่ 8 ในปีนี้ นำเสนอศักยภาพของสมาชิกด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการดึงเยาวชนออกจากยาเสพติด และร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์ทั้งแก่ตนเองและสังคม นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า เด็กที่อยู่ในโครงการมีความภูมิใจ มีความหมายต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม จึงเชื่อว่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มยาเสพติดในกลุ่มเยาวชนขณะนี้ยังคงน่าเป็นห่วงและกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากคือ เยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอยากลอง ปัจจัยแวดล้อม ครอบครัว เพื่อนและสังคม ขณะเดียวกันนางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิถุนายน ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 37.5 เห็นว่ายังมีปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้านเพิ่มขึ้น และกรุงเทพมหานครมีปัญหาด้านยาเสพติดมากที่สุด ซึ่งคนกรุงเทพฯ เห็นว่าเป็นปัญหาด้านผู้ค้า รองลงมาคือภาคใต้ ผลสำรวจยังพบปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในโรงเรียน/สถานศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะโรงเรียน/สถานศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ เนื่องจากหาซื้อยาเสพติดง่ายขึ้น และสังคมให้โอกาสกับผู้เลิกยาเสพติดน้อยลง ถึงแม้ภาพรวมของการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทำให้ชุมชน/หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้รัฐบาลปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างเด็ดขาด พร้อมฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด รวมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเลยการปฏิบัติงาน นายกรัฐมนตรี ยืนยัน ร่างแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ บทบาทของภาคเอกชนกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนแผนปรองดองแห่งชาติ ระหว่างการประชุมใหญ่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ 5 ภาค โดยระบุว่า แผนการปรองดองไม่ใช่การเจรจาระหว่างกลุ่มหรือระหว่างสี แต่เป็นการสร้างความปรองดองที่ต้องแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ส่วนแผนปฏิรูปประเทศที่มีการทาบทามนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายแพทย์ประเวศ วะสี ทั้งสองได้ตอบรับแล้ว โดยกลไกต้องออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนี้ได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า ทั้งนี้อยากให้เห็นผลภายในสิ้นปี ขณะที่โครงสร้างต้องใช้เวลานานกว่าอายุของรัฐบาลชุดนี้ แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี หากทุกภาคส่วนในสังคมร่วมมือกันจะเห็นความก้าวหน้าและเกิดเป็นรูปธรรม รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงหนักใจกับสถานการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และเตรียมประมวลสถานการณ์เพื่อพิจารณาว่าจะต้องประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกหรือไม่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง ยอมรับว่าหนักใจเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยืนยันว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ เพราะมีหน้าที่รักษาความสงบของบ้านเมือง และจากการติดตามสถานการณ์โดยตลอดเห็นว่า ขบวนการของผู้คิดร้ายต่อบ้านเมืองยังคงมีอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการลงทุน รัฐบาลจึงต้องคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้โดยเร็ว ส่วนความเป็นไปได้ที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินขึ้นอยู่กับสถานการณ์ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวภายหลังการประชุม ศอฉ.เกี่ยวกับการพิจารณาต่อ หรือยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ยังไม่มีข้อสรุป ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ มีความคิดเห็นหลากหลาย และหลังจากนี้ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะเลขาธิการ ศอฉ.จะรวบรวมข้อมูล นำเสนอให้ที่ประชุม ศอฉ.พิจารณาต่อไป ทางด้านพลตำรวจตรีสุเมธ เรืองสุวรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเชื่อว่าเหตุระเบิดที่พรรคภูมิใจไทย คนร้ายไม่ได้มุ่งหวังเอาชีวิตบุคคลใด แต่ต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 2 คนยอมรับสารภาพว่า ก่อเหตุขึ้นเพราะไม่พอใจรัฐบาลที่สั่งกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ส่วนจะเชื่อมโยงกับการเมืองหรือไม่ คงต้องตรวจสอบประวัติอีกครั้ง สำหรับการเลือกตั้งซ่อม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 6 กรุงเทพมหานคร กำหนดเปิดรับสมัครในวันที่ 28 มิถุนายน - 2 กรกฎาคมนี้ ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหม่ประกาศถอนตัวแล้ว นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.ที่ถูกควบคุมตัวจะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 6 กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคเพื่อไทย สามารถทำได้ แต่การถูกควบคุมตัวไม่ใช่การตัดสิทธิ์ของผู้สมัคร นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ในวันรับสมัครเลือกตั้ง ศาลอาญาสั่งให้กรมราชทัณฑ์นำตัวนายก่อแก้ว ฯ เดินทางไปสมัครได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้คุม 5 คนและไม่ต้องใส่ชุดผู้ต้องขัง ทางด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ เปิดเผยว่า พรรคการเมืองใหม่มีมติไม่ส่ง พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กรรมการบริหารพรรค ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มสนับสนุนไม่ต้องการให้แข่งขันกับผู้ก่อการร้าย ส่วนผลการวิจัยกรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ พบว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่ ติดตามรายละเอียดจาก ลีลีญา อุปพงศ์ ค่ะ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จัดอภิปรายพร้อมเปิดเผยผลการวิจัยเรื่องมาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุงกระบวนการใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีหน่วยงานยุติธรรมเข้าร่วมรับฟัง โดยพันตำรวจโท ดร.เกษมศานต์ โชติชาครพันธ์ รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงผลการวิจัยจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงระดับผู้บังคับการ พบว่าการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจประกอบด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น การเลือกปฏิบัติในชั้นการจับกุม การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การเรียกรับสินบนจากผู้กระทำความผิด อาทิ บ่อนการพนัน หวยใต้ดิน สถานบริการที่จำหน่ายอาหารและสุรา ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยแสวงหาผลประโยชน์จากผู้กระทำความผิด ส่วนปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบ ประกอบด้วยปัจจัยแวดล้อมภายนอก หรือปัจจัยทางสังคมคือผู้กระทำความผิดเสนอเงินแลกกับการไม่ถูกจับกุม นอกจากนี้ ยังพบว่าปัจจัยทางการเมืองมีผลต่อพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยผ่านนโยบายการเมืองที่กดดันการปฏิบัติหน้าที่ การครอบงำที่ต้องการมีอิทธิพลเหนือตำรวจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ และปัจจัยด้านกฎหมายที่ควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งปัจจัยด้านโครงสร้างและการบริหารงานในองค์กร เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเร่งแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ กำหนดหน้าที่ให้ชัดเจน สนับสนุนให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ของตำรวจ รวมถึงปรับอัตราเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการให้กับข้าราชการตำรวจให้มีความเหมาะสม นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ในประเด็นการทำผิดหลักจริยธรรม คุณธรรม ขณะเดียวกันก็ได้รับการร้องทุกข์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะต้องจ่ายเงินให้กับผู้บังคับบัญชาเพื่อแลกกับการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งนายวิชาฯ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก หากตำรวจไม่ปฏิรูปตัวเอง รวมถึงต้องปลอดล็อกจากนักการเมือง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ปรับปรุงองค์กรให้ทันสมัยเป็นมืออาชีพ รองรับพระราชบัญญัติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ เน้นนโยบาย 5 ประการ คือ การเป็นมืออาชีพ มีความเชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการความเสี่ยงทั้งด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และสื่อเสรี การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะบุคลากร การพัฒนาองค์กรต้องมีความคล่องตัวสูง และจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการทำงาน เพื่อป้องกันสมองไหล และต้องยึดหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการปรองดองแห่งชาติและการปฏิรูปประเทศไทย ในฐานะที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นองค์กรหลักด้านสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐ ขอให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์บ้านเมือง และพัฒนาองค์กรให้ทันยุคทันสมัยโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย นอกจากนี้ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงด้านกฎหมายให้ดี เพื่อรองรับพระราชบัญญัติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพราะในอนาคตคลื่นความถี่จะเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะสื่อดิจิตอล เช่น เฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ มูลนิธิเมาไม่ขับผลักดันจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดเมาไม่ขับต้นแบบของประเทศไทย เพื่อรณรงค์การขับขี่และลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับ ส่วน 75 จังหวัดที่เหลือจะเริ่มโครงการได้ภายใน 2 ปี นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินโครงการจังหวัดต้นแบบ ในการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนเมาแล้วขับ โดยใช้ชื่อว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมาไม่ขับ เนื่องจากเป็นจังหวัดมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากกว่า 200 ราย/ปี ที่ผ่านมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พยายามทำทุกวิถีทางในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ทั้งการดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด และขอให้ศาลลงโทษขั้นสูงสุดกับผู้ที่กระทำผิด พ.ร.บ.จราจร ทางด้านนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การผลักดันให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดต้นแบบในการรณรงค์เมาไม่ขับรถทุกชนิด จะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันของหลายภาคส่วน อาทิ ตำรวจ อัยการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ในการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ขับขี่ยานพาหนะขณะเมาสุรา ซึ่งจะเริ่มโครงการในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ถึงเดือน มิถุนายน 2554 ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะรณรงค์ลดการเสียชีวิตจากอุบัติให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 และหากประสบผลสำเร็จ มูลนิธิเมาไม่ขับจะนำโครงการรณรงค์เมาไม่ขับของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปใช้กับอีก 75 จังหวัดฯ ต่อไป รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีความพร้อมเป็นประตูการค้าเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียน ขณะที่หอการค้าไทยพร้อมสนับสนุนให้อาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี 2558 วันนี้ ( 26 มิถุนายน ) หน่วยแพทย์เคลื่อนที่แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ พอ.สว. จะออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ จังหวัดพัทลุง ที่หมู่ 3 บ้านทุ่งชุมพล ตำบลลานข่อย อำเภอป่าพะยอม จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไปรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook